TNN บริษัทระดับโลกลงทุนไทย ลุ้นตัวเลขบีโอไอปีนี้ 8 แสนล้านบาท

TNN

เศรษฐกิจ

บริษัทระดับโลกลงทุนไทย ลุ้นตัวเลขบีโอไอปีนี้ 8 แสนล้านบาท

ในช่วง 1-2 เดือนนี้ มีบริษัทต่างชาติรายใหญ่ของโลกประกาศลงทุนไทย ทั้งกูเกิล บริษัทผู้ผลิตยางล้อรถคอนติเนนทอลจากเยอรมนี รวมถึงการลงทุนอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไฮเออร์ บริษัทรายใหญ่ของจีน ตรงนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งทำให้เงินลงทุนปีนี้ของไทยได้ตามเป้าหมายวางไว้

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานว่า ในปีนี้มีบริษัทขนาดใหญ่ด้านไอทีและดิจิทัลประกาศฐานลงทุนในไทยมากขึ้น ถ้าดูเฉพาะโครงการ Data Center และ Cloud Service พบว่า “มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวม 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 167,989 ล้านบาท” ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง 

เมื่อช่วงปลายเดือนก.ย.2567 “Google ได้ประกาศแผนลงทุนสร้าง Data Center และ Cloud Region ในประเทศไทย มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนล่าสุดวงเงินประมาณประมาณ 33,000 ล้านบาท” 

นอกจาก Google ที่ประกาศแผนลงทุนและยื่นคำขอกับบีโอไอแล้ว ยังมีบริษัทชั้นนำระดับโลกได้เข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในประเทศไทยแล้วหลายราย 

Amazon Web Service (AWS) ได้มีการงทุนสร้าง Data Center แล้ว 3 แห่ง เงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท จากแผนลงทุนทั้งหมด 2 แสนล้านบาทภายในปี 2580

NextDC จากออสเตรเลีย ลงทุน 13,700 ล้านบาท 

CtrlS จากอินเดีย ลงทุน 5,000 ล้านบาท

STT GDC จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,500 ล้านบาท 

Evolution Data Center จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,000 ล้านบาท 

Supernap (Switch) จากสหรัฐอเมริกา ลงทุน 3,000 ล้านบาท

Telehouse จากญี่ปุ่น ลงทุน 2,700 ล้านบาท 

และ One Asia จากฮ่องกง ลงทุน 2,000 ล้านบาท   

 ถ้าไปดูธุรกิจการให้บริการคลาวด์ (Cloud Service) พบว่า มีบริษัทชั้นนำที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เช่น Alibaba Cloud ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และ Huawei Technologies ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท 

นอกจากบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศแล้ว ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสูงอีกหลายรายที่ลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ด้วย เช่น บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์, บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย และบริษัท GSA 

ตรงนี้สะท้อนถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัลของภูมิภาค 

 

นอกจากบริษัทด้านดิจิทัล และไอที แล้ว พบว่า มีการลงทุนจากบริษัทขนาดใหญ่ของโลกในไทยเพิ่มเติมอีกหลายบริษัท

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการบีโอไอ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตยางล้อสำหรับรถยนต์และยานพาหนะอื่นๆ (Radial Tires) ของบริษัท คอนติเนนทอล ไทร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าลงทุนเพิ่มเติม 13,411 ล้านบาท

การลงทุนนี้จะมีทั้งการก่อสร้างอาคารโรงงานใหม่และส่วนต่อขยายของโรงงานเดิม ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 จังหวัดระยอง โดยมีเป้าหมายขยายกำลังการผลิตยางล้อสำหรับยานพาหนะจากเดิมเกือบ 4.8 ล้านเส้น เพิ่มอีกปีละ 3 ล้านเส้น รวมเป็นทั้งหมด 7.8 ล้านเส้นต่อปี โดยจะใช้วัตถุดิบหลักจากในไทยทั้งหมด คือ ยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ ปีละกว่า 1,700 ตัน 

สำหรับ "คอนติเนนทอล กรุ๊ป" ประเทศเยอรมนี เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ก่อตั้งมานานกว่า 150 ปี โดยมีโรงงานผลิตยางรถยนต์ 20 แห่งใน 16 ประเทศทั่วโลก และได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยเป็นเวลา 15 ปี และได้จัดตั้งโรงงานที่จังหวัดระยองเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นหนึ่งในโรงงานขนาดใหญ่ในเครือคอนติเนนทัล  ซึ่งการขยายการลงทุนครั้งนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 

ทางบีโอไอ ระบุว่า การขยายลงทุนครั้งใหญ่ของคอนติเนนทอล ตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตยางรถยนต์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงระดับโลก 

อุตสาหกรรมยางรถยนต์ เป็นองค์ประกอบสำคัญในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออกยางรถยนต์อันดับ 2 ของโลก รองจากจีน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563 - 2567) มีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนผลิตยางรถยนต์ จำนวน 41 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 112,000 ล้านบาท

สำหรับผู้ผลิตระดับโลกที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตยางรถในไทย เช่น มิชลิน (ฝรั่งเศส), บริดจสโตน (ญี่ปุ่น), กู๊ดเยียร์ (สหรัฐอเมริกา), คอนติเนนทอล (เยอรมนี), ซูมิโตโม รับเบอร์ (ญี่ปุ่น), โยโกฮามา ไทร์ (ญี่ปุ่น), จงเช่อ รับเบอร์ (จีน), ปริงซ์ เฉิงซาน ไทร์ (จีน), หลิงหลง (จีน), เซนจูรี่ ไทร์ (จีน), แม็กซิส (ไต้หวัน) เป็นต้น

สำหรับการลงทุนในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า บีโอไอได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะ ของบริษัท ไฮเออร์ แอพพลายแอนซ์ แมนูแฟคเจอร์ จำกัด ภายใต้แบรนด์ “Haier” ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่จากประเทศจีน ซึ่งมียอดขายอันดับ 1 ของโลกติดต่อกัน 15 ปี (ตั้งแต่ปี 2552 – 2566) จากการจัดอันดับโดยยูโรมอนิเตอร์  “ทางไฮเออร์มีแผนผลิตเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะในไทยด้วยเงินลงทุนสูงถึง 13,400 ล้านบาท” ตั้งโรงงานอยู่บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 จังหวัดชลบุรี โดยเฟสแรกจะมีกำลังการผลิต 3 ล้านเครื่อง คาดว่าเริ่มผลิตภายในเดือนกันยายน 2568 และจะเปิดเต็มโครงการภายในปี 2570 โดยโครงการนี้จะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก มีมูลค่าการส่งออกกว่า 32,000 ล้านบาทต่อปี
ไฮเออร์ได้ตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่เพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ โดยเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุดนอกประเทศจีน เนื่องจากเห็นว่าไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้ามีความเสถียรและเพียงพอต่อความต้องการ ห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง รวมทั้งพื้นที่ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่มีความพร้อมด้านโลจิสติกส์ ทั้งท่าเรือและเส้นทางคมนาคมที่สะดวกเพื่อสนับสนุนการส่งออก อีกทั้งมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ ถือเป็นความสำเร็จในการดึงดูดโครงการลงทุนที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย ทั้งด้านการสร้างงาน การพัฒนาบุคลากร การใช้วัตถุดิบในประเทศ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทยในตลาดโลก

การส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าไปสู่ “เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ” เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของบีโอไอ โดยตั้งแต่ปี 2566 – มิถุนายน 2567 มีโครงการในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ จำนวน 144 โครงการ เงินลงทุนรวม 98,550 ล้านบาท โดยกว่าร้อยละ 80 เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ นอกจากไฮเออร์แล้ว ยังมีแบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น มิตซูบิชิ โซนี่ ไดกิ้น ซัมซุง อีเลกโทรลักซ์ ไมเดีย เป็นต้น

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง