TNN ชิ้นส่วนรถยนต์ไทยน่าห่วง คู่แข่งจีนเพิ่ม l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

ชิ้นส่วนรถยนต์ไทยน่าห่วง คู่แข่งจีนเพิ่ม l การตลาดเงินล้าน

ชิ้นส่วนรถยนต์ไทยกลุ่ม OEM หดตัว หลังผลิตรถน้อยลง แต่กลุ่มชิ้นส่วนอะไหล่ที่ใช้ในการซ่อมบำรุงรถยนต์ ยังโตตามรถบนถนนที่เพิ่ม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยแนวโน้มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทย ระบุ ความต้องการชิ้นส่วนรถยนต์ประเภท OEM (Original Equipment Manufacturing) ที่ส่งเข้าสู่สายการผลิตรถยนต์และมีส่วนแบ่งในยอดขายชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในไทยมากถึงกว่า 3 ใน 4 มีแนวโน้มหดตัวในปี 2567 

การผลิตรถยนต์ในไทยปี 2567 คาดหดตัวร้อยละ 11.0 เหลือ 1 ล้าน 6 แสน 4 หมื่นคัน(1.64 ล้านคัน) หลังยอดขายรถในประเทศ หดตัวสูง จากปัญหากำลังซื้อผู้บริโภคที่ชะลอลงส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น อีกทั้งการนำเข้า BEV ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการ EV3.5 ยังทำให้ปริมาณรถที่ผลิตในไทยยิ่งลดลงและแม้จะมีการผลิต BEV ชดเชยจากโครงการ EV 3.0 เข้ามา แต่คาดว่าปริมาณจะยังน้อยมากไม่ถึง 2 หมื่นคัน นอกจากนี้ ชิ้นส่วน OEM ไทยที่สามารถเข้าสายการผลิต BEV ได้อาจเหลือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่ใช้ผลิตรถยนต์นั่งและรถปิกอัพ ในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ราวร้อยละ 60 และร้อยละ 90 ตามลำดับด้วย ทำให้ความต้องการชิ้นส่วน OEM โดยรวมลดลง

ขณะที่ยอดส่งออกชิ้นส่วน OEM ไทยไปต่างประเทศในปี 2567 คาดลดลงร้อยละ 2.9 เหลือ 2 แสน 1 หมื่น 9 พันล้านบาท (2.19 แสนล้านบาท) ผลจากปริมาณการผลิตรถยนต์ในตลาดส่งออกที่หดตัว

ในปี 2567 คาดว่ายอดขาย ชิ้นส่วนอะไหล่ที่ใช้ในการซ่อมบำรุงรถยนต์ หรือ REM ไทยในประเทศน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 สู่ 1 แสน 2 หมื่น 4 พันล้านบาท (1.24 แสนล้านบาท) โดยมีปัจจัยหลักจากปริมาณรถยนต์สะสมบนถนนที่เพิ่มขึ้นในประเทศ

รถยนต์จดทะเบียนสะสมในไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนคาดว่าในปี 2567 จะขึ้นไปสูงถึง 21.26 ล้าน คัน โดยมีสัดส่วนของรถยนต์ที่มีอายุเกิน 7 ปี เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 68 จากผลของภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ ฟื้นตัวทำให้ผู้บริโภคยืดอายุการใช้งานรถยนต์นานขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ชิ้นส่วน REM เพิ่มสูงขึ้น โดยชิ้นส่วน REM ไทยคาดว่าน่าจะมีส่วนแบ่งในตลาดสูงมากกว่าร้อยละ 60 ส่วนที่เหลือคาดเป็นชิ้นส่วน REM นำเข้า โดยมีจีนเป็นประเทศส่งออกหลักมายังไทย

การส่งออกรถยนต์จากจีนที่เริ่มกินส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ส่งออกจากไทย โดยเฉพาะในตลาดหลัก อย่าง อาเซียนที่มากขึ้น จนปีที่แล้วไทยเหลือส่วนแบ่งการนำเข้ารถยนต์ของตลาดอาเซียน (ไม่รวมไทย) เพียงร้อยละ 24.6 

ซึ่งปัจจัยนี้มีผลทำให้ความต้องการใช้ชิ้นส่วน REM ไทยที่ส่งออกไปยังตลาดอาเซียน ลดลงจนเหลือส่วนแบ่งเพียงร้อยละ 19.6 เช่นกัน สวนทางกับการนำเข้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนมีส่วนแบ่งถึงร้อยละ 25.1

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทย มาจากการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีรถยนต์ BEV ซึ่งกระทบโดยตรงต่อความต้องการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ใช้น้ำมัน เมื่อการผลิต BEV น่าจะเริ่มกินส่วนแบ่งของรถยนต์ใช้น้ำมันอย่างรวดเร็วในอีก 1-2 ปีข้างหน้า หลังค่ายรถที่เข้าร่วมโครงการ EV3.0 และ EV3.5 ต้องผลิตรถชดเชยการนำเข้าที่ปัจจุบันมีมากกว่า 100,000 คัน 

นอกจากนี้ แม้จะมีชิ้นส่วนรถยนต์ไทยบางส่วนที่สามารถเข้าสายการผลิตรถยนต์ BEV ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าปริมาณชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิต BEV ลดน้อยลงมาก และยังมีการนำเข้าชิ้นส่วนจากจีนมาผลิตเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งก็จะกระทบโดยตรงต่อชิ้นส่วนรถยนต์ไทย

การแข่งขันกับชิ้นส่วนส่งออกจากจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมากทั้งในประเทศและตลาด ส่งออก โดยเป็นผลทั้งจากการเพิ่มกำลังการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของจีนอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการ ผลิตรถยนต์ในจีนเอง ซึ่งต้องหาตลาดส่งออกเพื่อให้ผลิตได้ต้นทุนต่ำกับการที่รถยนต์ส่งออกจากจีน กำลังเผชิญปัญหาการกีดกันการค้าจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป แคนาดา ซึ่งอาจรวมถึงประเทศพันธมิตร อื่นในอนาคต ทำให้ทั้งรถยนต์จากจีนต้องหาตลาดส่งออกมากขึ้น ทั้งมายังไทยหรือตลาดส่งออกเดิมของไทย ซึ่งก็จะกระทบทั้งชิ้นส่วน OEM และ REM ในประเทศของไทยเอง หรือการจะส่งออกไปยัง ประเทศส่งออกหลักเดิมของไทยที่ลดลงจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นมาก

นโยบายรัฐที่อาจมีผลต่อความต้องการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ เช่น การกำจัดซาก หรือรถเก่าแลกรถใหม่ ที่อาจถูกนำมาพิจารณาใหม่ได้อีกในอนาคต เพื่อรักษายอดการผลิตรถยนต์ใหม่ในประเทศ แม้จะช่วยดึงความต้องการชิ้นส่วน OEM เพิ่มขึ้นได้บ้าง แต่ความต้องการชิ้นส่วน REM ย่อมลดลงจากปริมาณรถเก่าที่หายไป 

อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาทั้งเรื่องงบประมาณ ประเภทรถที่จะสนับสนุนว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้ชิ้นส่วน OEM ในประเทศจริงหรือไม่ รวมถึงตลาดรถมือสอง


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง