TNN "แม็คยีนส์" ปรับเกมรุก-ปิดสาขาไม่ทำกำไร l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

"แม็คยีนส์" ปรับเกมรุก-ปิดสาขาไม่ทำกำไร l การตลาดเงินล้าน

"แม็คยีนส์" แบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทยกำลังเข้าสู่ปีที่ 50 ท่ามกลางการแข่งขันดุเดือด ล่าสุด ปิดปีบัญชี 2567 รายได้พุ่ง 4,054 ล้านบาท ทุบสถิติสูงสุดรอบ 7 ปี

คุณ เจมส์ ริชาร์ด อมตวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เผยถึงแผนและกลยุทธ์ของบริษัทฯ โดยบอกว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในปีบัญชี 2568 (กรกฎาคม 2567-30 มิถุนายน 2568) จะยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์ที่วางแผนไว้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการคุมเข้มต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ ยังปรับเกมการตลาด โดยเน้นทำ Product Mix ออกผลิตภัณฑ์หลากหลาย สำหรับการแต่งตัวสไตล์มิกซ์แอนด์แมตช์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในทุกเจนเนอเรชัน และมีแผนจะออกสินค้าใหม่ต่อเนื่องทุกเดือน จากปัจจุบัน บริษัทฯ มียีนส์ที่ตอบโจทย์สำหรับทุกเจเนอเรชัน 

หรือจะเป็นไอเท็มเท่ ๆ แบบนินิมอล สไตล์ ตลอดจน แอกเซสซอรีต่าง ๆ อย่าง หมวก กระเป๋า เข็มขัด ถุงเท้า และรองเท้า

โดยสัดส่วนสินค้า ประกอบด้วย กลุ่ม แอกเซสซอรี สัดส่วนร้อยละ 17, นอน เดนิม (Non Denim) ร้อยละ 49 และเดนิม (ยีนส์) ร้อยละ 35 สะท้อนให้เห็นถึงการเป็น ไลฟ์สไตล์แบรนด์ อย่างชัดเจน ขณะที่ สัดส่วนยอดขายร้อยละ 35 มาจากยีนส์ และร้อยละ 65 มาจาก นอน - เดนิม โดยมียอดขายสินค้าในทุกกลุ่ม รวมอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านชิ้นต่อปี

ส่วนการทำ Customer relationship management (CRM) เป็นอีกกลยุทธ์ที่สำคัญ โดยวางเป้าหมาย ในการขยายฐานสมาชิก เติบโตอีกร้อยละ 5 จากปัจจุบันมีฐานสมาชิกอยู่แล้วกว่า 1,700,000 คน ซึ่งยอดขายของบริษัทฯ มาจากสมาชิกสูงถึงร้อยละ 50 มีการซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ 2,800 บาท หรือประมาณ 3 ชิ้นต่อคนต่อครั้ง และต้องการจะผลักดันยอดขายจากสมาชิกเพิ่มเป็นร้อยละ 70

ด้านช่องทางการขาย จะเน้นส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์ และบริหารจัดการช่องทางจำหน่ายสินค้า ซึ่งที่ผ่านมา พบว่าช่องทางออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ในเรื่องสินค้า จะต้องมีสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้ง กลุ่มซื้อหน้าร้าน และออนไลน์ และเน้นกลยุทธ์ในรูปแบบ O2O ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกซื้อออนไลน์ และไปรับที่สาขา (ออฟไลน์) ได้ หรือจะซื้อผ่านสาขาแล้วส่งถึงบ้าน ก็ได้เช่นกัน เพื่อทำให้ลูกค้าเลือกซื้อได้สะดวกในทุกช่องทาง แบบไร้รอยต่อ

ปัจจุบัน สัดส่วนยอดขายจากช่องทางออนไลน์ อยู่ที่ร้อยละ 12-13 และตั้งเป้าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 15 ในปีต่อไป จากนั้น คาดว่าน่าจะถึงร้อยละ 20 ในอนาคตอันใกล้นี้

คุณเจมส์ บอกด้วยว่า สำหรับในปีบัญชี 2568 มีความมั่นใจจะสามารถเติบโตด้วยตัวเลข 2 หลัก หรือกว่าร้อยละ 10 จากปีบัญชี 2567 (สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2567) ที่บริษัทฯ มีรายได้กว่า 4,054 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งทุบสถิติด้วยการทำนิวไฮ ในรอบ 7 ปี และมีกำไรสุทธิ 713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 644 ล้านบาท รวมทั้งยังคงรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ในระดับสูง ที่อัตราร้อยละ 64.2

ส่วนงบการลงทุน สำหรับงวดปีบัญชีนี้ ตั้งงบไว้ที่ประมาณ 100 ล้านบาท ในจำนวนนี้ราว 50 ล้านบาทใช้ในการขยายสาขาใหม่ และรีโนเวทสาขาเดิม พร้อม ๆ ไปกับการปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร เพื่อบริหารจัดการต้นทุน ซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 10 สาขา จากปัจจุบัน มีสาขารวมทั้งสิ้นเกือบ 600 สาขา ส่วนงบที่เหลืออีกราว 50 ล้านบาท จะเป็นการลงทุนในงานระบบ 

สำหรับภาพรวมของธุรกิจแฟชั่นไทย ผู้บริหาร แม็คยีนส์ บอกว่า มีการแข่งขันสูง ทั้งจากแบรนด์เดิมที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว และแบรนด์ใหม่ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ที่เข้ามาในตลาดต่อเนื่อง ทำให้มีแบรนด์ที่อยู่ในตลาดได้ และมีแบรนด์ที่ต้องปิดตัว

ท่ามกลางการแข่งขัน กางเกงยีนส์ยังคงครองใจกลุ่มลูกค้าคนไทยสูง เห็นได้จากพฤติกรรมการเลือกซื้อกางเกงยีนส์ของคนไทย ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของผู้บริโภคคนไทยช่วงที่่ผ่านมา พบว่าผู้หญิงมีกางเกงยีนส์ เฉลี่ยถึง 20 ตัว ส่วนผู้ชาย มีกางเกงยีนส์เฉลี่ย 10 ตัว และบางตัวซื้อมาเมื่อ 15 ปีก่อน แต่ก็ยังเลือกใส่มาจนถึงปัจจุบัน

และเฉพาะตลาดกางเกงยีนส์เอง ก็มีการแข่งขันสูง จะเห็นได้ว่ามีหลายแบรนด์ที่หันมาทำกางเกงยีนส์กันจำนวนมาก และบริษัทฯ ก็ไม่ได้แข่งขันเฉพาะกับโลคอลแบรนด์เท่านั้น เพราะแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นรายใหญ่ระดับโลก ต่างก็มีสินค้ากางเกงยีนส์ออกมาจำหน่ายด้วยเช่นกัน สะท้อนว่าทุกแบรนด์ต่างก็มีความสนใจในตลาดนี้

ส่วนความท้าทายอื่น ๆ เช่น เศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยที่ยังต้องติดตาม เพราะจะมีผลต่อต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ตลอดจนการเข้ามาของแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น TEMU และการแข่งขันด้านราคา 

อย่างไรก็ดี คุณเจมส์ บอกว่า ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมาของ แม็คยีนส์ ไม่เคยหยุดนิ่งในการสร้างจุดแข็งให้กับแบรนด์ และอีกหนึ่งจุดแข็ง คือการมีพาร์ทเนอร์ในการผลิตสินค้าอย่าง ITOCHU จากประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นผู้ผลิตเนื้อผ้าส่งให้กระบวนการผลิตของบริษัทฯ รวมถึงการบริหารสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรม และลดต้นทุนการดำเนินงานภายในองค์กร พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้แก่สินค้า 

รวมถึงล่าสุด เปิดตัวแบรนด์แอมบาสเดอร์ คือ อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม และ อนันดา เอเวอริงแฮม ที่ต่างก็มีแม็คยีส์ดีเอ็นเอ ทั้งคาแรคเตอร์ และไลฟ์สไตล์ รวมไปถึงทัศนคติในการดำเนินชีวิตในแบบฉบับของตัวเอง

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง