TNN "การบินไทย" พ้นวิกฤตจ่อทวงคืนมาร์เก็ตแชร์เบอร์ 1 l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

"การบินไทย" พ้นวิกฤตจ่อทวงคืนมาร์เก็ตแชร์เบอร์ 1 l การตลาดเงินล้าน

การบินไทย เตรียมจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการช่วงกลางปีหน้า พร้อมแผนสร้างการเติบโต เป้าหมายกลับมาเป็นผู้นำตลาดในประเทศอีกครั้ง

หลังศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2564 ปัจจุบัน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กำลังอยู่ในช่วงสุดท้ายของแผนฯ (หรือเตรียมที่จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว)

ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ของการบินไทย กล่าวว่า บริษัทฯ บรรลุเป้าหมายของแผนงาน ตามขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 337,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ จนทำให้ EBITDA (อีบิตดา) หลังหักเงินสด จ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2566 จนถึงเดือน มิถุนายน ปี 2567 อยู่ที่ 29,292 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าแผนฯ กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง 

แต่ปัจจุบัน ส่วนผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ยังคงติดลบอยู่จำนวน 40,427 ล้านบาท ขณะนี้ จึงเร่งดำเนินงานตามแผนปรับโครงสร้างทุน ผ่านการแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งมีอยู่ 2 ส่วน คือ แปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้เป็นทุน ที่เป็นภาคบังคับ และให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ เพื่อแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ

รวมถึง จะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บุคคลตามที่แผนฟื้นฟูกำหนด ได้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงาน และบุคคลในวงจำกัด ตามลำดับ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของทุน คาดการณ์ว่า กระบวนการปรับโครงสร้างทุนจะเสร็จสิ้นทั้งหมด ภายในสิ้นปี 2567 โดยกระทรวงการคลังจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลงจากเดิม จากนั้น ตามแผนฟื้นฟูฯ จะแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ (ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงประมาณไตรมาส 1 ถึง ไตรมาส 2 ของ ปี 2568) และช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 คาดว่าจะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อออกจากแผนฟื้นฟูฯ และนำหุ้นของบริษัทฯ กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ 


การบินไทย พ้นวิกฤตจ่อทวงคืนมาร์เก็ตแชร์เบอร์ 1 l การตลาดเงินล้าน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย ปรับโครงสร้างธุรกิจในหลาย ๆ ด้าน  อาทิ การปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยปรับลดขนาดองค์กร ซึ่งปี 2565 ที่ผ่านมา มีการลดจำนวนพนักงาน เหลือประมาณ 14,000 คน

ปรับโครงสร้างของกลุ่มธุรกิจ ซึ่งก็คือ ไทยสมายล์ (ที่ปิดตัวลงเมื่อสิ้นปี 2566) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

ยังมีการปรับกลยุทธ์ฝูงบินและเส้นทางการบินเพื่อเพิ่มรายได้ และสร้างกำไรในทุกเส้นทางการบิน นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงาน เช่น การใช้ แอปพลิเคชัน ไทย แอร์เวยส โมบาย แอป (Thai Airways Mobile App) เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร ตลอดจน การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานภายใน และการนำระบบ เอช อาร์ คอร์ แวลู่ (HR Core Value) มาใช้ในการคัดเลือกพนักงาน

นอกจากนี้ ปรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การคัดเลือกและประเมินคุณภาพบุคลากรที่โปร่งใส และ การปรับโครงสร้างทางการเงิน อย่างเป็นระบบ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม และเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท

(ไปดูผลประกอบการย้อนหลังของการบินไทย กันบ้าง)

ปี 2565 รายได้รวม ของการบินไทย และบริษัทย่อย มีจำนวน 105,041 ล้านบาท และ ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 252 ล้านบาท

ส่วนปี 2566 มีรายได้รวม 161,067 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.3 และปี 2566 นี้ เป็นปีที่พลิกกลับมามีกำไร โดยมีกำไรสุทธิถึง 28,123 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 11,259.9% 

พอมาปี 2567 เฉพาะครึ่งปีแรก ตั้งแต่เดือน มกราคม 2567 ถึงเดือน มิถุนายน 2567 การบินไทย และบริษัทย่อย มีรายได้รวม 43,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2566 ที่ร้อยละ 17.7 และมีกำไรสุทธิ 314 ล้านบาท 


การบินไทย พ้นวิกฤตจ่อทวงคืนมาร์เก็ตแชร์เบอร์ 1 l การตลาดเงินล้าน


นอกจากนี้ การบินไทย ยังเปิดกลยุทธ์สู่เส้นทางการเติบโตครั้งใหม่ และตั้งเป้าที่จะกลับมาเป็นผู้นำของตลาดในประเทศอีกครั้ง 

