TNN เปิดมาตรการแบงก์ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม I เศรษฐกิจ insight

TNN

เศรษฐกิจ

เปิดมาตรการแบงก์ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม I เศรษฐกิจ insight

เปิดมาตรการแบงก์ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม I เศรษฐกิจ insight

ในปีนี้ต้องยอมรับว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ และพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ประชาชนในพั้นที่ต่างได้รับความเดือดร้อน แม้มวลน้ำในครั้งนี้จะไม่หนักหนาเท่ากับปี 2554 แต่ก็มีผู้ประสบภัยจำนวนมาก ซึ่งทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังเดินหน้าเข้าไปช่วยเหลือ ดังนั้นจะพาไปดูความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุทกภัย มาตรการช่วยเหลือของธนาคาร สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และการช่วยเหลือของฝั่งเอกชน

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยหรือน้ำท่วม ภาคเหนือ 9 จังหวัด อาทิ เชียงราย พะเยา สุโขทัย ลำปาง เพชรบูรณ์ แพร่ น่าน พิษณุโลก และนครสวรรค์  ในครั้งนี้ ต้องถือว่ารุนแรงในระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่เทียบเท่าปี 2554 แต่หลายอุตสาหกรรม หรือหลายภาคส่วนก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก 


โดยนายนายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุว่า ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น เกิดจากน้ำฝน น้ำไหลผ่าน ไม่ได้มีปัญหาน้ำท่วมขังเมื่อเทียบกับปี 2554 และปริมาณน้ำยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับปีที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ประกอบกับในปีนั้น (2554) มีพายุผัดเข้าประเทศถึง 5 ลูก


ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับปี 2554 ซึ่งเสียหายถึง 1.4 ล้านล้านบาท และจากการประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งนี้ หากยืดเยื้อเกิน 2-3 สัปดาห์ จะเสียหายประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่ถ้ายืดเยื้อไปถึง 1 เดือน คาดว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท ทั้งนี้ พื้นที่ทางการเกษตรจะได้รับผลกระทบมากที่สุด


ซึ่งสอดคล้องกับ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ประเมินว่า มูลค่าความเสียหายกรณีสถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เบื้องต้นจะอยู่ที่ประมาณ 4,000-6,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.02-0.03 ของ GDP 


แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตาม และประเมินผลกระทบอีกครั้ง  เนื่องจากหลายจังหวัดยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วมเพิ่มเติม และจากการประเมินพบว่า ภาคการเกษตร ได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม 


อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้ยังสอดคล้องกับข้อมูล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ระบุว่า ปัจจุบันมีพื้นที่การเกษตรด้านพืช ได้รับผลกระทบ 33 จังหวัด และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว จำนวน 21 จังหวัด อาทิ มหาสารคาม อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด พะเยา จันทบุรี เป็นต้น 


และเบื้องต้นมีเกษตรกร 112,049 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 701,525 ไร่ 


ส่วนทางด้านฝั่งประมงไทย ก็เสียหายจากกรณีน้ำท่วมเช่นกัน โดยกรมประมง พบพื้นที่ได้รับผลกระทบถึง 34 อำเภอ เกษตรกร จำนวน 7,405 ราย มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 5,638.57 ไร่ มูลค่าความเสียหาย 85 ล้านบาท 


ดังนั้นทางฝั่งรัฐบาล นำโดยกระทรวงการคลัง จึงร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ออกมาตรการด้านการเงินทั้งมาตรการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ดังนี้


ธนาคารออมสิน


มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับการพักชำระหนี้เงินต้นและลดดอกเบี้ยร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 3 เดือน


มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่


– โครงการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.6 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 เดือน ปลอดชำระเงินงวดใน 3 เดือนแรก


– โครงการสินเชื่อเคหะผู้ประสบภัย วงเงินกู้ต่อรายสูงสุดร้อยละ 100 ของราคาประเมิน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 2 ต่อปี



ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดทำมาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้า วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ประกอบด้วย


1.โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2567/68 วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR ของ ธ.ก.ส. เท่ากับร้อยละ 6.975 ต่อปี) เวลากู้ไม่เกิน 3 ปี ปลอดชำระดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก


2.โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR – 2 ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี



ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ออกมาตรการลดเงินงวด และลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าปัจจุบันจะได้รับการลดเงินงวดร้อยละ 50 จากเงินงวดที่ชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน


ทั้งยังมี มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับลูกค้าใหม่หรือลูกค้าปัจจุบัน สามารถขอสินเชื่อเพิ่มเติมหรือสินเชื่อใหม่เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิมหรือซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย วงเงินต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 2 ต่อปี


มาตรการประนอมหนี้ สำหรับลูกค้าที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือนหรืออยู่ระหว่างการประนอมหนี้ จะได้รับการปลอดชำระดอกเบี้ยและเงินงวดใน 6 เดือนแรก 


– กรณีลูกค้าที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ผู้กู้ร่วมหรือทายาทสามารถผ่อนชำระต่อในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ตลอดระยะเวลาคงเหลือ 


– กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้สามารถยกเว้นหนี้ในส่วนของอาคารและผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือ


และ มาตรการสินไหมเร่งด่วน สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติจะพิจารณาสินไหมอย่างเร่งด่วน (Fast Track) เป็นกรณีพิเศษ


ทางฝั่งของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ออกมาตรการพักชำระหนี้ พักชำระหนี้เงินต้นให้สอดคล้องกับระดับความรุนแรงของผลกระทบและลักษณะของธุรกิจแต่ละราย


มาตรการสินเชื่อเติมทุน สำหรับซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการผ่านโครงการ Smile Biz ธุรกิจยิ้มได้ วงเงินต่อรายสูงสุด 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ MLR – 1 ต่อปี (ปัจจุบัน MLR ของ ธพว. เท่ากับร้อยละ 7.5 ต่อปี) ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 6 เดือนแรก


เอ็กซิมแบงก์ มีการเพิ่มวงเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นชั่วคราวสูงสุดร้อยละ 20 ของวงเงินเดิม ช่วยลดภาระเงินต้นและดอกเบี้ย รวมทั้งช่วยขยายระยะเวลาการชำระเงิน


ขณะที่ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอแบงก์ สำหรับกลุ่มลูกค้าเดิมที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ จะได้รับการพักชำระหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะอัตรากำไร เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน โดยขยายระยะเวลาออกไปไม่เกินระยะเวลาที่พักชำระ ิและได้รับการยกเว้นค่าชดเชยผิดนัดชำระ ที่เกิดขึ้นทั้งจำนวนจนถึงวันที่ปรับปรุงบัญชี


ส่วน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ออกมาตรการพักชำระค่าธรรมเนียม สำหรับลูกค้า บสย. ที่ถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2567 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 


สามารถพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ และค่าจัดการค้ำประกันเป็นนาน 6 เดือนนับจากวันถึงกำหนดชำระ


มาตรการพักชำระค่างวด สำหรับลูกหนี้ บสย. ที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระตามแผนปรับโครงสร้างหนี้และไม่ผิดนัดชำระหนี้สามารถพักชำระค่างวดเป็นระยะเวลา 3 งวด โดยขอเข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567


ขณะที่ทางฝั่ง "แบงก์พาณิชย์" ก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือน้ำท่วมแก่ลูกค้าเช่นเดียวกัน อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทั้งลูกค้าบุคคล ลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้าขนาดใหญ่ ในพื้นที่ประสบภัยอย่างเต็มที่ 


โดยการพักชำระหนี้เป็นระยะเวลาสูงสุด 3 เดือน  ลดอัตราดอกเบี้ยได้สูงสุด 100% ของอัตราดอกเบี้ยเดิมภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน รวมทั้ง ขยายระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 5 ปี สำหรับลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสูงสุด 3 ปี สำหรับลูกค้าสินเชื่อ ธุรกิจเพื่อผู้ประกอบการ SSME 


สำหรับลูกค้าบุคคลประเภทสินเชื่อรถยนต์ สามารถขอพักชำระหนี้สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน และขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระสูงสุด 3 เดือน 


ขณะที่ ธนาคารกรุงไทย ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าน้ำท่วม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และเพื่อลดภาระทางการเงิน อาทิ


1.สินเชื่อบ้าน สินเชื่อบุคคล (Term Loan) สินเชื่อเพื่อธุรกิจ SSME (Term Loan) ปรับลดค่างวดการชำระหนี้ลง ร้อยละ 50 นาน 6 เดือน และ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 1 ต่อปี นาน 6 เดือน


2.สินเชื่อเพื่อธุรกิจ SME ให้ความช่วยเหลือครอบคลุม ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย ลดค่างวดการชำระหนี้ พักชำระเงินต้น ชำระเฉพาะดอกเบี้ย หรือพักชำระเงินต้น และ/หรือ พักชำระดอกเบี้ยบางส่วน ขยายระยะเวลาสัญญา/ปรับตารางผ่อนชำระหนี้ เป็นต้น


ซึ่งมาตรการของฝั่งธนาคารพาณิชย์ก็ถือว่าช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมได้เพราะมีทั้งการปรับลดค่างวด และการพักชำระหนี้  


ตอนนี้เรามาดูทางฝั่งเอกชนกันบ้าง ในส่วนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็ระดมสรรพกำลังจากทุกกลุ่มธุรกิจ ลงพื้นที่กระจายความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง อาทิ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ และสุโขทัย เพื่อส่งมอบถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นประกอบได้ด้วยอาหารแห้ง น้ำดื่ม 


รวมไปถึงวัตถุดิบอาหารสดเพื่อส่งมอบให้กับโรงครัวนำไปประกอบอาหารสำหรับแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยและประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งส่งทีมสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือลำเรียงผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่ภัยพิบัติ


นอกจากนี้ ยังได้ตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติดังกล่าว 


และยังได้ผนึกกำลังกับธุรกิจในเครือฯ โดยร่วมกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ และภาคีเครือข่าย ร่วมมอบเครื่องอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย 1.ถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภค 1,000 ชุด 


2.ข้าวสารตราฉัตร 2,000 กิโลกรัม 3.อาหารพร้อมทาน 1,000 ชุด 4.น้ำดื่ม 12,000 ขวด 5.ไข่ไก่สด 12,000 ฟอง 6.วัตถุดิบอาหารสดสนับสนุนโรงครัว 1,000 กิโลกรัม 7.รถโมบายสัญญาณทรู 5G เป็นต้น 


นอกจากนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ และธุรกิจห้าดาวภาคเหนือ นำซีพีอาสา มูลนิธิสว่างรวมใจนครน่านและจิตอาสาในพื้นที่ ส่งมอบอาหารจากใจ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.น่าน ประกอบด้วย เนื้อไก่ 400 กิโลกรัม เนื้อหมู 400 กิโลกรัม ไข่ไก่ 12,000 ฟอง 


น้ำดื่มซีพี 12,000 ขวด ข้าวตราฉัตร 2,000 กิโลกรัม อาหารพร้อมทาน 1,000 ชุด ถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภค 1,000 ชุด เพื่อสนับสนุน 10 โรงครัวให้กลุ่มแม่บ้านจิตอาสาปรุงอาหารเพื่อแจกจ่ายผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม


 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทั้งภาครัฐ ธนาคาร และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ต่างออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม 


และเมื่อเร็วๆ นี้  รัฐบาลก็มีการตั้ง ศูนย์อำนวยการสถานการณ์อุทกภัย ดูแลตั้งแก่ป้องกัน แก้ไข เยียวยา บริหารจัดการน้ำระยะเร่งด่วน จึงมองว่าสถานการณ์ในครั้งนี้แม้จะดูสาหัสแต่จะไม่รุนแรงเท่าปี 2554 แน่นอน 

ข่าวแนะนำ