TNN "อีอีซี"เร่งดันเมืองการบินอู่ตะเภา เริ่มต้นปี 68 | เศรษฐกิจ insight

TNN

เศรษฐกิจ

"อีอีซี"เร่งดันเมืองการบินอู่ตะเภา เริ่มต้นปี 68 | เศรษฐกิจ insight

อีอีซีเร่งดันเมืองการบินอู่ตะเภา เริ่มก่อสร้างต้นปี 68 กางแผนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ลงทุนเกือบ 65,000 ล้าน พัฒนาพื้นที่รอบสถานีฉะเชิงเทรา-พัทยา

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC) ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า การพัฒนาในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในจังหวัดระยองและชลบุรี ทั้งการพัฒนาเส้นทางรถไฟในพื้นที่อีอีซีโดยรอบ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 9 สถานี จะมีการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีระบบขนส่งมวลชน หรือ TOD ที่สถานีฉะเชิงเทรา และสถานีพัทยา


โดยสถานีฉะเชิงเทรา พื้นที่ 321 ไร่ เงินลงทุนประมาณ 18,980 ล้านบาท ในระยะเร่งด่วนจะพัฒนาโครงการศูนย์สนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง ส่วนระยะ 5 ปี พัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ร้านค้าชุมชน (OTOP) โครงการที่อยู่อาศัยชั้นดี อาคารสำนักงาน และระยะยาว 10 ปี พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โรงแรมย่านการค้า


ส่วนที่สถานีพัทยา พื้นที่ 280 ไร่ เงินลงทุนประมาณ 46,000 ล้านบาท ในระยะสั้น 1-5 ปี พัฒนาโครงการศูนย์ขนส่งต่อเนื่อง (ITF) แบบ Mixed Use Complex ระยะยาว 6-10 ปี โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยย่านพาณิชยกรรมใหม่ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า (MICE)


ขณะที่ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก พื้นที่กว่า 6,500 ไร่ มีการส่งมอบพื้นที่โครงการฯ ส่วนแรกให้กับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA แล้ว 3,550 ไร่ คาดว่าจะสามารถแจ้งเริ่มงานก่อสร้างได้ภายในต้นปี 2568 เช่น อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 อาคารเทียบเครื่องบินรอง และศูนย์ธุรกิจการค้า ซึ่งคาดว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ จะสามารถเปิดให้บริการในปี 2572 ส่วนการก่อสร้างทางรันเวย์ที่ 2 โดยกองทัพเรือ อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้าง และที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2571


ด้าน นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA  เปิดเผยว่า ความคืบการดำเนินการในส่วนของUTA เพื่อพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ได้พัฒนาการออกแบบพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ตลอด 2-3 ปี จนล่าสุดได้แบบที่ลงตัว จะมีการพัฒนาอาคารผู้โดยสารใหม่ 2 อาคาร เป็นอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคน และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 4 อีก 30 ล้านคน 


ขณะที่การพัฒนาเมืองการบิน มีการพัฒนาแนวคิดมาเรื่อย ๆ ซึ่งล่าสุด จะเป็นเมืองที่จะตอบโจทย์ทั้งการท่องเที่ยว และการจัดกิจกรรม ได้มีการหารือกับภาครัฐ เพื่อดึงการแข่งขันรถฟอร์มูล่าวันเข้ามาจัดในพื้นที่ ซึ่งการพัฒนาอยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมและเมื่อเงื่อนไขจากภาครัฐมีความชัดเจน  UTA ก็พร้อมที่จะดำเนินการลงมือก่อสร้างทันที


นอกจากนี้เงื่อนไขสำคัญในการก่อสร้างและพัฒนาในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ยังต้องรอความชัดเจนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เนื่องจากทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงและการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงการที่เชื่อมโยงกัน ทั้งก่อสร้างและการให้บริการจะต้องเกิดความชัดเจน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการลงทุน


ที่มา TNN

ข่าวแนะนำ