ในประเด็นนี้ คุณ ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย บอกว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ วันนี้การบินไทยพร้อมที่จะก้าวสู่ขอบฟ้าใหม่แห่งความภูมิใจ หรือเรียกว่า Fly for The New Pride ด้วยการปฏิวัติธุรกิจอย่างมืออาชีพ สร้างเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง และยกระดับมาตรฐานการบริการในทุกด้าน เพื่อเรียกความไว้วางใจจากคนไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติ ให้กลับคืนมาอีกครั้ง

กลยุทธ์สำคัญสู่เส้นทางการเติบโตครั้งใหม่ประกอบไปด้วย 5 กลยุทธ์ คือ

การเสริมสร้างเครือข่ายเส้นทางบินที่ครอบคลุม โดยจะเน้นการเชื่อมต่อเที่ยวบินที่ราบรื่น และตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารทั่วโลก

การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้โดยสาร เน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดในการเดินทาง และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์

ถัดมาคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน เพื่อสร้างความยั่งยืนและเพิ่มความสามารถในการทำกำไร

กลยุทธ์ที่ 4 คือ การเสริมสร้างขีดความสามารถในการเพิ่มช่องทางรายได้ใหม่ เพื่อกระจายแหล่งที่มาของรายได้ และลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจการบินเพียงอย่างเดียว

และสุดท้ายคือ การมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างคุณค่าอันยั่งยืนให้กับธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม


การบินไทย พ้นวิกฤตจ่อทวงคืนมาร์เก็ตแชร์เบอร์ 1 l การตลาดเงินล้าน

ภายใต้กลยุทธ์เหล่านี้ ผู้บริหาร การบินไทย กล่าวอีกว่า จะทำให้บริษัทฯ ดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว รับมือกับความท้าทาย และสามารถปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงสามารถพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้อย่างไร้ขีดจำกัด เพื่อการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืน

บริษัทฯ ได้วางเป้าหมายสำคัญในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาด โดยการเป็นผู้นำตลาดในประเทศ จากปี 2556 การบินไทย เคยมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 42 (เป็นส่วนแบ่งตลาดในประเทศ) ซึ่งในขณะนั้น มีฝูงบินอยู่จำนวน 100 ลำ

ต่อมาในปี 2562 ส่วนแบ่งตลาดลดลง เหลือร้อยละ 37 ทั้ง ๆ ที่มีเครื่องบินถึง 103 ลำ

ส่วนช่วงที่เข้าอยู่ในแผนฟื้นฟู บริษัทฯ ได้ปรับโครงสร้างฝูงบินเพื่อทำให้เกิดความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุน ทำให้ปี 2566 ฝูงบินลดลงเหลือจำนวน 70 ลำ และส่วนแบ่งตลาดลดลงมาที่ร้อยละ 27 

แต่จากนี้ ไปจนถึงปี 2572 การบินไทย จะจัดหาเครื่องบินเข้ามาเพิ่มเป็น 143 ลำ (จากปัจจุบันมี 77 ลำ) คาดว่าจะทำให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะกลับมาเท่ากับปี 2556 ซึ่งปกติแล้ว สายการบินเจ้าบ้าน ควรจะมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ราวร้อยละ 40-50 ซึ่งการจัดหาเครื่องบินเพิ่มนั้น บริษัทฯ ได้จัดหาเครื่องบินเพิ่มทั้งแบบลำตัวกว้างและลำตัวแคบ โดยปี 2572 จะมีจำนวน 143 ลำ และจะเพิ่มเป็น 150 ลำ ในปี 2576

ขณะเดียวกัน จะมุ่งเป็นสายการบินที่ให้บริการแบบเครือข่าย (Network Airline) ที่จะสามารถสร้างรายได้ผู้โดยสารต่อหน่วย และการเชื่อมต่อเครือข่ายเส้นทางได้แข็งแกร่ง โดยจะขยายเครือข่ายเส้นทางบินระยะสั้นเพื่อสร้างความได้เปรียบ และเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในเส้นทางหลัก เชื่อมต่อเมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กับกรุงเทพฯ 

อีกทั้งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนช่องทางการขายโดยตรงเอง มากขึ้น และลดช่องทางการขายผ่านเอเย่นต์ แบบออฟไลน์ และเพิ่มช่องทางขายเอเย่นต์ออนไลน์ รวมถึงปรับปรุงแอปพลิเคชันมือถือให้ใช้ได้ง่ายขึ้น

และมีแผนลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและหารายได้เพิ่มเติม และทำให้เป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานระดับภูมิภาค ที่ให้บริการฝูงบินของบริษัทฯ และสายการบินอื่น จากปัจจุบัน การบินไทย มีศูนย์ซ่อมอากาศยาน 2 แห่ง คือที่ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง