ครีเอเตอร์ไทยพุ่ง 9 ล้านคน ทำแข่งขันสูง l การตลาดเงินล้าน
"ครีเอเตอร์" กลายเป็นอาชีพในฝันของหลาย ๆ คน ปัจจุบันประเทศไทย มีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ มากถึง 9 ล้านคน มีมูลค่าตลาดประมาณ 45,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน ทั่วโลกมีคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ อยู่ประมาณ 200 ล้านคน ซึ่งเป็นข้อมูลสถิติจาก ลิงก์ทรี (Linktree) หรือคิดเป็น ประมาณร้อยละ 3 จากประชากรโลกทั้งหมด และยังพบว่า ปีนี้ (2567) เป็นปีที่ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั่วโลก เปลี่ยนมาทำเป็นแบบ ฟูล ไทม์ (หรือทำเป็นอาชีพหลัก) มากที่สุด
ส่วนประเทศไทย มีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ มากถึง 9 ล้านคน (จากจำนวนประชาชน ประมาณ 70 ล้านคน) ซึ่งครอบคลุม ทั้งระบบ นาโน, ไมโคร และ เมกา ครีเอเตอร์ มีทั้งทำเป็น พาร์ท ไทม์ และ ฟูล ไทม์ ซึ่งกลุ่มที่ทำเป็นแบบ ฟูล ไทม์ นั้น มีตัวเลขอยู่ประมาณ 2 ล้านคน
ตัวเลขดังกล่าว สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้โซเชียลเมีเดีย ของไทย ที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก จากการที่คนไทย มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 89.5 มีช่องทางโซเชียลมีเดียมากถึง 50 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 71.5 ของประชากรทั้งหมด
ด้านมูลค่าตลาดทั่วโลก ปัจจุบัน มีมูลค่าอยู่ที่ 5 ล้าน 5 แสน ล้านบาท ส่วนไทยเอง มีมูลค่าตลาด อยู่ที่ประมาณ 45,000 ล้านบาท ซึ่งไม่นับรวมตลาดโฆษณาดิจิทัล และมีอัตราการเติบโต อยู่ที่ร้อยละ 25-30
3 อันดับแรก กลุ่มครีเอเตอร์ที่ได้รับความนิยมสูงในปีนี้ อันดับ 1 คือ กลุ่มความงาม(บิวตี้) รองลงมา จะเป็นกลุ่มสุขภาพ และกิน เที่ยว ส่วนกลุ่มที่สาม คือกลุ่มสถาบันการเงิน ที่มีการใช้จ่ายเม็ดเงินในตลาดนี้อยู่ต่อเนื่อง ขณะที่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ก่อนหน้านี้มีความโดดเด่นมาก แต่ก็หายไป เช่นเดียวกันกับ ยานยนต์ ที่ชะลอตัว จากความไม่ชัดเจนของสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านยานยนต์จากสันดาปภายในสู่อีวี
ส่วนกลุ่มที่กำลังมาแรงในเวลานี้ คือ นิวส์ ครีเอเตอร์ (กลุ่มสื่อ หรือนักข่าว) เนื่องจากพบว่า ปัจจุบันทางต้นสังกัดของหลายสื่อ ได้มีการผ่อนคลายให้นักข่าวออกมาทำคอนเทนต์ของตนเองกันมากขึ้น (จากเดิมที่ไม่อนุญาตให้ทำ)
คุณ สุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด ให้มุมมองว่า ตลาดเติบโตที่ร้อยละ 25-30 ต่อปี ต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว และแม้ว่าปัจจุบัน เศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่สื่อดิจิทัลก็ยังเป็นที่นิยม รวมถึง การทำตลาดก็หันเข้ามา พึ่งพา การวัดผล ผ่านการตลาดดิจิทัลกันมากขึ้น
ขณะนี้ จึงยังไม่เห็นสัญญาณการชะลอตัวของตลาด แต่ก็ไม่ได้สวยหรูนัก เพราะต้องเหนื่อยมากขึ้น ทุกภาคส่วนแข่งขันกันมากขึ้น และเม็ดเงินก็หายไปจากตลาดเยอะขึ้น ขณะที่แบรนด์เอง การจะมาลงทุนในครีเอเตอร์ ก็ต้องพิจารณามากขึ้น โดยไม่ได้ดูเพียงการสร้างยอดวิวเท่านั้นแล้ว แต่ต้อง จับต้องได้ด้วย
จึงเป็นความท้าทายของ ครีเอเตอร์ เพราะเมื่อตลาดมีการแข่งขันสูงในระดับครีเอเตอร์ แบรนด์จึงมีทางเลือกมากขึ้น เกิดการต่อรองราคา ผลที่ตามมา คือทำให้ราคามีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าก่อน สำหรับตัวครีเอเตอร์เอง จะมีความท้าทายว่าจะทำคอนเทนต์อย่างไร ที่จะสามารถแย่งชิงยอดวิว จากคนดูมาให้ได้มากที่สุด และสร้างความแตกต่างให้กับตัวเองอย่างไร รวมถึง ทำอย่างไรที่จะดึงฐานผู้ชมให้อยู่กันยาว ๆ
ทั้งนี้ เทลสกอร์ เป็นแพลตฟอร์มครบวงจร ด้านอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการบริหารจัดการอินฟลูเอนเซอร์ และโซเชียล มีเดีย ครบวงจร
ปัจจุบันมี ครีเอเตอร์อยู่กับแพลตฟอร์มราว 85,000 ราย โดย 3 กลุ่มหลัก คือ ด้านความงาม อาหาร และการเงิน มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ (ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของตลาด)
ผู้บริหาร เทลสกอร์ บอกอีกว่า นักการตลาดในปัจจุบันจะให้ความสำคัญในการเลือกร่วมงานกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ มากขึ้นเรื่อย ๆ ทางแพลตฟอร์ม จึงมีโซลูชันที่ช่วยลดความเสี่ยงให้กับนักการตลาดที่ต้องการความรวดเร็วและความคล่องตัวในยุคดิจิทัล
อย่างไรก็ดี คุณ สุวิตา ยืนยันว่าตลาดยังไม่โอเวอร์ซัพพลาย เพียงแต่เป็นตลาดที่เติบโตขึ้น จึงทำให้มีการแข่งขันที่สมบูรณ์แบบ /ส่วนกรณี ครีเอเตอร์ หรือ อินฟลูเอนเซอร์ ชื่อดังบางรายประกาศยุติการทำงานในส่วนนี้ มองว่าเป็นเรื่องปกติของคนทำงานทั่วไปที่คิดเปลี่ยนงาน หรือย้ายอาชีพ และยังไม่เห็นสิ่งผิดปกติกับตลาด
ข่าวแนะนำ