TNN "ไทย-จีน" ผนึกกำลังคุมสินค้าไร้คุณภาพ

TNN

เศรษฐกิจ

"ไทย-จีน" ผนึกกำลังคุมสินค้าไร้คุณภาพ

สินค้านำเข้าจากจีนที่ไม่ได้คุณภาพ สินค้าออนไลน์จากจีนที่ไหลเข้ามาตีตลาดไทย จนอาจกระทบผู้ประกอบการไทย ล่าสุดมีความร่วมมือระหว่างไทยและจีน ในการควบคุมดูแลมากขึ้น

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน และสมาคมการค้าวิสาหกิจจีน ประกาศจัดตั้ง “กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีนอย่างยั่งยืน” เพื่อช่วยลดข้อกังวลและอุปสรรคต่าง ๆ ที่ภาคธุรกิจทั้ง 2 ประเทศจะต้องเผชิญ โดยเฉพาะด้านกฎหมายและข้อบังคับทางการค้า อาทิ ปัญหาสินค้าไร้คุณภาพ ธุรกิจสีเทา ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนไทยและจีนร่วมพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคเอกชน 3 องค์กรประกาศจัดตั้งกลไกฯ จะจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการ คาดว่าภายใน 2-3 เดือน หรือต้นปี 2568 จะเห็นแผนงานและทิศทางการดำเนินการที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งภายใต้แผนงานดังกล่าวยจะมีการดำเนินการ 9 เรื่องที่สำคัญ โดยหนึ่งในนั้นจะรวบรวมประเด็นที่ผู้บริโภค ประชาชนให้ความเป็นห่วงนำมาศึกษา รวบรวม เพื่อจัดทำแผนดำเนินงานต่อไป มั่นใจว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนและการสนับสนุนระหว่างไทยจีนให้แนบแน่นมากขึ้น

หอการค้าไทยคาดว่า การจัดตั้งกลไกนี้จะช่วยลดข้อกังวลและอุปสรรคต่าง ๆ ที่ภาคธุรกิจทั้ง 2 ประเทศเผชิญหน้า โดยเฉพาะด้านกฎหมายและข้อบังคับทางการค้า ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนไทยและจีนว่าจะร่วมกันพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจอย่างยั่งยืน 

สำหรับ 9 แผนงานที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเศรษฐกิจและการค้าที่เชื่อถือได้, ส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีสารสนเทศ, ให้บริการที่ปรึกษาทางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ, สนับสนุนให้ธุรกิจทั้ง 2 ประเทศปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด

 

ขณะที่ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า การไหลมาของจีนไม่ใช่เฉพาะตัวสินค้าอย่างเดียว แต่รวมถึงนักลงทุนด้วย การมีกลไกฯ จะเป็นตัวสร้างความมั่นใจและเชื่อใจให้กับทั้ง 2 ประเทศในการเข้ามาทำการค้าการลงทุน อีกทั้งจะช่วยสกัดสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพหรือราคาถูกไม่ให้วางขายตามท้องตลาด รวมถึงสกัดนักลงทุนสีเทา ซึ่งจะช่วยคลายความกังวล และปัญหาให้กับผู้บริโภค ทำให้ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ และประเทศไทยมีการลงทุนที่มีคุณภาพเข้า

 

ทั้งนี้จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยติดต่อกันมา 12 ปี โดยช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) 2567 มูลค่าการค้ารวม 86,842 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว ร้อยละ 3.6 แบ่งเป็นไทยส่งออก 31,805 ล้านเหรียญฯ ลดลงร้อยละ 6.4 และไทยนำเข้า 55,036 ล้านเหรียญฯ ขยายตัวร้อยละ 10.5 สำหรับสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่ เป็นผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง, เครื่องคอมพิวเตอร์ 

 

ทางด้าน สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนเตรียมนำเสนอ 2 ประเด็นสำคัญที่จะหารือกับรัฐบาล หลังจากได้ทำหนังสือขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร และผู้ว่าแบงก์ชาติ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ 

สำหรับ 2 ประเด็นที่ภาคเอกชนเตรียมนำเสนอไปยังรัฐบาล และแบงก์ชาติ ประกอบด้วย

1.การดูแลและออกมาตรการกำกับสินค้าที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงการคลัง  ต้องตรวจสอบ และออกมาตรฐานดูแลสินค้าให้ชัดเจน โดยกรมศุลกากรต้องเป็นด่านหน้าสกัดสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกกฎระเบียบและผิดกฎหมาย เพื่อไม่ให้สินค้าเหล่านี้ไหลเข้ามาในประเทศไทย

2. การเก็บภาษีสินค้าที่ขายผ่านอี-คอมเมิร์ซต่างชาติ เช่น Lazada, Shopee หรือ TEMU โดยภาครัฐควรเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ร้อยละ 7 ในการซื้อขายสินค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซ, และควรเก็บภาษีกำไรหรือภาษีเหมากับกลุ่มธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เพราะการซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ซไม่ได้แสดงบัญชีกำไร-ขาดทุน แต่ผู้ประกอบการไทย เมื่อผลประกอบการมีกำไรจะเสียภาษีให้ภาครัฐ ร้อยละ 20 และต้องดูแลกลไกดูแลการชำระเงิน เพราะการชำระผ่าน Application ,WeChat, Alipay ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.

 

ทางด้าน พิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ มีการหารือกับนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย  เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยหนึ่งในประเด็นที่พูดคุยกันคือ  ความกังวลเรื่องสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดในไทย

รมว.พาณิชยระบุว่า ไม่อยากให้รู้สึกว่าจีนเป็นผู้ร้าย โดยได้ติดต่อสถานทูตจีน เพื่อพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน ซึ่งได้แจ้งกับทางท่านทูตจีนว่า ไทยมีมาตรฐานในการตรวจสอบสินค้า ทั้ง อย. และ มอก. ซึ่งจะบังคับใช้กับทุกประเทศ ไม่ใช่ทำเฉพาะกับสินค้าจีน ซึ่งจีนก็มีความเข้าใจ และยินดีที่จะแจ้งผู้ประกอบการของจีนให้ปฏิบัติตามกฎหมายของไทย

ด้านนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ถือเป็นหน่วยงานแรกที่กล้ามาพูดให้กับสถานทูตจีนในประเด็นสินค้าจีน ซึ่งยืนยันว่าพร้อมจะร่วมมือกับไทยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และ ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และปฏิบัติตามมาตรฐานต่างๆ ของไทย เพราะไม่อยากให้ประเด็นความเข้าใจผิดนี้ กระทบต่อความร่วมมือทางการค้า การลงทุนของสองประเทศ และขอชื่นชมรัฐบาลไทยและกระทรวงพาณิชย์ที่มีท่าทีที่ดี ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา และคำนึงภาพรวมการค้าการลงทุนระหว่างไทยและจีน

สำหรับกรณี TEMU แพลตฟอร์มออนไลน์ของจีน ยืนยันว่า เคารพกฎ ระเบียบ และพร้อมที่จะดำเนินการตามกฎหมายและข้อเรียกร้องต่างๆ ของไทย โดย TEMU กำลังประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตั้งบริษัทในไทย และลงทะเบียนการเป็น ผู้ประกอบการขายออนไลน์อย่างเป็นทางการในไทย 

ทางด้านกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้เข้มงวดในการตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) เพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ว่า ก่อนหน้านี้ได้กำหนดเป้าหมายตรวจสอบ 4 ธุรกิจ คือ 1.ธุรกิจท่องเที่ยว 2.ภัตตาคารและร้านอาหาร 3. ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ และโรงแรมรีสอร์ต และ 4.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์และขนส่ง โดยเน้นใน 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯ

แต่จากกรณีสินค้าและธุรกิจจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมายที่เข้ามาแย่งทำธุรกิจในไทย “ทำให้มีการปรับแผนเพิ่มประเภทธุรกิจที่ต้องตรวจสอบนอมินี โดยเน้นเกี่ยวข้องกับการค้าออนไลน์ เช่น โกดังเช่าสินค้า โลจิสติกส์ ธุรกิจซูเปอร์มาเก็ต” เพื่อดูว่าธุรกิจไหนที่ไม่ถูกต้อง ต้องแจ้งไปว่าควรดำเนินการให้ถูกต้อง ถ้ามีการทำผิดต้องมีการดำเนินการตามข้อกฎหมายของไทย 

 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง