TNN "สยามกลการ" ทุ่ม 9,500 ล้าน มุ่งธุรกิจใหม่ l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

"สยามกลการ" ทุ่ม 9,500 ล้าน มุ่งธุรกิจใหม่ l การตลาดเงินล้าน

กลุ่มสยามกลการ ทุ่ม 9,500 ล้านบาท ปรับตัวมุ่งขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่ ลดการพึ่งพิงจากธุรกิจยานยนต์ และเพื่อสร้างการเติบโต

นับตั้งแต่ก่อตั้ง เมื่อปี 2495 จนถึงปัจจุบัน สยามกลการ มีอายุถึง 72 ปีแล้ว การดำเนินธุรกิจเริ่มต้นมาจากการค้ารถยนต์ใหม่ และเก่า ต่อมาก็ได้กลายเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ นิสสัน ดัทสัน ในประเทศไทย และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนจำหน่ายรายแรกในตลาดต่างประเทศ

จากนั้นปี 2505 สยามกลการได้ก่อตั้งโรงงานประกอบรถยนต์นิสสันแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่ ซอยศรีจันทร์ สุขุมวิท 67 ภายใต้ชื่อ บริษัท สยามกลการและนิสสัน จำกัด เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงได้ย้ายโรงงานประกอบรถยนต์นิสสัน ไปยังศูนย์อุตสาหกรรมสยามกลการ เพื่อเป็นโรงงานผลิตรถกระบะนิสสัน สำหรับส่งออก

โดยมีเครือข่ายพันธมิตรที่ครอบคลุมทั่วประเทศอาเซียน ทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ตลอดจนทั่วโลก

ปัจจุบัน สยามกลการ อยู่ภายใต้การบริหารของทายาท เจนเนอเรชันที่ 3 มีกลุ่มธุรกิจหลากหลาย ครอบคลุม 6 กลุ่มธุรกิจ จำนวน 69 บริษัท ได้แก่

กลุ่ม อุตสาหกรรมรถยนต์ คือ การผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ผ่านการร่วมมือกับบริษัทระดับโลก อาทิ นิสสัน มอเตอร์, นิสสัน พาวเวอร์เทรน, เกีย เซลส์ และ อื่น ๆ

กลุ่มอะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นการผลิตและจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ อาทิ แบตเตอรี่ และโช้คอัพ โดยมีบริษัทในเครืออย่าง สนามยีเอส แบตเตอรี่, ยีเอส ยัวซ่า แบตเตอรี่ (มาเลเซีย), เอ็น เอส เค แบริ่งส์ , นิตตั้น (ประเทศไทย), ฮิตาชิ แอสเตโม ชลบุรี พาวเวอร์เทรน, เอ็กเซตี้, เควายบี, วอทส์เอ็ก (ประเทศไทย) และอื่น ๆ

ต่อมาคือ กลุ่มอุตสาหกรรมและเครื่องจักรกลหนัก ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยร่วมมือกับบริษัทชั้นนำ อาทิ เครื่องจักรโคมัตสุ, ลิฟต์และบันไดเลื่อน ฮิตาชิ และอื่น ๆ 

กลุ่มการท่องเที่ยวและบริการ การดำเนินธุรกิจโรงแรมและสนามกอล์ฟ อาทิ สยาม แอ็ท สยาม ดีไซน์ โฮเต็ล กรุงเทพฯ, สยามคันทรีคลับ, โรงแรมโมเวนพิค สยาม นาจอมเทียน พัทยา และอื่น ๆ 

กลุ่มการศึกษาและเครื่องดนตรี การมุ่งเน้นการศึกษาด้านดนตรี ผ่านโรงเรียนดนตรียามาฮ่า และอื่น ๆ

สุดท้าย กลุ่มการลงทุน โดยจะเป็นการลงทุนที่ครอบคลุมหลากหลายด้าน ทั้งอสังหาริมทรัพย์ และการเงิน โดยมีบริษัทในเครือต่าง ๆ อาทิ สยามกลการ, อาคารสยามปทุมวัน เฮ้าส์ และธุรกิจอื่น ๆ 

ด้านคุณประกาสิทธิ์ พรประภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการ จำกัด กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทฯ มียอดขายรวมอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจที่ทำรายได้หลักให้กับกลุ่มบริษัทฯ คือ ยานยนต์ และอะไหล่ชิ้นส่วนยานยนต์ คิดเป็นสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 80 ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมและเครื่องจักรกลหนัก มีสัดส่วนร้อยละ 17

