TNN จ้างงานลด ว่างงานเพิ่ม หลังฟื้นจากโควิด I เศรษฐกิจ insight

TNN

เศรษฐกิจ

จ้างงานลด ว่างงานเพิ่ม หลังฟื้นจากโควิด I เศรษฐกิจ insight

จ้างงานลด ว่างงานเพิ่ม หลังฟื้นจากโควิด I เศรษฐกิจ insight

จับตาสถานการณ์แรงงานไทย ข้อมูลล่าสุดไตรมาส 2 ปี 2567 สภาพัฒน์รายงาน การจ้างงานลดลง ว่างงานเพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังฟื้นจากโควิด ส่วนเด็กจบใหม่ตกงานน้อยลง แนะ 3 ทักษะที่ต้องมีในอนาคต " การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี" สำหรับประเด็นด้านแรงงานที่ควรให้ความสำคัญระยะต่อไปมีอะไรบ้าง

จากข้อมูล สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยรายงานภาวะสังคม ไทยไตรมาส 2 ปี 2567  จากข้อมูลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ (LFS) พบว่า ภาพรวมการจ้างงานปรับตัวลดลงร้อยละ 0.4 จากไตรมาส 2 ของปี 2566  โดยผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.5 ล้านคน  


ทั้งนี้ การจ้างงานที่ปรับลดลงร้อยละ 0.4  เป็นการลดลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาส และต่ำสุดในรอบ 10 ไตรมาสหรือตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2565  


การจ้างงานที่ลดลงเป็นผลจาก "การจ้างงานภาคเกษตรกรรม" หดตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ร้อยละ 5.0 จากปัญหาการขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ เช่นเดียวกับกำลังแรงงานรอฤดูกาลที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 26.9 


สำหรับการจ้างงานใน "สาขานอกภาคการเกษตร"ยังคงขยายตัวได้ทุกสาขา โดยสาขาการขนส่งและเก็บสินค้าปรับตัว ดีขึ้นร้อยละ 9.0 ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคารยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 4.9 ซึ่งมีปัจจัยสำคัญจากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยในเดือนเมษายน 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่าร้อยละ 26.4 


เช่นเดียวกับสาขาการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น ตามสถานการณ์การส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น สำหรับสาขาการค้าส่งและค้าปลีกยังขยายตัวได้ไม่มากนักหรือขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ขณะที่สาขาการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.5 ชะลอลงกว่าไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอาจเป็นผลต่อเนื่องจากการหดตัวของอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยที่ทำให้อุปทานทั้งใบอนุญาตจัดสรรที่ดินและพื้นที่อนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยลดลงตามไปด้วย


ขณะที่ ตัวเลขชั่วโมงการทำงานค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ที่ 42.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสสอง ปี 2566 ร้อยละ 0.3 ขณะที่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของภาคเอกชนอยู่ที่ 46.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 


ทั้งนี้ ตัวเลขการจ้างงานที่ลดลงสอดคล้องกับตัวเลขการว่างงานที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เมื่อปี 2565 โดยมีผู้ว่างงานมีจำนวน 430,000  คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นอัตราว่างงานร้อยละ 1.07 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.06 ในปีที่แล้ว   


โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน ขณะที่กลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวนลดลง โดยเฉพาะกลุ่มที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา สำหรับผู้ว่างงานระยะยาวยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยไตรมาสสอง ปี 2567 ลดลงร้อยละ 5.7 หรือมีจำนวนประมาณ 7 หมื่นคน 


ขณะที่อัตราการว่างงานในระบบประกันสังคมอยู่ที่ร้อยละ 1.92 ของผู้ประกันตนมาตรา 33  (กราฟเส้นสีน้ำเงิน) โดยมีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานทั้งสิ้น 230,000  คน ลดลงร้อยละ 7.8 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน


อย่างไรก็ดี ตัวเลขอัตราการว่างานรวมที่ร้อยละ 1.07 แม้จะเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่ฟื้นตัวจากโควิด 19  แต่ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ ระบุว่าเป็นตัวเลขที่ไม่อันตรายสำหรับเศรษฐกิจไทย โดยในระยะต่อไป หรือไตรมาสถัดไป คาดว่าอัตราการว่างงานจะปรับดีขึ้น หรือมีแนวโน้มลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย


สศช. จึงมองว่าประเด็นด้านแรงงานที่ต้องให้ความสำคัญในระยะถัดไป ได้แก่ การปรับตัวของแรงงานให้มีทักษะที่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดยปัจจุบันภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการพัฒนาการทำงานเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันทั้งกับคู่แข่งภายในและภายนอกประเทศ 


โดยรายงาน Future of Job Report 2023 ของ World Economic Forum (WEF) พบว่า ร้อยละ 44 ของทักษะแรงงานจะหายไปในอีก 5 ปีข้างหน้า อีกทั้ง ภายในปี 2027(พ.ศ. 2570)  งานในภาคธุรกิจกว่าร้อยละ 42 จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ และจะนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก 


2. ผลกระทบของการขาดสภาพคล่องของ SMEs และปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นต่อการจ้างงานโดย SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่รองรับแรงงานไว้เป็นจำนวนมาก และในปี 2566 มีสัดส่วนของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ถึงร้อยละ 35.2 


3. ผลกระทบของอุทกภัยต่อผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ของเกษตรกร โดยประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนแล้วตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม และได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ในบางพื้นที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง 


ข่าวแนะนำ