TNN ไปต่อไม่ไหว? ค้าปลีกไทยเจอศึกรอบด้าน l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

ไปต่อไม่ไหว? ค้าปลีกไทยเจอศึกรอบด้าน l การตลาดเงินล้าน

ข่าวห้างค้าปลีกรายใหญ่ไปต่อไม่ไหว ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอ การแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศ ธุรกิจค้าปลีกไทย ยังมีโอกาสที่จะสู้ เพื่ออยู่รอดอย่างไร

ปีนี้ ห้างค้าปลีกดั้งเดิม(ระดับตำนาน) ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อย่างน้อย 3 ราย ที่ปิดดำเนินการ และขายกิจการ ในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้แก่ ตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี, แฟรี่แลนด์ นครสวรรค์ และ กาดสวนแก้ว

ซึ่ง ตั้งฮั่วเส็ง เป็นห้างเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานถึง 62 ปี เผชิญกับวิกฤตมาก็หลายครั้ง หลายครา ล่าสุดประกาศปิดทำการ ตั้งฮั่วเส็ง สาขาธนบุรี แต่วันที่ 10 กันยายน 2567 เป็นต้นไป ซึ่งสาขาธนบุรีแห่งนี้ ก็เปิดทำการมานานกว่า 32 ปี ซึ่งบริษัทฯ ระบุว่า อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา และจะกลับมาเปิดอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ มติชน รายงานว่า ก่อนหน้านี้ กรมบังคับคดีได้ขายทอดตลาด ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ศูนย์การค้าตั้งฮั่วเส็ง สาขาธนบุรี ให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว เป็นมูลค่ากว่า 900 ล้านบาท 

ส่วนอีกราย คือ แฟรี่แลนด์ ห้างที่อยู่คู่กับชาวปากน้ำโพ หรือจังหวัดนครสวรรค์ มาตั้งแต่ปี 2530 หรือ 37 ปีที่แล้ว และเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพจข่าวท้องถิ่นที่ชื่อ ข่าวนครสวรรค์ - KNSN รายงานว่า ห้างดังกล่าว กำลังประกาศขายกิจการ (มีที่ดิน และอาคาร 5 ชั้น) เป็นมูลค่า 550 ล้านบาท แต่ แฟรี่แลนด์ ยังมีบางส่วนที่เปิดให้บริการอยู่

มาอีกราย เป็นห้างใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ คือ กาดสวนแก้ว เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2535 และหากนับจนถึงปัจจุบัน มีอายุกว่า 32 ปี ซึ่งนอกจากตัวห้างสรรพสินค้าแล้ว ยังมีโรงแรม และสำนักงาน อยู่ภายในโครงการเดียวกัน โดยกาดสวนแก้ว ปิดกิจการไปตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 และในปีนี้ ธนาคารกรุงไทย ได้ติดป้ายประกาศขาย เป็นมูลค่าถึง 3,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ สาเหตุหลักโดยรวม เกิดจากการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และการขาดสภาพคล่องทางการเงิน 


ไปต่อไม่ไหว? ค้าปลีกไทยเจอศึกรอบด้าน l การตลาดเงินล้าน


อย่างไรก็ดี ยังมีห้างค้าปลีกระดับตำนานอีกหลายราย ที่ยังคงเปิดดำเนินการอยู่ ไม่ว่าจะเป็น พาต้า ปิ่นเกล้า ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2525 ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 42 แล้ว อิมพีเรียลเวิลด์ สำโรง ซึ่งอยู่ยาวนานมาถึง 41 ปี และ อิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว ให้บริการมากว่า 30 ปีแล้ว ส่วนมาบุญครอง ที่รีแบรนด์ มาเป็น MBK เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2528 ปัจจุบันมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง ดึงดูดนักชอปทั้งคนไทยและต่างชาติ 

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเฉพาะปัจจัยทางเศรษฐกิจเท่านั้น ที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มค้าปลีกดั้งเดิม แต่ยังเกิดจากการแข่งขันที่มีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งจากธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้ามามากขึ้น อนาคตของค้าปลีกไทย จะเป็นอย่างไร จะไปฟังมุมมองจาก ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 


ข่าวแนะนำ