เจาะเบื้องหลังอาณาจักร "คุกกี้กล่องแดง" l การตลาดเงินล้าน
เคซีจี คอร์ปอเรชั่น เจ้าของคุกกี้กล่องแดง อิมพีเรียล แต่หากพูดถึงผลิตภัณฑ์ ทำรายได้หลักคือ เนย และชีส แบรนด์ อลาวรี่ พาไปส่องกลยุทธ์ KCG ตั้งเป้าหมายเป็นธุรกิจ 10,000 ล้าน
บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น มีชื่อเดิมว่ากิมจั๊วพาณิชย์ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2501 ปัจจุบันมีอายุถึง 66 ปีแล้ว ดำเนินธุรกิจเป็นทั้งผู้นำเข้า ผู้ผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค ใน 3 กลุ่ม หลัก ๆ ได้แก่
กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ประเภท เนย และชีส ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 57.1 (เป็นตัวเลขของปี 2566) // ถัดมา เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับการประกอบอาหารและเบเกอรี่ และอื่น ๆ สัดส่วนรายได้อยู่ที่ร้อยละ 28.8 และกลุ่มผลิตภัณฑ์ บิสกิต (ขนมสำเร็จรูป) มีสัดส่วนรายได้ อยู่ที่ร้อยละ 14.1
ปี 2566 ที่ผ่านมา เคซีจี มียอดขายรวมอยู่ที่ 7,157 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าร้อยละ 16.2 และมีกำไรสุทธิ 305.9 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 26.9
ขณะที่ช่วงครึ่งปีแรก ปี 2567 มีผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง มียอดขายรวมจำนวน 3,474.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรสุทธิ 166.2 ล้านบาท เติบโตอีก ร้อยละ 52.2
ข้อมูลจาก เอซี นีลเส็น ยังพบว่า ผลิตภัณฑ์เนย และชีส ของ เคซีจี มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ถึง 8 ปีติดต่อกัน โดย เนย มีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 55 ของตลาดรวม ขณะที่ ชีส ส่งแบ่งร้อยละ 31.6
คุณ ดำรงชัย วิภาวัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ ของ เคซีจี กล่าวว่า บริษัทฯ มีเป้าหมายการเติบโตสู่ระดับ 10,000 ล้านบาท ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันดำเนินกลยุทธ์หลายด้านเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว และหนึ่งในนั้นคือ การลงทุนก่อสร้าง เคซีจี โลจิสติกส์ พาร์ก หรือ ศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า ด้วยงบลงทุนกว่า 350 ล้านบาท
ซึ่งคลังสินค้าแห่งนี้จะเป็นแรงผลักดันไปสู่เป้าหมาย ด้วยการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง และช่วยลดค่าเช่าคลังสินค้าจากภายนอก อีกทั้ง ยังสามารถเปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อสร้างรายได้ในอนาคต
โดยที่คลังสินค้าแห่งใหม่ ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็น ระบบการจัดการคลังสินค้า (WMS) ระบบบริหารจัดการขนส่ง (TMS) ระบบคลังสินค้าพร้อมจัดส่ง (ฟูลฟิวเมนต์) รวมถึง ระบบจัดเก็บคลังสินค้ากึ่งอัตโนมัติ หรือชั้นวางระบบกระสวย และระบบติดตามยานพาหนะแบบเรียลไทม์
คุณ ดำรงชัย ขยายความด้วยว่า การกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยส่งสินค้าไปยังลูกค้าในเวลาที่รวดเร็วมากขึ้น โดยคำนวณระยะเวลาการจัดส่งตามรัศมีของพื้นที่ของลูกค้า เช่น สามารถขนส่งได้ภายใน 24 ชั่วโมง ในระยะรัศมี 100 กิโลเมตร จากจุดกระจายสินค้า ด้วยรถบริการขนส่งที่มีมากกว่า 150 คัน และยังมีแผนจะเปลี่ยนเป็นรถ อีวี ให้ได้ร้อยละ 30 ภายใน 3 ปีข้างหน้าอีกด้วย
ด้านการขยายตลาด ผู้บริหาร เคซีจี กล่าวว่า มีโอกาสทั้งใน และต่างประเทศ โดยในประเทศไทย พบว่าการบริโภค ชีส และเนย ของคนไทย ยังมีสัดส่วนที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ดังนั้น จะมุ่งทำแผนการตลาดเพื่อสร้างความสนใจในการกินเนย และชีส ในรูปแบบใหม่ ๆ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่นิยมเนย และชีส กันมากขึ้น
ส่วนตลาดต่างประเทศ มองว่ายิ่งมีโอกาสเติบโตมาก เพราะปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกของบริษัทฯ ยังมีไม่มากนัก คือมีเพียง ร้อยละ 3.5 ของรายได้ของบริษัทฯ โดยเป้าหมายในระยะแรก จะเน้นไปในกลุ่ม ซีแอลเอ็มวี ก่อน
ข่าวแนะนำ