TNN มาแรง! Xiaomi จ่อโค่นยักษ์ทุกวงการ l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

มาแรง! Xiaomi จ่อโค่นยักษ์ทุกวงการ l การตลาดเงินล้าน

Xiaomi บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีน เป็นบริษัทฯ มีเป้าหมายทะเยอทะยานมาโดยตลอด ประกาศท้าชิงกับยักษ์ใหญ่ในธุรกิจที่ทำ และเวลานี้ถูกจับตามองมากขึ้นจากธุรกิจเดิมที่เติบโตและของใหม่ที่มาแรง

จากผลประกอบการรายไตรมาส สิ้นสุดเดือนมิถุนายน ของเสียวหมี่ ที่ผ่านมา บลูมเบิร์ก รายงานว่า เป็นการเติบโตของรายได้ที่รวดเร็วที่สุด นับตั้งแต่ปี 2021 เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากความสำเร็จในระยะเริ่มต้นของรถยนต์ไฟฟ้าคันแรก และการฟื้นตัวของตลาดสมาร์ตโฟนทั่วโลก ซึ่ง เสียวหมี่ มียอดขายเติบโตขึ้น ถึงร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยยอดขายที่ 88,900 ล้านหยวน ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีกำไรสุทธิ 6,200 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1


มาแรง! Xiaomi จ่อโค่นยักษ์ทุกวงการ l การตลาดเงินล้าน


นอกจากนี้ รายได้จากทุกกลุ่มธุรกิจ คือ สมาร์ตโฟน, ผลิตภัณฑ์ IoT และไลฟ์สไตล์ และบริการอินเทอร์เน็ต ต่างก็เติบโตแข็งแกร่ง แต่ กลุ่มสมาร์ตโฟน ยังคงเป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลักให้กับบริษัทฯ

ซึ่ง ในฐานะผู้จำหน่ายสมาร์ตโฟน เมื่อพิจารณาจากยอดขาย เสียวหมี่ มีส่วนแบ่งตลาดอยู่อันดับ 5 สำหรับตลาดในจีน ยังตามหลังคู่แข่งทั้ง วีโว่, ออปโป้, ออเนอร์ และ หัวเว่ย แต่สำหรับในตลาดโลก เสียวหมี่ กำลังเป็นผู้ครองส่วนแบ่งทางการตลาดรายใหญ่ในหลาย ๆ ภูมิภาค

ข้อมูลของ คานาลิส (Canalys) รายงานว่า ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เสียวหมี่ ยังคงรักษาตำแหน่ง 1 ใน 3 แบรนด์สมาร์ตโฟนชั้นนำของโลกได้นานถึง 16 ไตรมาสติดต่อกัน (โดยรั้ง อยู่อันดับที่ 3) และด้านยอดการจัดส่ง ยังเป็นแบรนด์สมาร์ตโฟนที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในบรรดาสมาร์ตโฟน 5 อันดับแรกของโลก อีกด้วย

ซึ่ง ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เสียวหมี่ มียอดการจัดส่งสมาร์ตโฟนทั่วโลก อยู่ที่ 42.3 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีส่วนแบ่งเป็นอันดับ 3 หรือร้อยละ 15 รองจาก ซัมซุง (อันดับ 1) มียอดจัดส่ง 53.5 ล้านเครื่อง เติบโตเพียงร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 19 และ แอปเปิล (อันดับ 2) มียอดจัดส่งจำนวน 45.6 ล้านเครื่อง เติบโตร้อยละ 6 และมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ ร้อยละ 16

นอกจากนี้ เมื่อแยกดูตามรายภูมิภาค พบว่า สมาร์ตโฟนของ เสียวหมี่ มียอดจัดส่งเติบโตแซงหน้าแบรนด์อื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด เช่น ตลาดในอินเดีย เสียวหมี่ มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ที่ร้อยละ 18 ด้วยยอดจัดส่วน 6.7 ล้านเครื่อง คิดเป็นเติบโตร้อยละ 24

ตลาด ละติน อเมริกา ขึ้นไปอยู่อันดับ 2 ได้เป็นครั้งแรกในไตรมาสที่ผ่านมา ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 19 และมียอดจัดส่งอยู่ที่ 6.2 ล้านเครื่อง เติบโตร้อยละ 35 เป็นรองจากแบรนด์ ซัมซุง ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 30

ภูมิภาคตะวันออกกลาง มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 ที่ร้อยละ 20 ด้วยยอดจัดส่ง 2.3 ล้านเครื่อง แต่มีการเติบโตสูงถึงร้อยละ 70 เป็นรองจาก ซัมซุง มีส่วนแบ่งตลาดร้อบละ 28 

ส่วนตลาดแอฟริกา อยู่อันดับ 3 ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 12 และมียอดจัดส่ง จำนวน 2.1 ล้านเครื่อง เติบโตร้อยละ 45 เป็นรองคู่แข่งจากชาติเดียวกัน คือแบรนด์ แทรนชัน (Transsion) มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 51 และ ซัมซุง ร้อยละ 19

และตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสียวหมี่ มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 อยู่ในอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ส่วนไทยอยู่อันดับ 3 แต่โดยรวมแล้วสำหรับภูมิภาคนี้ เสียวหมี่อยู่อันดับ 3 มียอดจัดส่งไตรมาสล่าสุดจำนวน 4 ล้านเครื่อง มีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 37 และ มีส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 17 ส่วนอันดับ 1 คือ ซัมซุง ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 18 และ ออปโป อยู่อันดับ 2 ส่วนแบ่งร้อยละ 17 

ทั้งนี้ เสียวหมี่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2010 และก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดสมาร์ตโฟนของจีนอย่างรวดเร็ว ด้วยกลยุทธ์การกำหนดราคาที่แข่งขันได้ และยังมาพร้อมกับฉายาที่ได้รับ คือ แอปเปิล แห่งประเทศจีน

โดย Lei Jun ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง  ได้วางตำแหน่งตัวเอง ให้เป็นผู้ที่ชื่นชอบเทคโนโลยี จนกลายเป็นขวัญใจมหาชน ในปี 2020 ได้เปิดบัญชีส่วนตัวบนแพลตฟอร์มโซเชียลเมีเดีย เช่น วีแชต และ โตว่อิน ก็ยิ่งช่วยเสริมอิทธิพลของตนเอง โดยใน โตว่อิน มีผู้ติดตามมากถึง 28.8 ล้านคน 

ด้านเป้าหมาย Lei Jun มักตั้งเป้าหมายใหญ่ที่ท้าทายตลอด เช่น ในช่วงปี 2022 ประกาศผ่าน เว่ยป๋อ ว่าจะโฟกัสมือถือในกลุ่มไฮเอนด์ เพื่อท้าชิงอันดับ 1 กับ แอปเปิล ให้ได้ ภายใน 3 ปี

และเช่นเดียวกัน เมื่อประกาศแผนที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา Lei Jun ก็ประกาศเป้าหมายท้าทายในทันที ว่าต้องการจะเป็น 1 ใน 5 ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก ด้วยแพทเทิร์นเดียวกันกับ สมาร์ตโฟน ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งการประกาศดังกล่าว เกิดขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดในตลาด ที่อัดแน่นไปด้วยผู้เล่นรายใหญ่อย่าง เทสลา และ บีวายดี

อย่างไรก็ดี ด้วยแผนทางการตลาดที่แข็งแกร่ง ทำให้ SU7 มียอดขายในเดือนแรก (เมษายน) พุ่งสูงถึงกว่า 7,000 คัน ส่งผลให้บริษัทฯ ขึ้นมาอยู่อันดับ 8 ของค่ายผู้ผลิตรถอีวีที่ใหญ่ที่สุดในจีน และกลายเป็นผู้ผลิตหน้าใหม่มาแรง เทียบเคียงกับ นีโอ และ เอ็กซ์เผิง (เลยทีเดียว) 

ส่วนผลประกอบการไตรมาส 2 บริษัทดังกล่าว รายงานว่าได้ส่งมอบรถ Xiaomi SU7 เป็นจำนวน 27,307 คัน โดยมียอดส่งมอบต่อเดือนเกิน 10,000 คันเป็นเวลา 2 เดือนติดต่อกัน และตั้งแต่เดือนมิถุนายน โรงงานรถยนต์ไฟฟ้า ยังได้เริ่มดำเนินการแบบสองกะ โดยมีเป้าหมายที่จะส่งมอบรถยนต์ จำนวน 100,000 คัน ได้ก่อนกำหนด หรือภายในเดือนพฤศจิกายน และตลอดทั้งปี ตั้งเป้าที่จะส่งมอบเพิ่มเป็น 120,000 คัน

นอกจากนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยังได้เปิดตัวต้นแบบรุ่นใหม่ คือ Xiaomi SU7 Ultra และมีเป้าหมาย ที่จะให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าสี่ประตูที่เร็วที่สุด ในสนามแข่งภายในทศวรรษหน้า อีกด้วย 

นอกจากนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว ฟอร์บส์ รายงานว่า Lei Jun ได้กลับมาอยู่ในรายชื่อ ฟอร์บส์ ไชน่า เบส ซีอีโอ (Forbes China Best CEO) ประจำปี 2024 อีกครั้ง และถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของบริษัทในด้านยานยนต์ไฟฟ้า 

โดย ฟอร์บส ระบุว่า SU7 ได้เปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และเปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ถือเป็นการเปิดตัวที่น่าประทับใจ ด้วยยอดแสดงความสนใจสูงถึง 88,898 คันภายใน 24 ชั่วโมงแรก 

ซึ่งตัวเลขที่น่าประทับใจดังกล่าว ส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากการไลฟ์สดขายผ่านทางโซเชียล ที่เป็นความเชี่ยวชาญของตัวผู้ก่อตั้งบริษัทฯ เอง จากนั้น การส่งมอบ SU7 ให้กับลูกค้ารายแรกในกรุงปักกิ่ง CEO มหาเศรษฐี ก็ยังสร้างความประทับใจให้กับชาวโซเชียล ด้วยการเป็นผู้เปิดประตูรถให้เจ้าของคนใหม่อย่างนอบน้อม 

ด้าน เจสัน หยู ผู้จัดการทั่วไปของ กันตาร์ (Kantar) ให้ความเห็นว่า ซีอีโอ ของ เสียวหมี่ ได้กำหนดมาตรฐานทางการตลาดใหม่ ด้วยการใช้ตัวเองในการสร้างแบรนด์อย่างสร้างสรรค์ ช่วยผลักดันการตลาดของบริษัท ตลอดจนการใช้กิจกรรมการถ่ายทอดสด และการตอบโต้กันบนโซเชียลมีเดีย ที่ไม่เพียงแต่ช่วยกระตุ้นยอดขายเท่านั้น แต่ยังสร้างความสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้บริโภคอีกด้วย

ข่าวแนะนำ