TNN ร้านอาหารจีน-ชานม แห่บุกตลาดโลก l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

ร้านอาหารจีน-ชานม แห่บุกตลาดโลก l การตลาดเงินล้าน

ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม แนวใหม่สัญชาติจีน ขยายสาขาในต่างประเทศมากขึ้น โดยกระจายไปทั่วโลก แต่ก็เน้นหนักในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข้อมูลจากเว็บไซต์ข่าวออนไลน์สัญชาติจีน ไฉซินโกลบอล (Caixinglobal) พบว่าธุรกิจคลื่นลูกใหม่ของจีน ประเภทร้านอาหาร และเครื่องดื่ม จำนวนหลายแบรนด์ กำลังขยายตลาดออกไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว โดยเน้นหนักอยู่ในตลาดภูมิภาคอาเซียน (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) รวมถึง อเมริกาเหนือ และ ยุโรป 

เริ่มที่ ไห ตี่ เลา (Haidilao) เชนร้านหม้อไฟรายใหญ่ของจีน ซึ่งมีประสบการณ์ในการขยายออกสู่ต่างประเทศมากที่สุด เพราะได้เริ่มขยายสาขานอกประเทศจีน ตั้งแต่ปี 2012 (หรือ 12 ปีที่แล้ว) สาขาแรกอยู่ที่ ย่านคลาร์กคีย์ ในสิงคโปร์ และข้อมูล ณ สิ้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา มีสาขาอยู่นอกจีนจำนวนถึง 119 สาขา ซึ่งจำนวน 3 ใน 5 ของสาขาร้านในต่างประเทศ อยู่ในภูมิภาคอาเซียน

จากนั้นก็มีร้านอาหารรายอื่น ๆ ตามออกมา ทำให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ร้านอาหารเสฉวนและหมาล่า ไท่ เออร์ (Tai Er) ร้านนี้ มีเมนูขึ้นชื่อ คือปลาต้มผักกาดดอง มีสาขานอกประเทศแล้วกว่า 18 แห่ง ทั้งที่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา

ขณะเดียวกัน ร้านหม้อไฟ จางเลี่ยง หมาล่าทั่ง (Zhangliang Malatang) ข้อมูล ณ สิ้นปีที่แล้ว มีสาขา อยู่นอกจีน จำนวน 63 สาขา อยู่ใน 15 ประเทศ

และร้านข้าวไก่ตุ๋น หยาง (Yang's Braised Chicken Rice) มีสาขานอกจีน อยู่มากกว่า 100 แห่ง ใน 10 ประเทศ

ส่วนเชนร้านเครื่องดื่ม ประเภทกาแฟ และ ชานมไข่มุก มีการขยายสาขาในต่างประเทศรวดเร็วกว่าธุรกิจ ร้านอาหาร ได้แก่ 

มี่เสวี่ย (Mixue) ที่เริ่มขยายสาขาในต่างประเทศเมื่อปี 2018 ที่ เวียดนาม เป็นแห่งแรก และข้อมูลตัวเลข ณ สิ้นปีที่แล้ว ขยายไปแล้ว 11 ประเทศ รวมสาขาในต่างประเทศมากกว่า 4,000 สาขา

ขณะที่คู่แข่งอย่าง เฮย์ที (Heytea) เริ่มขยายตั้งแต่ปี 2018 ปัจจุบันมีมากกว่า 30 สาขาแล้วในต่างประเทศ ทั้งที่ ลอนดอน, เมลเบิร์น, นิวยอร์ก, กัวลาลัมเปอร์ และ แวนคูเวอร์

อีกแบรนด์คือ ชาจี (Chagee) เป็นแบรนด์ร้านชาพรีเมียม ที่เริ่มขยายออกนอกประเทศเมื่อปี 2019 ที่ประเทศมาเลเซีย เป็นแห่งแรก ปัจจุบันมีสาขานอกจีนรวมกว่า 100 สาขา และเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ได้เปิดสาขาเพิ่มที่สิงคโปร์ อีกด้วย

และแบรนด์ร้านชา อื่น ๆ ที่เริ่มบุกตลาดต่างประเทศแล้วเช่นกัน อาทิ ร้าน ซูอี ทีลิเชียส (Shuyi Tealicious) มีการลงทุนในมาเลเซีย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และสเปน รวมถึงร้าน ชาไป่เป้า (Chabaidao) หรืออีกชื่อก็คือ ชาแพนด้า เปิดสาขานอกประเทศครั้งแรกที่กรุงโซล เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมาที่เอง และปัจจุบันมี 8 สาขานอกจีน ที่ เกาหลีใต้ ไทย และออสเตรเลีย

ส่วน Luckin Coffee ซึ่งเป็นเชนร้านกาแฟยักษ์ใหญ่ในจีน ได้เปิดสาขาในต่างประเทศแห่งแรกที่สิงคโปร์ เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว (2023) และจนถึงล่าสุด (เดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา) มีสาขารวมนอกประเทศรวมแล้ว 38 แห่ง 

ทั้งนี้ นิเคอิ รายงานว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มของจีน ได้ขยายไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างรวดเร็ว รวมถึงอเมริกาเหนือ และยุโรป โดยได้แรงหนุนส่วนหนึ่งมาจากตลาดภายในประเทศถึงจุดอิ่มตัว และการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น 

ซึ่ง รองผู้จัดการทั่วไปของร้านไก่ตุ๋น หยาง (Yang's) บอกว่า การแข่งขันระหว่างธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มขนาดเล็กในประเทศจีนนั้นรุนแรงมาก บริษัทฯ จึงต้องมองหาการเติบโตทั้งในประเทศ และต่างประเทศควบคู่กันไป

ส่วนหลิน ตัน (Lin Tan) ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ ของ เพย์อินวัน (PayInOne) ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางาน และจัดทำบัญชีเงินเดือนให้กับธุรกิจจีนที่ดำเนินการในต่างประเทศ กล่าวว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทจีน มีการจ้างงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่า 200% และเช่นเดียวกับปีนี้ ที่พบว่าธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม กำลังรับสมัครงานจำนวนมากอยู่ในต่างประเทศ

พร้อมบอกด้วยว่า ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้ ใช้กลยุทธ์ทั้งรูปแบบแฟรนไชส์ และลงทุนเอง แต่ส่วนใหญ่จะเลือกขยายธุรกิจด้วยแฟรนไชส์ โดย ไหตี่เลา เลือกที่จะเปิดร้านของตัวเองในต่างประเทศ

ส่วนรายอื่น ๆ ที่ขยายด้วยรูปแบบแฟรนไชส์ จะแสวงหาผู้ประกอบการชาวจีนในต่างประเทศ ให้ทำธุรกิจและจัดการร้านของตนเอง ทั้งอาศัยความเฉียบแหลมทางธุรกิจและความรู้ในท้องถิ่นจากชาวจีนโพ้นทะเลในการเลือกทำเลที่ตั้ง และการดำเนินกิจการ ซึ่ง ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ร้าน เฮย์ที, มี่เสวี่ย, ข้าวไก่ตุ๋นหยาง และ จางเลี่ยง หมาล่าทั่ง ต่างก็ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวนี้ในการขยายตลาดต่างประเทศ ซึ่งสามารถขยายได้อย่างรวดเร็ว

โดยส่วนใหญ่ยังเลือกเข้ามาในตลาดอาเซียนก่อนเป็นอันดับแรก เพราะจะใช้ต้นทุนไม่มากนัก บวกกับบริการจัดการได้ง่ายกว่า และสามารถคืนทุนได้เร็ว จากนั้นจะค่อย ๆ ขยายไปยังยุโรป อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

นอกจากนี้ พบว่าหลายรายจะพุ่งเป้าไปที่ประเทศสิงคโปร์ โดยให้เป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่ตลาดตะวันตก และมองว่า พวกเขาสามารถจะทดสอบความต้องการของผู้บริโภค และความสามารถของตนเองในการดำเนินธุรกิจนอกประเทศจีน

ขณะเดียวกัน ธุรกิจจีนเอง ก็กำลังปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย ทั้งการปรับเปลี่ยนเมนู และรูปแบบการจัดการภายในร้าน เช่น ร้าน จางเลี่ยง มหาล่าทั่ง มีการแนะนำขึ้นตอนในการกินหมาล่าทั่ง ให้กับลูกค้าที่ไม่คุ้นชินกับวิธีการเลือกส่วนผสมของตัวเอง หรืออีกแบรนด์ คือ ไท่ เออร์ สำหรับสาขาในตลาดอเมริกาเหนือ มีการปรับรูปแบบ จากการชำระเงินด้วยตนเอง และการบริการด้วยตนเอง ออกไป และนำพนักงานเข้ามาสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า เพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมในการให้ ทิป ของท้องถิ่นนั้น ๆ

รายงานข่าวระบุด้วยว่า บริษัทอาหารและเครื่องดื่มของจีน กำลังสร้างห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่น โดยจะนำเข้าส่วนผสมหลักจากประเทศจีน เพื่อรักษาคุณภาพและความถูกต้องของรสชาติอาหาร เป็นสินค้าที่ขนส่งได้ง่าย เช่น ซุป และเครื่องปรุงรสจากประเทศจีน ส่วนวัตถุดิบที่เน่าเสียง่าย ก็จะจัดหาจากท้องถิ่นนั้น ๆ วิธีการนี้จะช่วยรักษารสชาติหลักของอาหาร ขณะเดียวกัน จะรับประกันความสดใหม่ และลดความท้าทายด้านโลจิสติกส์

อย่างไรก็ดี ด้วยวิธีการดังกล่าวยังเป็นความเสี่ยงของผู้ประกอบการ ต่ออุปสรรคด้านซัพพลายเชนที่ต้องบริการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ 

ไปดูความเคลื่อนไหวของเชนร้านกาแฟยักษ์ใหญ่ของจีน Luckin Coffee ที่ปัจจุบันมีสาขาในประเทศมากกว่า 20,000 แห่ง และล่าสุดมีรายงานข่าวถึงการรุกตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเว็บไซต์ ไชน่า เดย์ลี อ้างอิงสื่อท้องถิ่นของจีน ระบุว่า Luckin Coffee มีแผนการขยายสาขาครั้งใหญ่ในไตรมาส 4 ของปีนี้ และไตรมาส 1 ปีหน้า (2025) โดยเน้นที่ตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสหรัฐอเมริกา เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตในระยะต่อไป ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดในประเทศ

ซึ่งในสิงคโปร์ เชนร้านกาแฟรายนี้ มีสาขาลงทุนเองถึง 38 สาขา โดยไม่เน้นขายถูกเหมือนในจีน และมีแผนจะขยายการดำเนินงานในภูมิภาคใกล้เคียง โดยมีสำนักงานภูมิภาคอยู่ที่สิงคโปร์ สำหรับการดำเนินธุรกิจในอาเซียน

ข่าวดังกล่าว ระบุด้วยว่า ในการเข้าสู่ตลาดมาเลเซียนั้น Luckin Coffee ได้เริ่มหารือกับทาง บีเจ ฟูด (BJ Food) เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ซึ่ง บีเจ ฟูด นั้น ปัจจุบันเป็น แฟรนไชเซอร์ (franchiser) หรือผู้ให้สิทธิในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ของ สตาร์บัค ในมาเลเซีย 

และในการเตรียมความพร้อมการขยายธุรกิจต่างประเทศ บริษัทดังกล่าว ยังได้เริ่มสร้างโรงคั่วกาแฟ 2 แห่ง และอีก 1 แห่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้ประกาศแผนการซื้อเมล็ดกาแฟประมาณ 120,000 เมตริกตันจากบราซิลตั้งแต่ปี 2024 ถึง ปี 2025

ส่วนตลาดในประเทศ จะมุ่งขยายการเติบโตไปสู่เมนูเครื่องดื่มใหม่ ๆ เช่น การเปิดตัว ไลท์ จัสมิน ที ที่กลายเป็นสินค้าขายดีที่มียอดขายถึง 11 ล้านแก้ว ในสัปดาห์แรก ซึ่งถือว่ามีศักยภาพในการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญสำหรับร้านกาแฟ

ข่าวแนะนำ