TNN ค่าไฟไทยแพงกว่าเวียดนาม เอกชนเรียกร้องดูแล กังวลแข่งขันยาก

TNN

เศรษฐกิจ

ค่าไฟไทยแพงกว่าเวียดนาม เอกชนเรียกร้องดูแล กังวลแข่งขันยาก

ค่าไฟถือเป็นต้นทุนหนึ่งของภาคธุรกิจ ถ้าดูแนวโน้มค่าไฟของไทย ไม่น่าจะถูกลงในช่วง 1-2 ปีนี้ เพราะยังมีหนี้ค่าไฟต้องทยอยใช้คืนกว่า 1 แสนล้านบาท ตรงนี้อาจกระทบความสามารถของผู้ผลิตไทย

ภาคเอกชนของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลโครงสร้างค่าไฟของไทย ไม่ให้แพงกว่าประเทศคู่แข่ง ไม่เช่นนั้นกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในเรื่องของราคาสินค้าที่ส่งออก และการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ย้ำถึงเรื่องนี้อีกครั้งในงาน งานสัมมนา “Accelerate Thailand ขับเคลื่อนไทยไปเชื่อมโลก” ของ TNN ช่อง 16  ที่จัดไปเมื่อวันจันทร์ที่ 9 กันยายน ว่า “ค่าไฟของไทยอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ถือว่าแพงกว่าคู่แข่งกว่า 1 เท่าตัว แค่เปิดเครื่องผลิตสินค้าไทยก็แพ้เขาแล้ว โดยค่าไฟของเวียดนามอยู่ที่ 2.70 บาทต่อหน่วย ขณะที่อินโดนีเซียอยู่ที่ 3.33 บาทต่อหน่วย” 

นอกจากการผลิตของไทยสู้เวียดนามไม่ได้แล้ว ยังทำให้ต่างชาติที่จะมาลงทุนในไทย นำเรื่องนี้มาพิจารณาด้วย อาจทำให้ไทยเสียโอกาสในการดึงดูดการลงไทย 

ก่อนหน้านี้สมาชิก ส.อ.ท. พูดมาตลอดคือ ต้องการให้ภาคอุตาสหกรรมแข่งขันได้ในเชิงเปรียบเทียบ กับคู่แข่งในภูมิภาค โดยเฉพาะ เวียดนาม กับอินโดนีเซีย ที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ในภูมิภาค และมีสินค้าหลายอย่างที่เหมือนกับไทย

ภาคเอกชนหวังว่ารัฐบาลใหม่ จะมีการดูแลค่าไฟเป็นการเร่งด่วน รวมถึงต้องสนับสนุนในเรื่องพลังงานหมุนเวียน พลังงาน 

สะอาดเข้ามาเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการผลิตของโลก มุ่งไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวมากขึ้น 

ด้านคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พยายามเข้ามาดูแลผลกระทบค่าไฟในภาคธุรกิจ โดยในการประชุม กกพ. เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม มีมติให้สำนักงาน กกพ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมกันศึกษาข้อมูล เพื่อทบทวนและวางแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3 กิจการขนาดกลาง, ประเภท 4 กิจการขนาดใหญ่, ประเภท 5 กิจการเฉพาะอย่าง และอื่นๆ โดยมีเป้าหมาย “หาแนวทางในการคืนเงินหลักประกัน” เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจต่อไป

ถ้าไปดูรายละเอียด พบว่า “กฟภ. มีหลักประกันการใช้ไฟฟ้าในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3, 4 และ 5 ทั้งในรูปแบบเงินสด พันธบัตร และหนังสือค้ำประกันโดยธนาคาร (Bank Guarantee) มีมูลค่ารวมกันประมาณ 44,000 ล้านบาท “แบ่งเป็นพันธบัตร และ Bank Guarantee กว่าร้อยละ 77

สำหรับ “กฟน. มีเงินประกันการใช้ไฟฟ้าในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3, 4 และ 5 ประมาณ 13,000 ล้านบาท” โดยเป็นเงินสด ประมาณ ร้อยละ 30 และที่เหลือเป็น Bank Guarantee 

ทั้ง กฟน. และ กฟภ. ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์จากเงินประกันค่าไฟภาคธุรกิจ โดยได้ฝากหลักประกันที่เป็นเงินสดไว้กับธนาคาร เพื่อรอคืน และชำระคืนดอกเบี้ยให้แก่ผู้วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้า แต่การคืนเงินอาจไม่ง่าย เพราะเมื่อไปดูการขายไฟฟ้าของไทยให้กับภาคธุรกิจ พบว่า มีรูปแบบเป็นการให้บริการไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้าก่อนแล้วจึงเรียกเก็บเงินภายหลัง ดังนั้น การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจึงมีการกำหนดให้มีการเรียกเก็บประกันการใช้ไฟฟ้า เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงของภาครัฐในกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ชำระค่าไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะคืนเงินประกันได้หรือไม่ 

ล่าสุด สำนักงาน กกพ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย กำลังร่วมกันศึกษาข้อมูลหรือ Profile ในเชิงลึกของธุรกิจต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและความเสี่ยงของธุรกิจแต่ละประเภทอีกครั้งก่อนเสนอให้กกพ. พิจารณาตัดสินใจว่าจะคืนหรือไม่อย่างไร

สำหรับคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย ซึ่งก่อนหน้านี้ กกพ. ได้มีมติให้คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็กทั้งหมด และได้รับรายงานแม้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายยังคงทยอยคืนเงินประกันอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมียอดเงินคงค้างที่ต้องคืนอีกกว่าครึ่ง

ส่วนหนึ่งเกิดจากเจ้าของมิเตอร์อาจไม่ใช่ผู้พักอาศัยในปัจจุบัน โดยก่อนหน้านี้ได้ผ่อนปรนเงื่อนไขโดยให้ทายาทหรือผู้ใช้ไฟฟ้าปัจจุบันแสดงหลักฐานที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้วางเงินค้ำประกัน หรือหลักฐานการซื้อขายบ้านที่อยู่อาศัยเพื่อรับสิทธิขอรับเงินดังกล่าวคืน แต่ยังไม่สามารถคืนได้ไม่หมด ซึ่งคงต้องมีประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมเพื่อเร่งรัดการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าต่อไป

สำหรับแนวโน้มค่าไฟในปีหน้า (2568) มีการประเมินจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ว่า ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2568 มีสัญญาณอ่อนตัวลง คาดว่าราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จะต่ำกว่า 13 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากที่คาดว่าช่วงปลายปี 2567 ราคา LNG เคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูง เพราะประเทศในแถบยุโรปจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงจำนวนมากในช่วงฤดูหนาว 

จากแนวโน้มราคาพลังงานลดลงช่วงต้นปี เป็นสัญญาณบวกที่จะทำให้มีโอกาสเห็นค่าไฟงวดเดือนมกราคม - เมษายน 2568 “ตรึงราคาอยู่ในอัตราเดิม 4.18 บาทต่อหน่วยได้” แต่ต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลว่าจะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ “รวมถึงการบริหารจัดการหนี้กว่า 110,000 ล้านบาท” โดยเรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกำหนดค่าไฟในปีหน้า ถ้าชำระหนี้คืนน้อยค่าไฟอาจไม่ต้องปรับขึ้น แต่ระยะเวลาในการชำระหนี้นานขึ้นไปอีก และจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระเงินกู้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) รวมถึงการถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน คงต้องชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะกฟผ.ถือเป็นรัฐวิสาหกิจของไทย ถ้ามีปัญหาชำระหนี้อาจกระทบต่อเครดิตรัฐบาลไปด้วย

ด้าน องค์กรส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและต่อต้านการผูกขาด ได้จัดเสวนา "สาเหตุไฟฟ้าแพง ประชาชนเดือดร้อนเพราะใคร ?"  ซึ่งในวงเสวนามองตรงกันว่า ค่าไฟในอนาคตมีแนวโน้มแพงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือ PDP 2024

 ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ตัวแทนพรรคประชาชน ระบุว่า  ค่าไฟฟ้าที่แพงเกิดจากการวางแผนระบบพลังงานที่ผิดพลาดและการทำสัญญาผูกมัด ทำให้ภาระตกมาอยู่ที่ภาคประชาชน โดยมองว่า  PDP 2024 ส่งผลให้ค่าไฟแพงกว่าราคาที่ควรจะเป็น ถึง 60 สตางค์ต่อหน่วย

สาเหตุหลักที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น มาจาก 3 ปัจจัยคือ

1. ปัญหาโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ค่าไฟแพงขึ้น 50 สตางค์ต่อหน่วย  ส่วนหนึ่งเกิดจากการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงกว่าความเป็นจริง และถ้าดูจากสถิติพบว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง แต่การคาดการณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในแต่ละแผนกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งร่างแผน PDP 2024 ได้ประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินกว่า 99,000 จิกะวัตต์-ชั่วโมง (Gwh) หรือร้อยละ 43 และปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าล้นเกินกว่าร้อยละ 50 ซึ่งการตั้งเกณฑ์โรงไฟฟ้าสำรองที่สูงเกินจริง และการปรับดัชนีการเกิดไฟฟ้าดับ จาก 1 วันต่อปี เหลือ 0.7 วันต่อปี ส่งผลให้ไทยต้องมีโรงไฟฟ้าสำรองเพิ่มมากขึ้น ทำให้ค่าไฟแพงขึ้น

2. ปัญหาการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเป็นข้ออ้างที่ต้องสร้าง LNG terminal เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟแพงขึ้น 5 สตางค์ต่อหน่วย

3. ปัญหาไม่ต่อสัญญาเขื่อนเก่าที่ถูก แต่สร้างเขื่อนใหม่ที่แพง ส่งผลให้ค่าไฟแพงขึ้น 3 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งแผน PDP 2024 มีสมมุติฐานว่าจะไม่ต่อสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนในลาวจำนวน 4 เขื่อน กำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,269 เมกะวัตต์ เสียค่าไฟอยู่ที่ 1.78 บาทต่อหน่วย โดยต่อสัญญากับเขื่อนที่สร้างใหม่ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 3,500 เมกะวัตต์ เสียค่าไฟอยู่ที่ 2.80 บาทต่อหน่วย

ข่าวแนะนำ