แต่จากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้ทางกลุ่มได้เตรียมพร้อมด้วยแผนการขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ๆ เมื่อปีที่แล้ว จึงเปิดตัว SMG Next (เอสเอ็มจี เน็กซ์) ภายใต้แนวคิด บิวดิ้ง ทูมอร์โรว์ ทูเดย์ (Building Tomorrow Today) // โดยส่วนที่ได้เดินหน้าไปแล้ว เช่น เกีย เซลส์, วอทส์เอ็ก, ฮิตาชิ ดิจิทัล บิวดิ้ง โซลูชัน (Hitachi Digital Building Solutions) และ สยามสมาร์ทโซลูชั่นส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีอีก 5 ธุรกิจใหม่ที่จะมุ่งเน้นลงทุนเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพื่อกระจายพอร์ตโฟลิโอด้านธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจ โมบิลิตี้ เทค (Mobility Tech) หรือ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนและขนส่ง ต่อมาคือ ฮอสพิทัลลิตี้ และการศึกษา ส่วน อสังหาริมทรัพย์ จะเน้นเฉพาะอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์เท่านั้น  นอกจากนี้ จะมุ่งสู่ คลีน เทค (Cean Tech) หรือ เทคโนโลยีสะอาด และสุดท้าย ธุรกิจด้าน ดิจิทัลและระบบอัตโนมัติ

โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนในหน่วยธุรกิจใหม่รวมประมาณ 9,500 ล้านบาท ภายใน 3 ปี และตั้งเป้ามีรายได้เติบโตขึ้นร้อยละ 20 ภายใน 3 ปีเช่นกัน

และสำหรับแผนการลงทุนนั้น ผู้บริหาร สยามกลการ กล่าวเพิ่มเติมว่า จะมีการลงทุนมูลค่า 1,500 ล้านบาท ในการรีโนเวตอาคารสำนักงานเดิมของสยามกลการ เพื่อเปลี่ยนให้เป็นโรงแรมสูง 19 ชั้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการลงนามให้ ใช้เชนบริการจากเครือ แพน แปซิฟิก และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2570

นอกจากนี้ ยังจะมีการลงทุนในธุรกิจการศึกษา ด้วยการเปิดโรงเรียนนานาชาติ ที่พัทยา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตร ในการเข้าบริหารโรงเรียน ส่วนการลงทุนอื่น ๆ ขณะนี้ กำลังพิจารณาลงทุน ดาต้า เซ็นเตอร์ 2 แห่ง ภายในที่ดินนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหาพันธมิตรร่วมลงทุนจากต่างประเทศ

ล่าสุด สยามกลการ เปิดตัวอาคาร "สยามปทุมวัน เฮ้าส์" ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานอัจฉริยะสีเขียว ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ โดยคุณ ประกาสิทธิ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของ เอสเอ็มจี เน็กซ์ ที่เป็นธุรกิจใหม่ ซึ่งมีมูลค่าโครงการกว่า 3,500 ล้านบาท 

อาคารสำนักงานแห่งนี้ อยู่บนถนนพญาไท ในพื้นที่สยามสแควร์ มีทางเชื่อมลอยฟ้าตรงจากตัวอาคารไปยัง วันสยาม และลานเชื่อมแยกปทุมวัน รถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นอาคาร 33 ชั้น มีพื้นที่ให้เช่าสำนักงาน และพื้นที่ร้านค้าปลีกทั้งหมด 51,000 ตารางเมตร ด้านการออกแบบ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิด โคชิ ของญี่ปุ่น โดยรวมฟังก์ชันการใช้งานเข้ากับสุนทรียศาสตร์ได้อย่างสมบูรณ์

ตัวอาคาร ยังมีการผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก ฮิตาชิ และ ไดกิ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ กลุ่มสยามกลการ ตั้งแต่ ระบบความปลอดภัย ฮิตาชิ สมาร์ต บิวดิ้ง แพลตฟอร์ม (Hitachi Smart Building Platform) ที่มีทั้งการจดจำใบหน้า การจัดการการเข้าถึงแบบอัจฉริยะ และการเฝ้าระวังที่ครอบคลุม ขณะเดียวกัน มีการควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมด้วยเทคโนโลยี วีอาร์วี (VRV-Variable Refrigerant Volume) ของ ไดกิ้น ระบบปรับอากาศแบบศูนย์รวมอัจฉริยะที่มีคอนเดนซิ่ง ช่วยให้ประหยัดพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 

และยังมีฟีเจอร์ด้านความยั่งยืน อาทิ เซ็นเซอร์แสง และการเคลื่อนไหว กระจกสะท้อนกันความร้อน สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ระบบประหยัดน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ อาคารสยามปทุมวัน เฮ้าส์ ได้รับการรับรองมาตรฐาน หลีด (LEED) ระดับโกลด์ และ ฟิตเวล (Fitwel) ระดับ 1 ดาว

อาคารแห่งนี้ ก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2566  ปัจจุบันมีอัตราการเช่าอยู่ที่ร้อยละ 54 และเป็นบ้านให้กับบริษัทชั้นนำหลายแห่ง อาทิ สยามดนตรียามาฮ่า, นิสสัน เทรดดิ้ง, ไดกิ้น, คริสเตียน ลูบูแตง, ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์, แอกซ่า ประกันภัย, บิวเทรี่ยม และ อันเดอร์ อาร์เมอร์ เป็นต้น และตั้งเป้าภายในปี 2568 มีอัตราการเช่าอยู่ที่ร้อยละ 75


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง