เปิดแผน "GWM" ดันไทยฮับรถพวงมาลัยขวาแทนจีน l การตลาดเงินล้าน
เกรท วอลล์ มอเตอร์ ตอกย้ำถึงแผนอยู่ในไทยระยะยาวพร้อมดันไทยเป็นฮับรถพวงมาลัยขวา
คุณปาร์คเกอร์ ฉี ประธาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ ตลาดต่างประเทศ มองว่าประเทศไทย เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการขยายธุรกิจสู่ระดับโลก ซึ่งบทบาทหลังจากนี้ คือการผลักดันไทย สู่การเป็นศูนย์กลาง หรือ ฮับ การผลิตและส่งออกรถยนต์พวงมาลัยขวาสู่ผู้ใช้งานทั่วโลก จากปัจจุบัน โรงงานในจีนเป็นแหล่งผลิตหลัก
การเลือกไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา เนื่องจากไทยมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค, มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อม, มีการเติบโตที่ดี และมีความพร้อมด้านแรงงานมีทักษะ
ทั้งนี้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ลงทุนในประเทศไทยไปแล้วกว่า 12,000 ล้านบาท และภายใน 3 ปีจากนี้ จะลงทุนเพิ่ม เป็น 23,000 ล้านบาท เพื่อรองรับตลาดที่จะเติบโต โดยจะเป็นการลงทุนในด้านต่าง ๆ เช่น ลงทุนด้านการตลาดสำหรับการสร้างแบรนด์, ลงทุนในโรงงาน, การผลิตรถยนต์โมเดลใหม่ และผลิตแบตเตอร์รี
สำหรับโรงงานในไทย ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 80,000 คันต่อปี ในอนาคตจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 120,000 คันต่อปี แต่การผลิตจริงในปีนี้ อยู่ที่ 10,000 คันต่อปี และปีหน้า จะเพิ่มเป็น 20,000 คันต่อปี ในส่วนนี้จำนวน 10,000 คัน จะเป็นการส่งออก ซึ่งปีนี้ ได้เริ่มมีการส่งออกไปแล้ว คือที่เวียดนาม และ อินโดนีเซีย หลังจากนี้ มีแผนจะขยายไปมาเลเซีย และออสเตรเลีย เพิ่มเติมด้วย
ด้านยอดขายในไทย ปีนี้ ได้ลดเป้าหมายจากเดิมตั้งเป้าไว้ที่ 12,000-13,000 คัน ลดลงเป็น 9,000-10,000 คัน โดยเป็นการปรับลดเป้าหมายตามสภาพการแข่งขันที่สูงขึ้น และสภาพของตลาดที่ชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขายของผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ทุกค่ายให้มียอดขายลดลง
ส่วนประเด็นเรื่องสงครามราคา คุณ ปาร์คเกอร์ ฉี แบ่งปันมุมมองสำหรับในตลาดจีน โดยบอกว่า มีความรุนแรงมากกว่าในไทยมาก ซึ่งส่งผลเสียหายและกระทบต่ออุตสาหกรรม แต่นั่น ก็ไม่ได้หมายความว่า กลัว หรือ กังวลต่อการแข่งขัน แต่หมายถึงว่า การแข่งขันจนเกิดสงครามราคา นอกจากราคาจะต่ำลงแล้ว และยังเป็นการบั่นทอนด้านคุณภาพให้ต่ำลงด้วย โดยมองว่า การลดราคา เช่น การออกแคมเปญลดราคาลงมาก ๆ อาจทำให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น แต่ได้ในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งบริษัทฯ เอง ไม่มองแค่ในระยะสั้น และหวังว่า ในไทยจะไม่เกิดเหมือนในจีน เพราะไม่ส่งผลดีต่อตลาดและอุตสาหกรรม
เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น ทำให้ต้องปรับปรุงการทำธุรกิจในไทย ผ่าน 4 กลยุทธ์สำคัญ ประกอบด้วย
กลยุทธ์ ด้านผลิตภัณฑ์ จะเน้นการปรับตำแหน่งการตลาดของผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และมุ่งตอบโจทย์ความต้องการของคนไทยให้มากขึ้น ในราคาที่เหมาะสม และแข่งขันได้ โดยในงาน Motor Expo 2024 ปลายปีนี้ จะมีการนำนวัตกรรมใหม่ มาจัดแสดงถึง 2 รุ่น เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่ม SUV ที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น และปีหน้า (2568) เตรียมจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่ในไทย ทั้ง HAVAL H6 HEV และ PHEV ไมเนอร์เชนจ์ รวมถึง GWM TANK ในเครื่องยนต์ดีเซล
กลยุทธ์ ด้านบริการหลังการขาย ตั้งเป้าหมายจะส่งมอบบริการหลังการขายที่รวดเร็ว ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นการบริหารจัดการอะไหล่ที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการสร้างศูนย์กระจายอะไหล่ขนาดใหญ่สำหรับตลาดต่างประเทศ ซึ่งที่จีนมีพื้นที่กว่า 30,000 ตารางเมตร รวมถึงการเพิ่มจำนวนการเก็บชิ้นส่วนอะไหล่กว่า 1,000 SKU ในประเทศไทย
ต่อกันที่ กลยุทธ์ ที่ 3 ด้านการขาย จะมุ่งสร้างการเติบโตและการบริหารเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายเพื่อการขายที่มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการทำงานพูดคุยกับพาร์ทเนอร์อย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาการดำเนินงานให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตและการแข่งขันที่สูงขึ้นของตลาด และจะขยายเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีจำนวน 70 แห่งทั่วประเทศ
และสุดท้าย กลยุทธ์ด้านการสร้างแบรนด์ จะมุ่งสร้างความแตกต่างไปสู่การเป็นแบรนด์ในใจของคนไทยและทั่วโลก และเน้นการสร้างแบรนด์ในระยะยาวโดยมีผู้ใช้เป็นศูนย์กลางผ่านกิจกรรมระดับโลกต่าง ๆ อีกมากมาย
ข่าวแนะนำ