ยอดขาย EV ฝืดค่ายรถแตะเบรกปรับแผน l การตลาดเงินล้าน
กระแสรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ทั่วโลก ยอดขายชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดในยุโรป ค่ายรถแตะเบรกปรับแผน
"โร โมชัน" (Rho Motion) ระบุว่า ยอดขายรถ EV ที่นับรวมทั้งแบบแบตเตอรี่ล้วนและไฮบริดเสียบปลั๊ก เดือนสิงหาคม อยู่ที่ 1.47 ล้านคัน ขยายตัวร้อยละ 20 เมื่อเทียบรายปี อานิสงส์จากยอดขายในจีนที่ทำสถิติ แม้ตลาดยุโรปจะชะลอตัวลงมากสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2566 โดยในเดือนสิงหาคม ยอดขายในจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 แตะระดับกว่า 1 ล้านคัน ขณะที่สหภาพยุโรป หรือ EU บวกกับสมาคมการค้าเสรียุโรป ที่มีสมาชิก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ รวมถึงอังกฤษ มียอดขายรวมกว่า 180,000 คัน ส่วนสหรัฐฯ และแคนาดา ยอดขายเพียง 160,000 คัน
ตลาดรถ EV ที่ส่งสัญญาณชะลอตัวทำให้ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายปรับเปลี่ยนแผนเกี่ยวกับการพัฒนาและผลิตรถ EV เริ่มที่ "โตโยต้า มอเตอร์" ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่น ประกาศปรับลดแผนการผลิต EV ราว 1 ใน 3 ภายในปี 2569 ซึ่งภายใต้แผนใหม่ "โตโยต้า" จะผลิตรถ EV ราว 1 ล้านคัน ในปี 2569 เมื่อเทียบกับเป้าหมายยอดขายเดิมที่ประกาศไว้ที่ 1.5 ล้านคัน แต่แม้จะปรับแผนแล้วก็ยังถือเป็นเป้าหมายที่สูง เพราะยอดขายรถ EV ที่ใช้แบตเตอรี่ของ "โตโยต้า" อยู่ที่เพียง 104,000 คัน คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 ของยอดขายรถทั้งหมด 11.23 ล้านคันในปี 2566 แต่ยอดขายไฮบริดของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้น
"โตโยต้า" อธิบายว่า นี่ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนความมุ่งมั่นในการผลิตรถ EV 1.5 ล้านคันต่อปี ภายในปี 2569 และ 3.5 ล้านคันภายในปี 2573 ที่เคยประกาศไว้ แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่เป้าหมาย เป็นแค่เกณฑ์มาตรฐานสำหรับผู้ถือหุ้นและเป็นแนวปฏิบัติสำหรับรองรับความต้องการในอนาคต โดยบริษัทให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้าเป็นอันดับแรก และจำเป็นต้องนำเสนอทางเลือกที่ลูกค้าต้องการในเวลาที่เหมาะสม
"วอลโว่" (Volvo) ค่ายรถจากสวีเดน ซึ่งมีบริษัท "จี๋ลี่" (Geely) จากจีนถือหุ้นใหญ่ ประกาศคว่ำแผนขายเฉพาะรถ EV เพียงอย่างเดียว ภายในปี 2573 โดยอ้างถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติได้จริงและมีความยืดหยุ่นท่ามกลางสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ล่าสุด วอลโว่ ตั้งเป้าให้ยอดขายราวร้อยละ 90-100 มาจากรถ EV แบบใช้แบตเตอรี่ หรือไฮบริดเสียบปลั๊ก ภายใน 6 ปีข้างหน้า และราวร้อยละ 10 ที่เหลือมาจากรถ mild hybrid หรือรถที่ระบบเครื่องยนต์ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า แต่ทั้งแหล่งพลังงานทั้งสองไม่สามารถทำงานแยกจากกันได้เหมือนรถแบบ full hybrid
"ฟอร์ด มอเตอร์" (Ford) ค่ายรถอเมริกัน ระบุเมื่อเดือนสิงหาคม เตรียมปรับลดสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านทุนประจำปีที่เกี่ยวกับรถ EV แบบใช้แบตเตอรี่ล้วน เหลือประมาณร้อยละ 30 จากเดิมที่ตั้งไว้ร้อยละ 40 เนื่องจากบริษัทจะหันมาให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฮบริดมากขึ้น รวมทั้งบริษัทกำลังจะยุติแผนการผลิตรถเอนกประสงค์ (SUV) ไฟฟ้า 3 รุ่น และเลื่อนการผลิตรถกระบะยอดนิยม F-150 ในเวอร์ชัน EV ออกไปก่อน เพื่อลดต้นทุนลง
ส่วนค่ายรถร่วมชาติ "เจเนอรัล มอเตอร์ส" (GM) ก็ปรับลดคาดการณ์การผลิตรถ EV ในปีนี้ลงเมื่อเดือนมิถุนายน จากนั้นอีก 1 เดือนต่อมา บริษัทปฏิเสธที่จะยืนยันเป้าหมายผลิตรถ EV 1 ล้านคันในอเมริกาเหนือ ภายในสิ้นปี 2568 ตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี
ด้าน "โฟล์คสวาเกน" (Volkswagen) ค่ายรถจากเยอรมนี กำลังพิจารณาจะปิดโรงงานในประเทศอย่างน้อย 1 แห่ง และโรงงานประกอบชิ้นส่วนอีก 1 แห่ง นับเป็นครั้งแรกในรอบ 87 ปี ท่ามกลางสภาพแวดล้อมในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ท้าทายมากขึ้นและความจำเป็นในการลดต้นทุน ซึ่งจะทำให้มีการปลดพนักงานครั้งใหญ่ตามมา สะท้อนถึงแรงกดดันด้านราคาที่ผู้ผลิตรถสัญชาติยุโรปต้องเผชิญ เมื่อเทียบกับคู่แข่งจากเอเชีย โดยเฉพาะจีน
"เมอร์เซเดส-เบนซ์" (Mercedes-Benz) ผู้ผลิตรถจากเยอรมนีอีกราย ได้แจ้งต่อผู้ถือหุ้นเมื่อต้นปีนี้ว่า ยอดขายรถ EV ที่รวมทั้งแบตเตอรี่ล้วนและไฮบริด จะมีสัดส่วนร้อยละ 50 ของยอดขายทั้งหมดภายในปี 2573 ซึ่งเป็นการเลื่อนจากแผนเดิมที่วางไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2568 พร้อมกับชะลอแผนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่เนื่องจากความต้องการรถ EV ยังไม่เพิ่มขึ้นมาก
ด้าน "ปอร์เช่" (Porsche) ค่ายรถหรูร่วมชาติ ก็ประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคม ชะลอเป้าหมายยอดขาย EV จากเดิมที่ตั้งเป้าให้ร้อยละ 80 ของยอดขายทั้งหมดเป็นรถ EV ภายในปี 2573 โดยยอมรับว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าน่าจะใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อ 5 ปีก่อน
ข่าวแนะนำ