TNN Fast Fashion ระเบิดเวลา ทำลายโลก | เศรษฐกิจ insight

TNN

เศรษฐกิจ

Fast Fashion ระเบิดเวลา ทำลายโลก | เศรษฐกิจ insight

"Fast Fashion" หรือเทรนด์แฟชั่นที่มาไวไปไว สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล กลับส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในวงกว้าง อาทิ เสื้อผ้าราว 1 แสนล้านตัวที่ผลิตแต่ละปี หรือกว่า 92 ล้านตัน

สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ออกบทวิเคราะห์สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญต้องติดตามเรื่อง " Fast Fashion กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม" โดยระบุว่า 


Fast Fashion  หรือ เทรนด์แฟชั่นที่มาไวไปไวประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายส่งผลให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีการผลิตสินค้าตามกระแสที่คุณภาพต่ำ และราคาถูก โดยบางแบรนด์สามารถออกสินค้าใหม่กว่า 10,000 รายการ ในทุกสัปดาห์ เพื่อให้คนสามารถหาซื้อได้บ่อยครั้ง ส่งผลให้ธุรกิจ Fast Fashion เติบโตอย่างรวดเร็ว 


จากข้อมูล Research and Markets พบว่า ในปี 2567 มูลค่าตลาดของธุรกิจ Fast Fashion อยู่ที่ 142.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 15.5  และคาดว่าในปี 2571 จะมีมูลค่าสูงถึง 197.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกัน McKinsey & Company ประเมินว่าธุรกิจดังกล่าวยังสร้างงานให้กับผู้คนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2566 มีการจ้างงานมากถึง 300 ล้านคน  


สำหรับประเทศไทย ไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ Fast Fashion ไว้อย่างชัดเจน โดยถูกรวมอยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งในปี 2565 มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่ามากถึง 160,000 ล้านบาท 


และจากข้อมูลปริมาณการผลิตและนำเข้าของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่า ในปี 2566 มีการผลิตเส้นใย 720,000 ตัน ผ้าผืน 287.1 ล้านเมตร และเสื้อผ้าสำเร็จรูปอยู่ที่ 110.8 ล้านชิ้น  นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าสินค้าในกลุ่มเส้นใยมูลค่ากว่า 52,000  ล้านบาท และเสื้อผ้าสำเร็จรูปอีกกว่า  48,000 ล้านบาท โดยแรงงานที่อยู่ในภาคส่วนดังกล่าวมีจำนวนทั้งสิ้น 620,000  คน  และส่วนใหญ่อยู่ในสาขาการผลิตเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายในสัดส่วนมากถึงร้อยละ 68.1


อย่างไรก็ตาม แม้ Fast Fashion จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่กระบวนการผลิตในหลายขั้นตอนกลับส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม  โดยผลกระทบด้านสังคมที่สำคัญคือ


1) การปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุตสาหกรรมแฟชั่นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 1,700 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึงประมาณร้อยละ 10 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ทั่วโลก สูงกว่าอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางเรือรวมกัน ซึ่งอยู่ที่ประมาณเพียงร้อยละ 4 และคาดว่าภายในปี 2573 อุตสาหกรรมแฟชั่นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อาจเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50  2) การใช้น้ำเป็นจำนวนมาก และมลภาวะทางน้ำและอากาศที่มาจากกระบวนการย้อมและตกแต่ง 3) การเพิ่มขึ้นของขยะที่ย่อยสลายยาก จากข้อมูลการวิจัยขององค์กร Earth.org ปี 2566 ระบุว่า เสื้อผ้าราว 1 แสนล้านตัวที่ผลิตขึ้นในแต่ละปี หรือมีจำนวนกว่า 92 ล้านตัน 4) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและธรรมชาติที่เสื่อมโทรม โดยเฉพาะในกระบวนการปลูกวัตถุดิบ การปลูกฝ้ายเพื่อการผลิตสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกมากถึงร้อยละ 2.5 ของโลก


ในขณะที่กรณีของประเทศไทย  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมดังกล่าวจะปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ประมาณร้อยละ 4 – 8 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ทั้งประเทศ อีกทั้ง ขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมดังกล่าวกว่าร้อยละ 85 ยังถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่มีการนำไปบริจาคหรือรีไซเคิล


จากผลกระทบของ Fast Fashion ที่ได้กล่าวมานี้ ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลก เริ่มตระหนักมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการรับมือและกำกับควบคุมผลกระทบ ซึ่งประเทศไทยอาจต้องดำเนินการเพื่อป้องกันและลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น อาทิ 


1) การสนับสนุนให้อุตสาหกรรมสิ่งทอปรับตัวให้สอดรับกับกระแส Sustainable Fashion และ Textile Recycling ที่ต้องลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อาทิ การมีมาตรการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและยกระดับสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล 

2) การส่งเสริมให้มีการคัดแยกและจัดเก็บข้อมูลขยะประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะขยะสิ่งทอ เนื่องจากเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากในอนาคต 


และ 3) การกำกับดูแลการโฆษณา/การตลาดที่ส่งเสริมการขายสินค้า Fast Fashion ที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยการกำหนดเงื่อนไขการโฆษณาอย่างเหมาะสม อาทิ การให้ข้อมูลรายละเอียดการผลิต/กระบวนการผลิต ข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนมีการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคควบคู่ไปด้วย


ที่มา TNN


ข่าวแนะนำ