ยอดการขอลงทุนสูงสุดในรอบ 10 ปี กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นอันดับ 1
BOI เปิดรายงานยอดการขอลงทุนสูงสุดในรอบ 10 ปี กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์นำมาเป็นอันดับ 1
รายงานจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ว่า มีนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศให้ความสนใจลงทุนเป็นจำนวนมากและได้กำชับให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสนับสนุนการลงทุนในประเทศไทยเร่งดำเนินนโยบายและแนวทางอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพและเพิ่มปริมาณการเข้าลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น
บีโอไอ ได้รายงานว่ามีตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 พบว่าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการ และเงินลงทุน โดยมีจำนวนมากถึง 2,195 โครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนมูลค่าเงินลงทุนมีมากถึง 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 42 ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีประมาณ 5 แสนล้าน โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ปัจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนในภูมิภาคนี้ และการขอรับการลงทุนครั้งนี้ ถือเป็นยอดลงทุนที่สูงสุดในรอบ 10 ปี
กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรกโดยกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามาเป็นอันดับ 1 มีมูลค่า กว่า 1.8 แสน กลุ่มดิจิทัล มูลค่า 9 หมื่นกว่าล้านบาท อันดับ 3 เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน มีมูลค่าประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาท กลุ่มเกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 5.2หมื่นล้านบาท และ อันดับ5 เป็น กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มีมูลค่าประมาณ3.4ล้านบาท
สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ล่าสุด มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม 1,449 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 66 เงินลงทุนรวมกว่า 5.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 โดยประเทศที่มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรกคือ
- สิงคโปร์ ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท
- จีน 1.1 แสนล้านบาท
- ฮ่องกง 6.8หมื่นล้านบาท
- ไต้หวัน 4.4หมื่นล้านบาท
- ญี่ปุ่น 3.5 หมื่นล้านบาท
เงินลงทุนสูงสุดอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก อาทิ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา 4.08 แสนล้านบาท, ภาคกลาง 2.2 แสนล้านบาท, ภาคเหนือ 3.5 หมื่นล้านบาท, ภาคใต้ 2.5 หมื่นล้านบาท, ภาคอีสาน 2.3 หมื่นล้านบาท และภาคตะวันตก 8.8พันล้านบาท
ส่วนการขอรับการส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยสนับสนุน “ผู้ประกอบการรายเดิมให้สามารถปรับตัว” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้นั้น มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 287 โครงการ เงินลงทุนรวม 2.7หมื่นล้านบาท รวมทั้งการออกบัตรส่งเสริมในช่วง 9 เดือนแรกของปี มีจำนวน 2,072 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 59 เงินลงทุน 6.72 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า100% (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) ทั้งนี้ การออกบัตรส่งเสริมเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด โดยปกติบริษัทต่าง ๆ จะเริ่มทยอยลงทุนภายใน 1 - 3 ปี หลังจากออกบัตรส่งเสริม
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตัวเลขการลงทุน สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและโครงสร้างพื้นฐานที่ดีของประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
รัฐบาลพร้อมสนับสนุนเดินหน้าเร่งพัฒนาระบบนิเวศและปัจจัยที่จะส่งผลต่อการลงทุน เพื่อรองรับกับสถานการณ์การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตโลก ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว
ภาพจาก: AFP
ข่าวแนะนำ