TNN รู้จัก "ยิบอินซอย" ผู้ปิดดีลซื้อ "Robinhood" l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

รู้จัก "ยิบอินซอย" ผู้ปิดดีลซื้อ "Robinhood" l การตลาดเงินล้าน

เอสซีบี เอ็กซ์ ปิดดีลการขายแอปส่งอาหาร Robinhood นำโดย "ยิบอินซอย" ซึ่งเป็นบริษัทไทยที่มีอายุเกือบ 100 ปีแล้ว จะช่วยเพิ่มขีดแข่งขันให้กับ Robinhood อย่างไร

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้ขายหุ้นทั้งหมด ในบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Robinhood ซึ่ง เอสซีบีเอ็กซ์ ถือหุ้นอยู่ 100% และได้นามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับผู้ลงทุน นำโดยบริษัทยิบอินซอย จำกัด ในวันเดียวกันอีกด้วย

การซื้อขายครั้งนี้ มีมูลค่ารวม 2,000 ล้านบาท ประกอบด้วย มูลค่าเบื้องต้น จะชำระทันที 400 ล้านบาท และที่เหลือ เป็นส่วนเพิ่มตามผลประกอบการสูงสุด ซึ่งไม่เกิน 1,600 ล้านบาท 

สำหรับ กลุ่มผู้ลงทุนนั้นมี 4 ราย ประกอบด้วย กลุ่ม ยิบอินซอย ถือหุ้นรวมกันเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของหุ้นสามัญที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ซึ่งภายในกลุ่ม ยิบอินซอย เอง จะมีนิติบุคคล 2 บริษัท ที่จะเข้าถือหุ้น คือ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 30 และบริษัท มีศิริ จำกัด ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 20

รายที่ 2 คือ บริษัทบรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะเข้าถือหุ้นในอัตราส่วนร้อยละ 30 

ส่วนรายที่ 3 คือ บริษัท เอสซีที เรนทอล คาร์ จำกัด ถือหุ้นในอัตราส่วนร้อยละ 10 ซึ่ง เอสซีที เรนทอล คาร์ ทำธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์สำหรับใช้งานส่วนบุคคลและเชิงพาณิชย์

และสุดท้ายรายที่ 4 บริษัท ล็อกซ์บิท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการไอทีโซลูชั่น บริษัทในกลุ่ม ล็อกซ์เล่ย์ จะถือหุ้นในอัตราส่วนที่เหลือ คือร้อยละ 10


รู้จัก ยิบอินซอย ผู้ปิดดีลซื้อ Robinhood l การตลาดเงินล้าน


ซึ่ง แอป โรบินฮู้ด เริ่มต้นขึ้นมาด้วยการเป็นแอปบริการส่งอาหาร ภายใต้แนวคิด ที่ต้องการให้ ผู้สั่งอาหาร ร้านอาหาร และไรเดอร์ ได้ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม โดยไม่เสียค่า จีพี ไม่มีชาร์จเพิ่ม โดยเปิดทดลองให้บริการตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2563

ใน 1 ปีแรกของการเปิดให้บริการ จากข้อมูลพบว่ามีลูกค้าลงทะเบียนใช้งานกว่า 2,300,000 ราย มีจำนวนร้านอาหารบนแพลตฟอร์มกว่า 164,000 ร้าน และมีไรเดอร์ให้บริการรับ ส่งอาหารกว่า 26,000 คน

จากนั้นได้ขยายการให้บริการเพิ่มทั้ง โรบินฮู้ด ชอป, โรบินฮู้ด ไรเดอร์ และโรบินฮู้ด ไดร้ฟเวอร์ และ ข้อมูล ณ เดือนกรกฎาคม 2566 มีรายงานฐานผู้ใช้อยู่ จำนวน 3,700,000 ราย ร้านค้าต่าง ๆ จำนวนกว่า 300,000 ร้านค้า และไรเดอร์มากกว่า 30,000 คน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจมีผลขาดทุนมาต่อเนื่องทุกปี โดย 3 ปีย้อนหลังของ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ พบว่าปี 2564 มีรายได้รวมกว่า 15 ล้านบาท และขาดทุน 1,335 ล้านบาท

ปี 2465 รายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 538 ล้านบาท แต่ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 1,986 ล้านบาท

และปีล่าสุด ปี 2566 รายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 724 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก เป็น 2,155 ล้านบาท

จนในเดือนมิถุนายน 2567 เอสซีบีเอ็กซ์ ตัดสินใจจะปิดให้บริการ แต่ก็นำไปสู่การเจรจากับผู้ลงทุนรายใหม่ ที่ยังทำให้ แอป โรบินฮู้ด ยังดำเนินธุรกิจต่อไป 

ด้าน ยิบอินซอย ซึ่งเป็นผู้นำในกลุ่มผู้ลงทุนรายใหม่ และถือหุ้นมากที่สุด ในสัดส่วนร้อยละ 50 เป็นธุรกิจเก่าแก่สัญชาติไทย ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจาก 3 ตระกูลหลัก คือ ยิบอินซอย ลายเลิศ และ จูตระกูล

โดยประมาณปี 2469 นายยิบ อินซอย เล็งเห็นกิจการซื้อขายเหมืองแร่ มีอนาคตที่ดี จึงได้ร่วมกับบิดา และผู้ร่วมก่อตั้งรายอื่น ๆ ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลชื่อ ยิบอินซอย แอนด์ โก ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

จากนั้นเมื่อกิจการเติบโต จึงจัดตั้งเป็นบริษัท ยิบอินซอย จำกัด ในปี 2473 มีผู้ถือหุ้น 7 ราย ได้แก่ นายยิบอินซอย, นายยับหลง(บิดา), นายเลนำคิน, นางเลมีเซียม, นายโกซุน, นายโกซุนหลิน และนางหร่อย มีสำนักงานใหญ่ อยู่ที่ อำเภอบ้านทวาย จังหวัดพระนคร 

ต่อมา ปี 2481 ย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่ ตำบลมหาพฤฒาราม อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่จนถึงปัจจุบัน โดยบริษัทดังกล่าว ต่อยอดธุรกิจออกไปหลากหลาย เช่น ธุรกิจนำเข้าสินค้า โดยนำเข้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เท็กซาโก (Texaco), รถแทรกเตอร์ยี่ห้อ David Brown, รถบรรทุก Isuzu, ตะเกียงเจ้าพายุ ตราโคลแมน, ผลิตภัณฑ์ตรา 3M เป็นต้น 

และยังมีธุรกิจประกันภัย คือการออกกรมธรรม์ทางทะเล ตลอดจนธุรกิจการเงินและการลงทุน

ทั้งยังร่วมกับกลุ่ม ซีสซั่นส์ บราเดอร์ส เพ้นท์ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สีทาบ้านจาก สหราชอาณาจักร ก่อตั้ง บริษัท ซีสซั่นส์เพ้นท์ส (ประเทศไทย) ดำเนินธุรกิจผลิตสีอุตสาหกรรมคุณภาพสูง

แต่จุดเปลี่ยนของ ยิบอินซอย เกิดขึ้นในปี 2497 ในการเข้าสู่ธุรกิจด้านเทคโนโลยี โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องบวกเลขแบบจักรกล ที่ถือเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานระดับสูง ที่มีความทันสมัยในยุคนั้น

ปี 2506 นายธวัช ยิบอินซอย จบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา และเข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจเทคโนโลยี ที่ถือเป็นความท้าทายในยุคดังกล่าว และ ปี 2516 ได้ขยายเข้าสู่งานจัดจำหน่ายและติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรม โดยมีนายเทียนชัย ลายเลิศ ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินธุรกิจนี้

พอมาในยุควิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 และเป็นยุคของทายาทรุ่นที่ 3 เข้ามารับช่วงต่อ นางมรกต ยิบอินซอย และนายสุภัค ลายเลิศ ได้เข้ามาร่วมปรับกลยุทธ์และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมุ่งสู่ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเต็มรูปแบบและครบวงจร


รู้จัก ยิบอินซอย ผู้ปิดดีลซื้อ Robinhood l การตลาดเงินล้าน

ปัจจุบัน ยิบอินซอย มีคณะกรรมการบริหาร 7 คนประกอบด้วย นาย เทียนชัย ลายเลิศ ประธานกรรมการ  นางมรกต ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายสุภัค ลายเลิศ กรรมการอำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการ ส่วนกรรมการอีก 4 คน ได้แก่ นาย อภิรักษ์ จูตระกูล นาย สิทธิ์ อจลากุล นาย ยุพธัช ยิบอินซอย และ นาย บดีพล จูตระกูล

โดยการเข้าซื้อธุรกิจดีลิเวอรี ครั้งนี้ คุณ มรกต กล่าวว่า ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในการให้บริการส่งอาหารของ โรบินฮู้ด จากการที่เป็นแพลตฟอร์มสัญชาติไทย ที่มีรากฐานที่ดี ทั้งลูกค้า ไรเดอร์ และร้านค้า จึงคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะพัฒนาธุรกิจเพื่อต่อยอดให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และมีความสามารถที่จะแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น 

มีมุมมองจากฝั่งนักวิชาการ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การเข้ามาของผู้ลงทุนกลุ่มใหม่ในแอป โรบินฮู้ด จะทำให้การแข่งขันของธุรกิจดีลิเวอรีน่าจับตามอง และน่าจะมีการแข่งขันกันดุเดือดมากขึ้น

ดร.เอกก์ กล่าวว่า การจะแข่งขันในตลาดนี้ได้ จะต้องมีความสามารถหลายประการ คือเก่งด้านลูกค้า ข้อ 2 คือเก่ง ด้านระบบ และ 3 คือ เงินทุนต้องเยอะ ซึ่งยิบอินซอย เป็นบริษัทด้านไอที ถือเป็นรายแรกของธุรกิจที่บริษัทฯ ซึ่งเก่งด้านระบบโดยตรงเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ขณะเดียวกันก็มีพันธมิตร ทำให้เรื่องเงินทุนก็ไม่น่าห่วง

อย่างไรก็ดี พบว่ามีหลายความคิดเห็น ที่มองว่า ยิบอินซอย ไม่น่าทำตลาดนี้ไหว แต่ ดร.เอกก์ กลับคิดว่า เรื่องนี้ จะต้องดูกันยาว ๆ ไป และเขื่อว่า น่าจะทำให้แข่งขันกันสนุกมากขึ้น แม้ตลาดจะเติบโตน้อยก็ตาม


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง