TNN สุดยื้อ! "ทัปเปอร์แวร์" ยื่นล้มละลาย l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

สุดยื้อ! "ทัปเปอร์แวร์" ยื่นล้มละลาย l การตลาดเงินล้าน

ทัปเปอร์แวร์ (Tupperware) เข้าสู่กระบวนการล้มละลายแล้ว จากปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่สามารถชำระหนี้มูลค่ากว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เจ้าหนี้ได้

รายงานข่าวจาก บลูมเบิร์ก เผยว่า บริษัท ทัปเปอร์แวร์ แบรนด์ส คอร์ปอเรชัน (Tupperware Brands Corporation) กำลังเตรียมยื่นล้มละลาย ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางความต้องการในสินค้าของบริษัทฯ ดังกล่าวลดลงต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ ทัปเปอร์แวร์ และเจ้าหนี้ ใช้เวลาเจรจายืดเยื้อยาวนาน ซึ่งเจ้าหนี้ได้ผ่อนปรนให้บริษัทฯ มีเวลาในการจัดการกับปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ มาจนถึงปีนี้ โดยมีมูลค่าหนี้กว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ล่าสุด ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ได้ ทั้งยังคงถดถอยลงเรื่อย ๆ จนนำไปสู่ แนวทางที่จะเข้าสู่การคุ้มครองของศาลล้มละลาย อีกทั้ง ได้ว่าจ้างที่ปรึกษากฎหมายและการเงินเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ การตกต่ำของ ทัปเปอร์แวร์ เกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ โดยช่วง 5-6 ปีก่อนการระบาดของ โควิด 19 บริษัทฯ มียอดขายติดลบ ทำให้นักวิเคราะห์บางคน มองเห็นว่าบริษัทฯ กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่อานิสงค์จากช่วงโควิด ทำให้ความต้องการสินค้าของ ทัปเปอร์แวร์ มีมากขึ้น เนื่องจากผู้คนต้องติดอยู่ในบ้าน และมีความจำเป็นต้องเตรียมอาหารเอง รวมถึงจัดเก็บอาหารไว้ภายในบ้าน ซึ่งก็ทำให้ยอดขายสินค้ากระเตื้องขึ้น

เมื่อวิกฤตโควิดได้คลี่คลายทุกอย่างกลับคืนสู่ปกติ แต่ ทัปเปอร์แวร์ กลับประสบปัญหาด้านต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งต้นทุนวัสดุ แรงงาน และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการซื้อสินค้าลดลง จึงส่งผลกระทบอย่างหนักต่อบริษัท และแม้จะมีความพยายามในการพลิกฟื้นธุรกิจ รวมถึงการเปลี่ยน ซีอีโอ และคณะกรรมการอีกหลายคน ที่เป็นส่วนหนึ่งในการจัดการกับปัญหา แต่บริษัทฯ ก็ยังไม่สามารถกลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทัปเปอร์แวร์ เผยว่าบริษัทกำลังหมดทางเลือก และเผชิญกับวิกฤตด้านสภาพคล่อง (ทางการเงิน) และตามมาด้วยการประกาศเมื่อเดือนมิถุนายน ว่าจะปิดโรงงานที่มีแห่งเดียวในสหรัฐฯ และเลิกจ้างพนักงานเกือบ 150 คน 

ถัดมาเพียงวันเดียว หลังมีข่าว ทัปเปอร์แวร์ ก็ออกแถลงการณ์ ระบุว่า บริษัทได้เข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลายในสหรัฐฯ โดยสมัครใจ และในระหว่างนี้ จะขออนุมัติจากศาลเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไป

โดย บริษัทจะยังคงมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรม แก่ลูกค้า ผ่านทางที่ปรึกษาการขาย พันธมิตรผู้ค้าปลีก และทางออนไลน์ และจะขออนุมัติจากศาล เพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการขายของธุรกิจ เพื่อปกป้องแบรนด์อันเป็นเอกลักษณ์ของบริษัท และการเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่บริษัทฯ ที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล

ซึ่งภายหลังการเปลี่ยนทีมบริหารชุดใหม่ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ดำเนินแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้ทันสมัย และเสริมขีดความสามารถแบบ ออมนิแชแนล (Omnichannel) ตลอดจนขับเคลื่อนประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันการเติบโต ซึ่งการดำเนินการหลาย ๆ อย่างมีความคืบหน้าไปมาก

ด้าน ลอรี แอน โกลด์แมน (Laurie Ann Goldman) ประธานและซีอีโอ กล่าวในแถลงการณ์ บอกว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฐานะทางการเงินของบริษัท ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัจจัยท้าทายทางเศรษฐกิจ และจากการพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ แล้ว จึงได้ตัดสินใจ เข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลาย ที่จะเป็นหนทางที่ดีที่สุด และนำพาบริษัทให้เดินต่อไปข้างหน้าได้ และแนวทางนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บริษัทฯ มีความยืดหยุ่นมากพอ ในการขับเคลื่อนธุรกิจ และเปลี่ยนผ่านไปสู่บริษัทดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลักได้ 

ทั้งนี้ ทัปเปอร์แวร์ เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เรียกได้ว่าเป็นขวัญใจของแม่บ้าน ก็ว่าได้ทั้งยังมีส่วนในการสร้างอาชีพให้แก่นักขายอิสระ ด้วยการปฏิวัติโมเดลการขายในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งนักขายอิสระส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และแม่บ้าน และ ณ สิ้นปี 2565 มีจำนวนกว่า 300,000 คน

ผลิตภัณฑ์ของ ทัปเปอร์แวร์ เปิดตัวครั้งแรกในปี 1946 (78 ปีที่แล้ว) ข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัทฯ ดังกล่าว บอกว่า เอิร์ล ทัปเปอร์ (Earl Tupper) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง เกิดไอเดียขึ้น ขณะที่เขาสร้างแม่พิมพ์ในโรงงานพลาสติกแห่งหนึ่ง ซึ่งช่วงนั้น เป็นช่วงหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ หรือ เกรท ดีเพรสชัน (Great Depression) ได้ไม่นานนัก และเขาคิดได้ว่า หากสามารถทำภาชนะหรือกล่องพลาสติกที่มีฝาปิดแบบสุญญากาศออกมาได้ เช่นเดียวกับกระป๋องสี จะทำให้สามารถช่วยเหลือครอบครัวที่เหนื่อยล้าจากสงคราม ให้สามารถประหยัดเงินด้วยการเก็บอาหารที่เหลือไว้ได้ ซึ่งเวลานั้นอาหารมีราคาแพงมาก

แต่ ทัปเปอร์แวร์ อาจจะไม่ประสบความสำเร็จถึงขนาดนี้เลย ก็ได้ ถ้าหากขาดเธอคนนี้ไป ซึ่งก็คือ บราวนี่ ไวส์ (Brownie Wise) แม่บ้าน และคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่เมื่อเธอตัดสินใจเป็นนักขายของแบรนด์ดังกล่าวแล้ว แต่ก็ตัดสินใจว่า จะไม่ขายแบบ door-to-door (หรือเคาะประตูตามบ้านลูกค้า) และเกิดไอเดียการขายรูปแบบใหม่ ซึ่งก็คือ การเชิญเพื่อนบ้านมาร่วมงานปาร์ตี้ของตัวเธอเอง ที่จะมีทั้งของขวัญ และการเล่นเกม โดยมีเป้าหมาย เพื่อ การสาธิตตัวสินค้า ผ่านการเล่นเกมต่าง ๆ เช่น การแข่งใส่น้ำผลไม้ ให้เต็มกล่อง และยังสามารถหักล้างความเชื่อและการต่อต้านการใช้พลาสติกของผู้บริโภคไปในตัวอีกด้วย

ด้วยกลยุทธ์การขายดังกล่าว ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ยังได้ส่งอิทธิพลต่อนักขาย ทัปเปอร์แวร์ ทั่วประเทศให้ทำตาม จนสร้างยอดขายให้เติบโตขึ้นมาก ซึ่งวิธีการขายดังกล่าวถูกเรียกว่า ทัปเปอร์แวร์ ปาร์ตี้ (Tupperware parties) โดยเป็นกลยุทธ์ที่ไม่เพียงช่วยเพิ่มยอดขายให้กับบริษัทเท่านั้น แต่ยังสร้างความสัมพันธ์ และความสนุกสนานให้กับผู้เข้าร่วมงานปาร์ตี้ อีกด้วย

และจากความนิยมอย่างล้นหลาม นี่เอง จึงทำให้ชื่อแบรนด์ ทัปเปอร์แวร์ กลายเป็นคำสามัญ หรือ เจเนอริค เนม ที่ผู้คนใช้เรียกกล่องพลาสติกแบบมีฝาปิด กันไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทฯ จะประสบความสำเร็จ และมีการขยายตลาดไปทั่วโลก (จนทุกครัวเรือนต้องมีสินค้าของทัปเปอร์แวร์อยู่ไม่มากก็น้อย) แต่ปัจจุบัน กลายเป็นบริษัทล้มละลาย (มีหนี้สินล้นพ้นตัว) โดยมีสัญญาณเตือนถึงความสามารถในการดำเนินธุรกิจมาต่อเนื่อง และปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ มีอยู่หลายข้อทีเดียว 

ไม่ว่าจะเป็น พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป, เทรนด์การใช้วัสดุที่ยั่งยืนมากกว่าพลาสติก, ภาพลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่งมีอายุมากขึ้น, การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลที่ไม่แน่นอน ตลอดจน ผลิตภัณฑ์ยังขาดนวัตกรรมใหม่ ๆ และการมีคู่แข่งที่หลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีราคาที่ถูกกว่า 

นอกจากนี้ รูปแบบการขายตรง และการจัดปาร์ตี้ ยังได้รับผลกระทบนับตั้งแต่ช่วงโควิดระบาด รวมถึงได้รับความสนใจน้อยลง โดยเฉพาะจากกลุ่ม เจน ซี

จากความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้ ทัปเปอร์แวร์ ประสบกับยอดขายที่ลดลง หนี้สินสูงขึ้น และทีมบริหารยังถูกวิจารณ์ว่า ให้ความสำคัญกับเงินปันผลของผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นเรื่องระยะสั้น มากกว่าการลงทุนด้านนวัตกรรม ที่จะส่งผลในระยะยาว 

มาดูที่ผลประกอบการของ ทัปเปอร์แวร์ ย้อนหลัง 5 ปี พบว่ามียอดขายลดลงต่อเนื่อง

เริ่มจากปี 2018 บริษัทมียอดขายกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พอปี 2019 ยอดขายลดลงร้อยละ 13.13 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1,798 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และลดลงอีก ในปี 2020 มียอดขายที่ 1,558 คิดเป็นลดลง 13.35 

ส่วนปี 2021 ยอดขายกลับฟื้นขึ้นมาเล็กน้อย อยู่ที่ 1,601 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.75 และปี 2022 ยอดขายอยู่ที่ 1.300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงมากถึงร้อยละ 18.53


สุดยื้อ! ทัปเปอร์แวร์ ยื่นล้มละลาย l การตลาดเงินล้าน

ด้าน รายได้สุทธิ (Net Income) จะเห็นได้ว่า ก่อนหน้าปี 2022 บริษัทมีกำไรเป็นบวกมาตลอด แต่พอมาปีล่าสุด ปี 2022 กลับมีรายได้สุทธิเป็นลบ โดยขาดทุนจำนวน 247 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงสูงถึง 263.51% หรือลดลงมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า


สุดยื้อ! ทัปเปอร์แวร์ ยื่นล้มละลาย l การตลาดเงินล้าน


ขณะที่ราคาหุ้นของ ทัปเปอร์แวร์ นับตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 16 กันยายน 2024 ราคาปิดที่ 51 เซนต์ คิดเป็นลดลงไปถึงร้อยละ 74.5 ทีเดียว

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง