เศรษฐกิจซบ ฉุดตลาดสัตว์เลี้ยงโตต่ำคาด l การตลาดเงินล้าน
ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ กำลังซื้อซบเซา ส่งผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงตลาดสัตว์เลี้ยง ที่แม้ว่าในภาพรวมจะยังเติบโต แต่ก็โตต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์
จะเห็นได้ว่าตลาดมีการเติบโตต่อเนื่อง จากปี 2561 มูลค่าตลาดรวม อยู่ที่ 57,000 ล้านบาท พอมาในปี 2562 เติบโตที่ร้อยละ 10 หรือมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 64,000 ล้านบาท
จากนั้นในช่วงการระบาดของโควิด 19 คือระหว่างปี 2563 ถึงปี 2565 ตลาดเติบโตสูงขึ้นจากปกติ (คือปกติ จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10) โดยปี 2563 มีอัตราการเติบโตที่ ร้อยละ 12 และ ปี 2564 เติบโต ร้อยละ 13 และในปี 2565 มีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 16 และมีมูลค่าตลาดรวม เกือบ 92,000 ล้านบาท
พอมาในปี 2566 ตลาดเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ด้วยอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 10 มูลค่าตลาดทะลุหลักแสนล้านบาท เป็นกว่า 102,000 ล้านบาท ส่วนปีนี้ (2567) ข้อมูลจาก ยูโรมอนิเตอร์ คาดการณ์ว่า ตลาดรวมจะมีมูลค่าอยู่ที่กว่า 112,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 9
ส่วนจำนวนสัตว์เลี้ยง ตัวเลขปัจจุบัน มีประมาณ 20 ล้านตัว แบ่งเป็นสุนัข 12 ล้านตัว และแมว 8 ล้านตัว คาดการณ์ว่า 2567 จะมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 6-9
ขณะที่โรงพยาบาลสัตว์เลี้ยง ปัจจุบันทั่วประเทศมีจำนวน 3,500 แห่ง แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มขนาดเล็ก (คลินิกทั่วไป) มีร้อยละ 80 กลุ่มโรงพยาบาลขนาดกลางร้อยละ 15 และโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ร้อยละ 5 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลสัตว์ของมหาวิทยาลัย โดยการเติบโตของธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์ ก็จะใกล้เคียงกับภาพรวมของตลาดสัตว์เลี้ยง
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของตลาดสัตว์เลี้ยงในปีนี้ นั้น อาจจะโตต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ สัตวแพทย์หญิง กฤติกา ชัยสุพัฒนากุล ประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ กล่าวว่า ปกติ ตลาดสัตว์เลี้ยงมีค่าเฉลี่ยการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 10 แต่ปีนี้ น่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6-8 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจอึมครึม คนใช้จ่ายน้อยลง และระมัดระวังมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง พบว่ายอดขายอาหารลูกหมา และลูกแมวลดลง สะท้อนว่าคนรับเลี้ยงลูกหมาและลูกแมวลดลง ส่วนฟาร์มขายลูกหมาลูกแมว ก็เจอสถานการณ์เดียวกัน คือขายได้ยากขึ้น
ประกอบกับคนเลี้ยง ก็ไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งดูได้จาก อัตราบ้าน(ครัวเรือน) ที่มีสัตว์เลี้ยง จะอยู่ที่ 1.5 ครัวเรือน ต่อบ้าน 10 ครัวเรือน ส่วนที่เหลือ ไม่ได้เลี้ยงอยู่แล้ว ก็จะไม่ได้รับเลี้ยงต่อไป รวมถึง คนรุ่นใหม่ที่แยกออกมาสร้างครอบครัวใหม่ ก็มีน้อยลง ขณะเดียวกัน สัตว์เลี้ยงมีอายุยืนยาวขึ้นจากการเลี้ยงดูที่ดีขึ้น ทั้งอาหาร การดูแลป้องกัน และรักษา
โดยกำลังซื้อที่หดตัวลงนั้น เริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และมีความชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ตลาดโดยรวม โตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
ส่วนเทรนด์การเลี้ยงในปัจจุบัน สัตวแพทย์หญิง กฤติกา กล่าวว่า เทรนด์การเลี้ยงสัตว์เป็นลูก หรือ pet humanization ยังคงเติบโต ซึ่งกลุ่มนี้ต้องการคุณภาพในการดูแลรักษาที่ดีขึ้น และในราคาสมเหตุสมผล โดยตลาดที่เปลี่ยนไปจากการรับเลี้ยงลูกหมาลูกแมวชะลอตัวลง ขณะที่สัตว์เลี้ยงสูงวัยมีจำนวนมากขึ้น และมีความต้องการดูแลรักษาด้วยโรคต่าง ๆ ของสัตว์เลี้ยงสูงวัย ทำให้โรงพยาบาลเองก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน
โดย โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ จะมุ่งขยายธุรกิจทั้งในกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์ และ ธุรกิจ เพท เวล บีอิ้ง ซึ่งคือธุรกิจสินค้าสัตว์เลี้ยง อาหารสัตว์ และบริการเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยง
สำหรับ ธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์ ปีนี้จะเปิดสาขาเพิ่ม 2 แห่ง โดยเปิดไปแล้ว 1 แห่งที่เชียงใหม่ (เป็นสาขาที่ 2 ในจังหวัดเชียงใหม่) และอีก 1 แห่งจะเปิดสาขาอโศก-ประสานมิตร ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ (ถือเป็นสาขาที่ 21) ส่วนปีหน้าจะไม่มีการเปิดสาขาใหม่ แต่จะมีการย้ายสาขาปิ่นเกล้าเดิม ไปที่ใหม่ อยู่ฝั่งตรงข้ามตั้งฮั่วเส็ง ซึ่งจะมีพื้นที่ขนาดใหญ่มากขึ้น
นอกจากนี้ จะร่วมมือกับโรงพยาบาลสัตว์พันธมิตรในการเข้าไปรับบริหารหลังบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีแล้ว 8 แห่ง และจะขยายเพิ่มเติมอีกในอนาคต
ข่าวแนะนำ