TNN ตลาดรถไทยดิ่งหนัก! สวนอาเซียน l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

ตลาดรถไทยดิ่งหนัก! สวนอาเซียน l การตลาดเงินล้าน

ตลาดรถยนต์อาเซียน ภาพรวมปีนี้ไม่ค่อยสดใสนัก นำโดย อินโดนีเซีย และไทย ที่ฉุดตลาดรวมให้ปรับลดลง

ตัวเลขครึ่งปีแรก 2567 ของ 7 ประเทศในอาเซียน ประกอบด้วย อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ไทย, ฟิลิปปินส์ เวียดนาม, สิงคโปร์ และ เมียนมา มียอดขายรถยนต์รวม กว่า 1 ล้าน 4 แสน 9 หมื่น คัน ลดลง ร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

อินโดนีเซีย เป็นตลาดใหญ่ที่สุด มียอดขายรวมกว่า 408,000 คัน ลดลง ร้อยละ 19.4 ส่วนอันดับ 2 ยังคงเป็นมาเลเซีย ที่แซงหน้าไทยไปก่อนหน้า โดยมียอดขายรวมกว่า 390.000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6

อันดับ 3 คือ ไทย มียอดขายรวมกว่า 307,000 คัน ลดลงมากที่สุดในกลุ่ม ที่ร้อยละ 24.2 ตามมาด้วย ฟิลิปปินส์ มียอดขายรวมกว่า 226,000 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.8 และเวียดนาม ซึ่งไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ยอดขายรถเติบโตดีขึ้นมาก แต่เมื่อรวมครึ่งปีแรกแล้ว ยังปรับลดลงเล็กน้อย โดยมียอดขาย กว่า 134,000 คัน ลดลงร้อยละ 1.8

สำหรับ สิงคโปร์ มียอดขายจำนวน 23,181 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.1 และ เมียนมา จำนวน 1,985 คัน เติบโตถึงร้อยละ 43.8 

แต่หากดูเฉพาะไตรมาส 2 (ระหว่างเดือนเมษายน ถึง มิถุนายน 2567) ทาง นิเคอิ ได้เปรียบเทียบตัวเลขการเติบโตของตลาดรถยนต์จาก 5 ประเทศอาเซียน พบว่า 2 ใน 5 ประเทศ มียอดขายหดตัวลง ได้แก่ อินโดนีเซีย ลดลงไปร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ไทย ยังคงลดลงมากสุด โดยลดลงไป ร้อยละ 24 

ส่วนอีก 3 ประเทศมีอัตราการเติบโตที่ดี ได้แก่ มาเลเซีย ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เติบโตถึงร้อยละ 8 ฟิลิปปินส์ โตร้อยละ 11 และ เวียดนาม โต ร้อยละ 15 


ตลาดรถไทยดิ่งหนัก! สวนอาเซียน l การตลาดเงินล้าน


ภาพรวมของตลาดอาเซียน ไตรมาส 2 นิเคอิ รายงานว่า ตลาดรถยนต์ มาเลเซีย เกือบจะเบียดแซงหน้าอินโดนีเซียได้แล้ว ด้วยตัวเลขยอดขายที่ห่างกันเพียงหลัก 8,134 คัน จากไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ตัวเลขยังห่างกันถึง 89,474 คัน

ซึ่งจากข้อมูลของสมาคมยานยนต์มาเลเซีย รายงานว่า ในไตรมาส 2 ยอดขายรถยนต์เติบโต ที่ร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 184,702 คัน นำโดยยอดขายของรถยนต์แบรนด์ในประเทศ คือ เปอโรดัว (Perodua) และ โปรตอน (Proton) 

นอกจากนี้ การเติบโตดังกล่าว ยังสอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซีย ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ด้านการบริโภคภาคเอกชนก็แข็งแกร่ง ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ ระหว่างร้อยละ 1.7 ถึง ร้อยละ 2 เนื่องจากการแข็งค่าของเงิน ริงกิต เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าที่มีราคาแพง เช่น รถยนต์ ได้ 

สำหรับรถ โปรตอน และ เปอโรดัว ที่ได้รับความนิยมมาก เป็นเพราะราคาอยู่ในระดับแข่งขันได้ จากนโยบายสนับสนุนแบรนด์ในประเทศของรัฐบาล ด้วยการกำหนดอัตราภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต และภาษีการขาย สำหรับรถยนต์ต่างประเทศ ในอัตราที่สูง

โดย เปอโรดัว เป็นที่รู้จักในด้านราคาที่สามารถเข้าถึงได้ และมีความน่าเชื่อถือ ที่ผ่านมาได้รับประโยชน์จากความร่วมมือกับ ไดฮัทสุ (Daihatsu) และ โตโยต้า นำไปสู่รถรุ่นปรับปรุงใหม่ ทั้งมีบริการหลังการขายที่ดี การบำรุงรักษาต่ำ และมีประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง 

ขณะที่ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในมาเลเซีย ไตรมาส 2 มีจำนวน 10,663 คัน เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า จากปีก่อนหน้า ส่วนยอดขาย รถไฮบริด อยู่ที่ 11,722 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.8

สำหรับประเทศ อินโดนีเซีย ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอินโดนีเซีย รายงานว่า มียอดขายไตรมาส 2 ลดลง ร้อยละ 14 โดยยอดขายรายเดือน ลดลงเป็นเวลา 13 เดือนติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภค มีความกังวลกับภาวะเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันที่อาจปรับขึ้น และค่าบำรุงรักษาที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ที่ร้อยละ 6.25 การอ่อนค่าของเงิน รูเปียห์ อินโดนีเซีย เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง 

ส่วน ตลาดรถ อีวี ในอินโดนีเซีย ก็กำลังแข่งขันกับรถยนต์ญี่ปุ่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคา ยังคงเป็นปัจจัยข้อกังวลหลักต่อผู้บริโภคที่ต้องการเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาป ไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานีชาร์จ ที่อาจยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะสำหรับการเดินทางระยะไกล

นิเคอิ ยังรายงานถึงสถานการณ์ในไทย ด้วย ซึ่งไตรมาส 2 ที่ผ่านมาลดลงไปถึงร้อยละ 24 ต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่ลดลงไปถึงร้อยละ 25 และยอดขายรายเดือน ลดลงเป็นเวลา 14 เดือนติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว

ซึ่งปัจจัยกดดันหลักต่อตลาดไทย เนื่องจากกำลังซื้อที่อ่อนแอลง ประกอบกับ ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์จากหนี้ครัวเรือนซึ่งอยู่ในระดับสูง 

ขณะที่ภาพรวมตลาดรถยนต์ของไทย ยังเป็นเทรนด์ขาลงต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุด เดือน 7 หรือ กรกฎาคม ที่ผ่านมา มียอดขายรวมจำนวน 46,394 คัน ลดลงร้อยละ 20.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 

แบ่งเป็น ตลาดรถยนต์นั่ง มียอดขาย 16,571 คัน ลดลงไป ร้อยละ 26.4 ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ จำนวน 29,823 คัน ลดลง ร้อยละ 16.9 และรถกระบะขนาด 1 ตัน มียอดขายอยู่ที่ 16,125 คัน ลดลงร้อยละ 35.5

อีกหนึ่งข้อมูลที่จะสะท้อนถึงการหดตัวลงของตลาดรถยนต์ไทยภายในปีนี้ ด้วย นั่นก็คือ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ปี 2567 นี้ จะหดตัวลงร้อยละ 5.5 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดไว้ที่จะขยายตัว ร้อยละ 1 ถึง 2 

ซึ่ง ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา สินเชื่อเช่าซื้อรถ หดตัว ร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งหดตัวลงลึกจากไตรมาสแรก ที่ลดลงไปร้อยละ 3 เมื่อเทียบจากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการชำระคืนหนี้ตามงวดผ่อนชำระของยอดสินเชื่อเดิม ในอัตราที่เร็วกว่ายอดจัดสินเชื่อใหม่ ประกอบกับ มีแรงกดดันเพิ่มเติมจากปัญหาด้านรายได้และกำลังซื้อ รวมถึงนโยบายเครดิตที่ระมัดระวังของผู้ให้บริการสินเชื่อในภาพรวม

โดยมี ประเด็นกดดัน ที่น่าจะยังไม่คลี่คลายโดยเร็ว ประเด็นแรก คือ ผลบวกจากยอดขายรถ BEV ต่อสินเชื่อเช่าซื้อปีนี้ มีจำกัด ซึ่งแม้ว่าปีนี้ ยอดขายรถ BEV จะเป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยผลักดันยอดขายรถในภาพรวม แต่ การตีตลาดของรถ BEV จากค่ายต่างประเทศ ที่ราคาต่ำลง ทำให้ผู้ซื้อบางส่วนเลื่อนการตัดสินใจซื้อรถออกไป ซึ่งก็ทำให้สินเชื่อเช่าซื้อ ไม่ได้อานิสงค์จากยอดขายรถ BEV มากดังที่ควรจะเป็น

ถัดมา คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน และปัญหาคุณภาพหนี้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักที่ทำให้เกิดการชะลอตัวของฝั่งความต้องการซื้อรถ และความต้องการปล่อยสินเชื่อ สุดท้าย เกิดจากมาตรการดูแลการปล่อยสินเชื่อของผู้กำกับดูแลที่ยังมีความเข้มงวด เช่น การปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ เป็นต้น


ข่าวแนะนำ