TNN สศช. เผยไตรมาส 2 อัตราว่างงานเพิ่ม - แนะแรงงานพัฒนาทักษะ AI

TNN

เศรษฐกิจ

สศช. เผยไตรมาส 2 อัตราว่างงานเพิ่ม - แนะแรงงานพัฒนาทักษะ AI

สศช. เผยไตรมาส 2 อัตราว่างงานเพิ่ม - แนะแรงงานพัฒนาทักษะ AI

สศช. เผยไตรมาส 2 อัตราคนว่างงานเพิ่ม แต่ยังไม่อยู่ในระดับที่เป็นอันตราย แนะแรงงานพัฒนาทักษะ AI สอดคล้องความต้องการนายจ้าง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สถานการณ์แรงงานไตรมาส 2/67 ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.5 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 66 ที่ 0.4% ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลง 5% 


ขณะที่สาขานอกภาคเกษตรกรรม ขยายตัวที่ 1.5% โดยสาขาการขนส่งและเก็บสินค้า ปรับตัวดีขึ้น 9% ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ยังคงขยายตัวได้ดีที่ 4.9% มีปัจจัยสำคัญจากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สาขาการผลิตปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การส่งออก ส่วนสาขาก่อสร้างขยายตัวชะลอลงตามการหดตัวของอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัย

ส่วนชั่วโมงการทำงานค่อนข้างทรงตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยภาพรวมและเอกชนอยู่ที่ 42.8 และ 46.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่ผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้น 2.5% ผู้ทำงานต่ำระดับและผู้เสมือนว่างงาน ลดลง 19.8% และ 8.7% ตามลำดับ ขณะที่อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 1.07% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.3 แสนคน โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.01% ในไตรมาส 1/67


สภาพัฒน์ คาดว่าตัวเลขการว่างงานในช่วงถัดไป ถ้าดูตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มองว่าในไตรมาสถัดไป จะมีส่วนทำให้การว่างงานปรับตัวดีขึ้น ส่วนการว่างงานในไตรมาสนี้ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.07% ยังอยู่ในระดับที่ไม่อันตรายสำหรับเศรษฐกิจไทย แต่ช่วงถัดไปมีแนวโน้มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ


สภาพัฒน์ ยังกล่าวถึงประเด็นที่ต้องติดตามคือ การปรับตัวของแรงงานให้มีทักษะที่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดย World Economic Forum (WEF) ระบุว่า ภายในปี 2570 งานในภาคธุรกิจกว่า 42% จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ ขณะที่ผลการสำรวจของไมโครซอฟท์ประเทศไทย ร่วมกับ LinkedIn พบว่า ผู้บริหารไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI


ขณะที่ การขาดสภาพคล่องของ SMEs และปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นต่อการจ้างงาน SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่รองรับแรงงานไว้เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันประสบปัญหาสภาพคล่อง โดยมีสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ต่อสินเชื่อรวม 7.2% ในไตรมาส 4/66 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว อีกทั้งดัชนีต้นทุนของธุรกิจรายย่อย (Micro) และธุรกิจขนาดกลาง (Medium) ยังเพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานได้


ข้อมูลจาก: สภาพัฒน์ 

ภาพจากAFP 

ข่าวแนะนำ