TNN ดอกเบี้ยไทยลดแล้วยังไม่พอลุ้นปรับลงอีกปีนี้

TNN

เศรษฐกิจ

ดอกเบี้ยไทยลดแล้วยังไม่พอลุ้นปรับลงอีกปีนี้

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบหลายปี น่าจะช่วยผ่อนคลายปัญหาหนี้ ค่าเงิน และเศรษฐกิจไทยได้บ้าง และหลังการปรับลดครั้งนี้แล้วยังเสียงเรียกร้องขอให้ลดเพิ่มอีก

อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กำหนดโดยธนาคารกลาง เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สำคัญที่สุดที่จะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจ
อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นอัตราที่ธนาคารกลางจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เอาเงินมาฝาก หรือเป็นอัตราที่ธนาคารกลางเก็บดอกเบี้ยจากธนาคารพาณิชย์ที่มากู้เงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลกับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์คิดกับลูกค้าที่เป็นผู้กู้หรือผู้ฝากเงินต่อไป ดังนั้นดอกเบี้ยนโยบายจึงมีความสำคัญทั้งกับผู้กู้ ผู้ฝาก และสำคัญกับระบบเศรษฐกิจ มีผลต่อเนื่องไปยังตลาดหุ้น และค่าเงินบาท ก่อนหน้านี้จะได้ยินเสียงเรียกร้องทั้งจากคนในฝั่งรัฐบาล และในภาคเอกชน อยากให้ลดดอกเบี้ยลดมาจนล่าสุดปรับลดลงครั้งแรกในรอบหลายปี

พาไปดูอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ว่ามีการปรับขึ้นลง มากหน้อยแค่ไหน 

เมื่อปี 2557 อัตราดอกเบี้นนโยบายอยู่ที่ ร้อยละ 2.25

ปี 2560 ปรับลดมาอยู่ที่ ร้อยละ 1.50

ปี 2563 ในช่วงที่เกิดโควิดมีการปรับลดดอกเบี้ยมาต่ำสุดที่ร้อยละ  0.50

ปี 2565 ช่วงโควิดเริ่มคลี่คลายดอกเบี้ยปรับขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 1.25

ปี 2566 ดอกเบี้ยปรับขึ้นสูงสุดคือร้อยละ 2.50 และคงอัตรานี้ไว้นานเป็นปี

ปี 2567 เมื่อวันที่ 16 ต.ค. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 2.25 ซึ่งถือเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี 

 เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)  สักกะภพ พันธ์ยานุกูล แถลงภายหลังการประชุมกนง.ว่า มติปรับลดดอกเบี้ย ของกนง. ในครั้งนี้ไม่ได้มาจากแรงกดดันทางการเมือง การพิจารณาลดดอกเบี้ยของกนง.มาจากข้อมูล ซึ่งให้น้ำหนักใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.การเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.อัตราเงินเฟ้อ และ 3.หนี้ครัวเรือน 

ในเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจขณะนี้ยังเป็นไปตามที่กนง.คาดการณ์ไว้  ส่วนเงินเฟ้อก็ที่ไม่ต่างจากที่เคยประเมินไว้ ดังนั้น น้ำหนักในการพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ คือในเรื่อง หนี้ครัวเรือน โดยกนง.มองว่า การปรับลดดอกเบี้ยน่าจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง  ซึ่งเมื่อลดดอกเบี้ยลงยังคงอยู่ในระดับที่ยังเป็นกลาง และสอดคล้องกับศักยภาพของเศรษฐกิจ

ส่วนที่คาดหวังกันว่าจะเห็นกนง.ปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง เลขานุกการ กนง. ระบุว่า จะยังไม่เห็นภาพของการลดดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องของกนง. เพราะครั้งนี้เป็นการลดและหยุดเพื่อพิจารณาผลที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จึงไม่ใช่จุดเริ่มต้นวัฏจักรการลดดอกเบี้ย เพราะยังไม่มีเหตุผลการปรับลดเรื่อยๆ 

พาไปดูความเห็นจากสำนักวิจัยต่างๆ ประเมินกันว่า กนง.มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยลงอีก

SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า จะได้เห็นกนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในช่วงไตรมาส 1 ปี 2568 เพื่อผ่อนคลายภาวะการเงินเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยไปอยู่ที่ร้อยละ 2 ภายในไตรมาส 1 ปีหน้า

SCB EIC  มองว่า ภาพเศรษฐกิจและภาวะสินเชื่อชะลอตัวจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ความน่ากังวลของสถานการณ์จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า แต่จะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาวะการเงินโลกจะเริ่มผ่อนคลายลง

ส่วนกรณีที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือไม่ SCB EIC ระบุว่า ขึ้นอยู่กับภาวะการเงินเป็นหลัก โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นการปรับลดเพื่อผ่อนคลายภาวะการเงิน ท่ามกลางภาวะสินเชื่อที่เติบโตชะลอลงและคุณภาพสินเชื่อทยอยปรับด้อยลง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ภาวะการเงินตึงตัว จะส่งผลกดดันเศรษฐกิจมากขึ้นในระยะต่อไป

ตรงนี้สะท้อนในการสื่อสารของ กนง. รอบนี้ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยพยายามรักษาสถานะความเป็นกลาง (Neutral stance) ของนโยบายการเงินไว้ตามแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ กนง. ประเมินว่ายังใกล้เคียงกับการประชุมครั้งก่อน และยังให้ความสำคัญปัจจัยเสถียรภาพระบบการเงินเช่นเดียวกับการประชุมครั้งก่อน ๆ

กนง. มองว่าอัตราดอกเบี้ยควรมีบทบาทในกระบวนการ Debt deleveraging โดยไม่ควรต่ำเกินไปจนเป็นการกระตุ้นการก่อหนี้ครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว จึงทำให้จังหวะการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้าขึ้นอยู่กับผลกระทบของภาวะการเงินตึงตัวต่อกิจกรรมเศรษฐกิจเป็นหลัก

Krungthai COMPASS ประเมินว่ายังคงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า สะท้อนจากมุมมองของ กนง. ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าค่ากลางของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนารกลางสหรัฐหรือเฟด อาจส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงิน รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า กระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อมากกว่าที่ กนง. คาด ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือเกียรตินาคินภัทร  ประเมินว่า หลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในปีนี้ คาดว่ากนง.จะลดดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 2 ครั้งในไตรมาส 1 และ 2 ปีหน้าสู่ระดับระดับร้อยละ 1.75 

KKP Research ระบุว่าแม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว KKP Research ปรับประมาณการเศรษฐกิจสำหรับปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 2.6 เป็น ร้อยละ 2.8 

เศรษฐกิจไทยน่าจะได้รับผลบวกระยะสั้นจากนโยบายแจกเงินของรัฐบาลในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยมีการแจกเงินจำนวน 142,000 ล้านบาทให้กับกลุ่มเปราะบางหรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 0.7 ของ GDP 

ส่วนแจกเงินก้อนที่สอง น่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ถึง ไตรมาส 3 ปี 2568  เมื่อเงินดังกล่าวไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตขึ้นได้ประมาณร้อยละ 3ในปี 2568

พาไปฟังความเห็นจากรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล พบว่าอยากเห็นดอกเบี้ยของไทยปรับลดลงอีก

“พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง เป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวังไว้ ซึ่งการลดดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระต่างๆ ให้กับประชาชน โดยเฉพาะคนที่เป็นหนี้ และส่งผลดีต่อความเชื่อมั่น เพราะเงินกู้ที่อยู่ในตลาด โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) จะมีผลดีกับผู้ที่ลงทุนรุ่นเก่า ดังนั้น ผลที่ออกมาเป็นไปแนวทางบวก

ส่วนความคาดหวังการลดดอกเบี้ยต่อเนื่องนั้น รมว.คลัง  ระบุว่า เป็นเรื่องต้องพิจารณา เพราะเศรษฐกิจประเทศไทยผูกกับเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก จึงต้องติดตามอย่างต่อว่าสถานการณ์ต่างประเทศ ตลอดจนวิธีคิด แนวโน้มเป็นไปในทิศทางใด ซึ่ง กนง. ก็ต้องคิดให้หนัก

ส่วนในเรื่องกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่กระทรวงการคลังและธปท.ต้องมาสรุปร่วมกันนั้น ทางกระทรวงการคลังอยากให้ปรับเป้าหมายในปี 2568 มาอยู่ที่ร้อยละ 2-3 เพื่อช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากขึ้น ดังนั้นต้องตั้งกรอบเงินเฟ้อให้สูงกว่าปัจจุบัน ซึ่ง รมว.คลัง ระบุว่า การที่เงินเฟ้อต่ำกว่าร้อยละ 1 คงเป็นไปไม่ได้แล้ว 

ทางด้าน “พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ระบุว่า อยากเห็นการปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้อีกร้อยละ 0.25  และรวมครั้งนี้ที่ปรับลดไปแล้วเท่ากับการปรับลดปีนี้ร้อยละ 0.50 โดยในขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังแย่อยู่ แต่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยกำลังจะดีขึ้นในช่วงปลายปี คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3-4 ทำให้ทั้งปี GDP น่าจะโตได้ประมาณร้อยละ 2.7 ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง ตรงนี้จะมีส่วนช่วยทั้งภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีสัดส่วน ร้อยละ 70-80 ของ GDP รวมถึงช่วยเรื่องการลงทุนด้วย

ส่วนในเรื่องกรอบเงินเฟ้อในปีหน้านั้น ทางรมว.พาณิชย์มองไปในทิศทางเดียวกับรมว.คลัง อยากเห็นกรอบเงินเฟ้อ ร้อยละ 2-3 โดยควรจะยึดกรอบเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ

ในเรื่องเงินเฟ้อ คงต้องจับตาดูว่าจะสรุปอย่างไร โดยในปี 2567  รัฐบาลมีการกำหนดกรอบเงินเฟ้อไว้ที่ร้อยละ 1-3 ซึ่งตามแนวทางปฏิบัติ ทางกระทรวงการคลังและธปท.จะมีการหารือกรอบเงินเฟ้อและเสนอไปยังครม.ในช่วงเดือนธันวาคม ของทุกปี

 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง