ปลุกกระแสเศรษฐกิจนอกระบบ ดึงรายได้เข้ารัฐ
เศรษฐกิจนอกระบบ ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง และยิ่งน่าสนใจมากขึ้นเมื่อเป็นการพูดโดย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วันนี้พาไปทำความรู้จักว่าเศรษฐกิจนอกระบบในไทยมูลค่ามากน้อยแค่ไหน และมีโอกาสดึงเข้ามาอยู่ในระบบหรือไม่
เศรษฐกิจนอกระบบ เป็นที่น่าสนใจ เพราะ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีการพูดถึงหลังจากที่ แพทองธาร ชินวัตร ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงไม่กี่วัน
ทักษิณ มองว่า เศรษฐกิจในระบบของไทยมีไม่ถึง 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจนอกระบบ ตรงนี้ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจนอกระบบของไทยมีขนาดใหญ่มาก ถ้ามีการนำเศรษฐกิจนอกระบบหรือเศรษฐกิจใต้ดิน ดันขึ้นมาอยู่บนดินได้อีกร้อยละ 50 ก็ทำให้ผลิตพันธ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีไทยโตได้อีกร้อยละ 50
ทักษิณ พูดถึงการพนันออนไลน์ว่า มียอดฝาก 3 ล้านล้านต่อปี และทำให้คนไทยขาดทุนประมาณ 5 แสนล้านบาท ถ้ามีการเก็บภาษีร้อยละ 30 ทำให้ได้เงินถึง 3 หมื่นล้านบาท และสามารถนำเอาภาษีที่ได้จากตรงนี้ ส่งเด็กไทยไปเรียนต่างประเทศ หรือจ้างครูเก่งๆ จากต่างประเทศมาสอนนักเรียนในประเทศได้
ส่วนในเรื่องสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ในอดีต ทักษิณ ระบุว่า คิดไว้แล้ว แต่ถูกต้านมาก แต่มาปัจจุบันพบว่ามีคนเห็นด้วยกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เพราะสถานบันเทิงครบวงจร พื้นที่เป็นกาสิโนมีไม่ถึงร้อยละ 10 แต่มีในส่วนอื่นๆ เช่น สวนสนุก และโรงแรม และถ้าลงทุนใน กทม.ใช้เงินกว่า 1 แสนล้านบาทต่อเห่ง ส่วนในต่างจังหวัดต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท
พาไปดู “ความหมายของ เศรษฐกิจนอกระบบ ( Informal Economy/Shadow economy) ตามคำนิยามขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่า เศรษฐกิจนอกระบบเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่มีการบันทึกไว้ในระบบบัญชีประชาชาติ ซึ่งถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่ไม่ถูกเรียกเก็บภาษีจากรัฐ และไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเหมือนภาคเศรษฐกิจที่อยู่ในระบบ เช่น หาบเร่ แผงลอย ซื้อขายของเก่า การพนันในรูปแบบต่างๆ ที่ยังผิดกฎหมายของไทย”
ปัญหาที่ตามมาจากเศรษฐกิจนอกระบบ คือ รัฐเก็บภาษีได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับธุรกิจที่อยู่ในระบบ เสียภาษีถูกต้อง และในกรณีเป็นธุรกิจผิดกฎหมายก็อาจนำไปสู่ปัญหาการฟอกเงินและอาชญากรรมได้
จากเอกสาร “กรอบแนวคิดและบทบาทของเศรษฐกิจนอกระบบ” จัดทำโดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร, สังศิต พิริยะรังสรรค์ และนวลน้อย ตรีรัตน์ ระบุไว้ว่า เศรษฐกิจนอกระบบมักจะหมายถึง ธุรกิจกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ธุรกิจผิดกฎหมายหรือธุรกิจสีเทา ,ธุรกิจที่หลีกเลี่ยงภาษีในรูปแบบต่างๆ , การคอร์รัปชั่นทั้งในภาครัฐบาลและภาคเอกชน ,ธุรกิจอาชีพอิสระ
ทางศูนย์วิจัยธนาคารรุงไทย หรือ Krungthai COMPASS ได้ออกรายงาน เกี่ยวกับเศรษฐกิจนอกระบบของไทย โดยระบุว่า “เศรษฐกิจนอกระบบของไทยมีขนาดใหญ่คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 48.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP และเศรษฐกิจนอกระบบของไทยสูงเป็นอันดับ 14 ของโลก จาก 158 ประเทศ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลของธนาคารโลก (World bank)
ถ้าเทียบไทยกับค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ร้อยละ 32.7 ไทยถือว่าสูงกว่ามาก และสูงกว่าเกือบทุกประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ซึ่งมีสัดส่วนเศรษฐกิจนอกระบบต่อ GDP ที่เฉลี่ยเพียงร้อยละ 26.7”
ความใหญ่ของเศรษฐกิจนอกระบบนั้น นำมาสู่ความท้าทายในหลายด้าน เช่น รายได้ของประเทศและความสามารถในการแข่งขันอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำสูง โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำระหว่างรายใหญ่กับรายเล็ก
สอดคล้องกับข้อมูลธนาคารโลก( World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ที่ชี้ว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่มีแนวโน้มในการรับมือปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้อยกว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดเล็ก
ตรงนี้สะท้อนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 ของไทยต่ำกว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจนอกระบบเล็กกว่า และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ช้ากว่า
ขณะนี้เกิดภาพสะท้อนความรุนแรงของปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบของไทย ในหลายประเด็น
-เศรษฐกิจนอกระบบทำให้มีผู้ที่อยู่ในฐานระบบภาษีน้อย จากประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียง 10-11 ล้านคน และมีผู้ที่มีภาระภาษีต้องจ่ายแค่ราว 4 ล้านคนเท่านั้น ทำให้ภาครัฐมีฐานรายได้ที่แคบ และไม่เพียงพอต่อการรองรับรายจ่ายสวัสดิการที่จะเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย
-แรงงานเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า มีแรงงานนอกระบบอยู่ราว 20 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 51 ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่มีผลิตภาพแรงงานต่ำ มีความเปราะบางจากการขาดความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคม
-หนี้นอกระบบอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ที่สูงกว่าร้อยละ 90 ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 76 เมื่อ 10 ปีก่อน แต่ในจำนวนนี้ยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบ ซึ่งอาจมีมูลค่าสูงเกือบ 4 ล้านล้านบาทเป็นการประเมินจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งถ้ารวมหนี้นอกระบบ หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อาจสูงถึง 110%
-ความเหลื่อมล้ำสูง โดยข้อมูลจากธนาคารโลก ชี้ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่งสูง โดยคนไทยที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 10 อันดับแรกๆ มีสัดส่วนร้อยละ 48.8 ขณะที่คนไทยที่มีความมั่งคั่งสูงสุดร้อยละ 10 แรก คิดเป็นสัดส่วนร้ยอละ 74.2 ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศในอาเซียน
-มีธุรกิจนอกระบบจำนวนมาก ตรงนี้ดูจากจํานวน SME ที่มีอยู่ราว 3.2 ล้านราย(สามล้านสองแสนราย) แต่เป็นนิติบุคคลเพียง 840,000 ราย หรือคิดเป็น ร้อยละ 26 ซึ่งหมายความว่า มี SME จำนวนมากถึง 2.4 ล้านราย(สองล้านสี่แสนราย) หรือร้อยละ 74 ที่ไม่มีข้อมูลงบการเงินในระบบฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้อาจไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบธนาคารพาณิชย์ได้ หรือเผชิญต้นทุนที่สูง จากการกู้สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อไปดำเนินธุรกิจ
ทางธนาคารกรุงไทย มองว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องลดขนาดเศรษฐกิจนอกระบบ เพื่อตอบโจทย์การเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งมีเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ 3 เรื่องคือ
1.ลดต้นทุนแฝงจากเศรษฐกิจนอกระบบ ผลักดันขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยอาศัยข้อมูล เป็น Data Driven Economy และต้องเปิดกว้าง โปร่งใส นำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง ครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำ
2.เร่งส่งเสริม SME เข้าสู่ธุรกิจในระบบ โดยมีแรงจูงใจ(Incentive) ที่เหมาะสม เช่น การเข้าสู่ระบบหรือการเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายจะสามารถเข้าร่วมโครงการภาครัฐต่างๆ ได้
3.แก้หนี้นอกระบบ ภาครัฐต้องเร่งเครื่องในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะหนี้นอกระบบ หลังผลสำรวจพบว่าครัวเรือนมีโอกาสที่จะพึ่งพาหนี้นอกระบบมากขึ้น
ถ้าไปดูพบว่า ไทยมีสัดส่วนรายได้ภาษีลดลงมาก “เมื่อปี 2554 ไทยมีรายได้จากภาษีในสัดส่วนร้อยละ 16 แต่ผ่านมากว่า 10 ปี ในปี 2566 ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 14 เท่านั้น” ส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจนอกระบบ เช่น ธุรกิจขนาดกลางไปถึงขนาดเล็กหรือธุรกิจส่วนตัวที่ไม่เสียภาษี โดยพบว่าธุรกิจดังกล่าวมีจำนวนมากขึ้นต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
การเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบ จึงเป็นรากฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย
ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบถือเป็นเรื่องเร่งด่วนในการจัดการ เพราะหากสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบจะทำให้ไทยมีฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
ข่าวแนะนำ