Negative Income Tax เงินโอนแก้จน สางปมสวัสดิการ
ช่วงนี้มีการพูดถึง Negative Income Tax หรือ เงินโอน แก้จน คนขยัน ที่กระทรวงการคลังเคยศึกษาไว้เมื่อ 10 ปีก่อน เพื่อแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายสวัสดิการภาครัฐที่เพิ่มขึ้นทุกปี พาไปดูว่าโครงการนี้จะมีโอกาสนำมาใช้ได้หรือไม่
ในช่วงนี้หลายคนคงได้ยินคำว่า “Negative Income Tax” โดยรัฐบาลชุดนี้นำเรื่องนี้มาศึกษาอีกครั้ง เป็นสัญญาณว่า อาจนำมาใช้เพื่อบริหารระบบสวัสดิการให้กับคนไทย
Negative Income Tax เคยมีการศึกษาไว้แล้วเมื่อปี 2567 โดยใช้ชื่อโครงการภาษาไทยว่า “เงินโอน แก้จน คนขยัน” หน่วยงานที่ศึกษาและนำเสนอผลงานคือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
แนวทางการช่วยเหลือที่ศึกษาไว้คือ ใช้ระบบภาษีมาช่วยจัดสวัสดิการให้คนไทย โดยรัฐบางจะช่วยเหลือหากรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ มีข้อแม้ว่าคนที่ได้รับสวัสดิการต้องทำงานจึงจะได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ
ผลการศึกษาเมื่อ 10 ปี ข้อเสนอในการช่วยเหลือ เช่น ผู้มีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีจะได้รับเงินโอนจากรัฐบาลใน อัตรา ร้อยละ 20 ซึ่งหมายความว่า ทุกๆ 1 บาทที่ผู้มีเงินได้หามาได้ จะได้รับเงินสมทบจากรัฐบาลอีก 20 สตางค์ “โดยระดับเงินโอนที่สูงที่สุด คือ 6,000 บาท/ปี” โดยคาดว่าผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจะมีจำนวน 18 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 27.5 ของจำนวนประชากรไทยในขณะนั้น และคาดว่าจะทำให้ประชากรประมาณ 1.6 ล้านคนหลุดพ้นจากเส้นความยากจน หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของจำนวนคนจนทั้งหมด
ส่วนงบประมาณคาดว่าใช้งบประมาณทั้งสิ้น 56,000 ล้านบาทต่อปี โดยงบประมาณดังกล่าวมาจากการยกเลิกสวัสดิการพื้นฐานแจกในปัจจุบัน
ประเทศไทยมีการใช้งบประมาณเพื่อจ่ายไปกับสวัสดิการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทางผู้ที่ศึกษาหวังว่า Negative Income Tax จะเป็นเครื่องมือ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการของรัฐลงได้ และยังสามารถลดความซ้ำซ้อนของสวัสดิการที่รัฐให้กับประชาชนโดยพบว่า “ปัจจุบันมีสวัสดิการจ่ายอยู่ประมาณ 20 สวัสดิการ เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เบี้ยยังชีพผู้สูงอาย สวัสดิการคนพิการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้เงินงบประมาณปีละไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท”
การที่จะเดินหน้าระบบ Negative Income Tax นั้น คนที่ต้องการสวัสดิการจากรัฐ จะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในทุกปี กับกรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบรายได้ของคนๆ นั้น ว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐหรือไม่
แต่ถ้าดูผู้เสียภาษีในปัจจุบันพบว่าอยู่ในระบบน้อยมาก “จากแรงงานไทย 40 ล้านคน ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพียง 10 ล้านคน แต่คนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับรัฐมีเพียง 3-4 ล้านคนเท่านั้น”
ประเมินว่า Negative Income Tax จะได้เดินหน้าต่อ เพราะในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาฯ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มีการพูดถึง Negative Income Tax ในสภาฯ ว่า เป็นระบบภาษีรูปแบบใหม่ที่ถูกนำมาบรรจุในแนวนโยบายแห่งรัฐ เพื่อให้เกิดการศึกษาอย่างละเอียด น่าจะใช้เวลาศึกษา 1-2 ปี โดยแนวคิดนี้น่าจะตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ เช่น เรื่องแรงงาน ซึ่งขณะนี้มีมากกว่าร้อยละ 50 อยู่นอกระบบ โดยที่รัฐบาลไม่สามารถช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมได้
ขณะเดียวกันมีประชาชนประมาณ 4 ล้านคนที่มีรายได้ต่ำ และมีประชาชนอีก 5 ล้านคนอยู่ในจุดที่เกือบจน ซึ่งล้วนอยู่ในกลุ่มเปราะบางที่รัฐบาลต้องหาหนทางที่จะต้องช่วยเหลือ และด้วยระบบฐานภาษีที่มีจำนวนประชาชนที่เข้าสู่ระบบค่อนข้างน้อย ทำให้ข้อมูลของรัฐมีไม่เพียงพอในการช่วยเหลือ
ถ้าดูพบว่าตัวเลขคนจนของภาครัฐยังไม่สอดคล้องกัน โดยระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP : Thai People Map and Analytics Platform) พบว่า มีคนจนเป้าหมายตามดัชนีความยากจนหลายมิติ (MPI) 2.5 ล้านคน(สองล้านห้าแสนคน) แต่ถ้าดูตามจำนวนผู้รับบัตรสวัสดิการ มีจำนวน 12.5 ล้านคน(สิบสองล้านห้าแสนคน) ถือว่าแตกต่างกันพอสมควร
สำหรับแนวคิดเรื่อง Negative Income Tax นั้น เป็นแนวคิดที่ในต่างประเทศมีการศึกษามาอย่างยาวนาน การที่รัฐบาลชุดนี้นำมาศึกษาอีกครั้ง “จุลพันธ์ รมช.คลัง” มองว่า เพื่อสร้างตาข่ายรองรับสังคมไม่ให้ใครต้องตกอยู่ในกรอบของความลำบากหรือยากจน โดยมีเกณฑ์หนึ่งที่ระบุถึงเส้นของความยากจน หากประชาชนคนไทยสามารถยื่นแบบภาษี ใครที่เกินกว่าเส้นนี้ก็จะต้องเสียภาษีตามอัตราที่เหมาะสม ในขณะที่คนที่ตกจากเส้นที่รัฐบาลกำหนด รัฐบาลก็จะกลับไปช่วยชดเชยอุดหนุนให้สามารถลืมตาอ้าปากขึ้นได้ ทำให้ทุกคนในประเทศไทยเปลี่ยนแนวความคิดในการประกอบอาชีพ รวมถึงเพิ่มแรงจูงใจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน
หลักที่สำคัญของแนวคิดนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีความกล้าที่จะลงทุน และเดินหน้าชีวิตเพื่อความมั่นคง หรือเข้าสู่ระบบผู้ประกอบการซึ่งมีความเสี่ยง โดยจะทำให้ประชาชนรู้อยู่เสมอว่าข้างหลังยังคงมีรัฐบาลที่จะประคับประคองให้ลุกขึ้นยืนได้ไม่ว่าจะล้มกี่ครั้งก็ตาม
กระทรวงการคลังในฐานะแม่งานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ต้องศึกษาในรายละเอียดให้ครบถ้วนต่อไป ส่วนข้อสงสัยว่าแนวคิดนี้จะเป็นการชดเชยหรือทดแทนสวัสดิการที่มีอยู่หรือไม่นั้น รมช.คลังระบุว่า ในสวัสดิการแต่ละประเภทมีหลักในการคำนวณที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นคนละประเด็น เนื่องจากเป็นคนละวัตถุประสงค์ แต่แน่นอนว่าด้วยเม็ดเงินที่จำกัดของภาครัฐ จำเป็นต้องบริหารจัดการให้เกิดความเหมาะสมต่อไป
ถ้าดูจากการศึกษาในอดีตเมื่อปี 2557 ที่เสนอให้ยกเลิกสวัสดิการที่รัฐดูแล และนำเงินมาดำเนิน Negative Income Tax ถือเป็นเหตุผลหนึ่งที่โครงการนี้ไม่ได้ดำเนินการต่อ โดยรัฐบาลในสมัยนั้นเลือกใช้แนวทาง “ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย หรือโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ” ซึ่งในปีแรกเปิดลงทะเบียน ปี 2559 พบว่ามีผู้มาลงทะเบียนและได้รับสิทธิไปประมาณ 8 ล้านคน โดยในช่วงริเริ่มโครงการนั้นนอกจากช่วยทางการเงินแล้ว จะมีเรื่องการฝึกอาชีพ การช่วยเหลือด้านเงินกู้เพื่อประกอบอาชีพ เพื่อให้หลุดพ้นความยากจน
แต่หลังจากนั้นโครงการนี้ดูเหมือนจะเน้นการแจกเงิน และการช่วยเหลือในรูปแบบตัวเงิน โดยเปิดให้ลงทะเบียนในอีกหลายครั้ง แม้จะมีการปรับปรุงเกณฑ์เข้าร่วมโครงการ เช่น อิงรายได้ครัวเรือน ดูการถือครองที่ดิน ดูการถือครองทรัพย์สิน แต่ตัวเลขล่าสุดพบว่า ผู้มีรายได้น้อยมีจำนวนกว่า 12 ล้านคน ถือว่าเพิ่มขึ้นมาก และต้องใช้งบประมาณในการดูแลเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละกว่า 6 หมื่นล้านบาท ดังนั้นคงต้องรอดูผลการศึกษา Negative Income Tax ว่าจะถูกนำมาใช้แทนโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ได้หรือไม่
ข่าวแนะนำ