TNN ทุนจีนบุกลงทุนโครงการบ้านหรูในไทย

TNN

เศรษฐกิจ

ทุนจีนบุกลงทุนโครงการบ้านหรูในไทย

กลุ่มทุนจีนบุกลงทุนภาคอสังหาฯของไทย คาด 10 ปีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ล่าสุดเปิดตัวโครงการบ้านหรูริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำจับตาการแข่งขันกับผู้ประกอบการไทยทวีความรุนแรงขึ้น

ช่วงนี้กระแสการเข้ามาของกลุ่มทุนจีนมีหลากหลายธุรกิจไม่ว่าการลงทุนผลิตสินค้า เปิดกิจการร้านอาหารและให้บริการท่องเที่ยว การขนส่ง รับเหมาก่อสร้าง รวมไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่กลุ่มทุนจีนให้ความสนใจลงทุนมาระยะหนึ่งแล้ว จากเดิมที่นักลงทุนจีนจะซื้อเพื่ออยู่อาศัยและลงทุนปล่อยเช่า ล่าสุดพบว่ามีการเข้ามาพัฒนาโครงการเองผ่านบริษัทร่วมทุนกับคนไทย โดยเน้นไปที่เมืองท่องเที่ยวยอดนิยม ไม่ว่าจะกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่

ล่าสุดพบมีการลงทุนย่านสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี  โดยเป็นโครงการคฤหาสน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  บนเนื้อที่ 30 ไร่  ภายใต้ชื่อบริษัท เหลียนเซิง จำกัด ซึ่งก่อตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,500 ล้านบาท ทำธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จัดสรรที่ดินและบ้าน ซื้อขายบ้านเดี่ยว อาคารพาณิชย์ ที่พักอาศัยติดแม่น้ำเจ้าพระยา การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเอง เพื่อการพักอาศัย

ปัจจุบันโครงการกำลังเดินเครื่องก่อสร้าง รูปแบบเป็นเดี่ยวหรู 5 ชั้น ทุกหลังมีห้องใต้ดิน สระว่ายน้ำ มีจำนวน 60 หลัง ราคาเริ่มต้นประมาณหลังละ 100 ล้านบาท ยังมีอาคาร 2 ชั้นเป็นอาคารพาณิชย์และสำนักงาน รวมถึงท่าเรือ โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นนักธุรกิจชาวจีนที่ต้องการมีบ้านหลังที่ 2 ในเมืองไทย


เรื่องนี้นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด  ระบุว่าการเข้ามาของทุนจีนทั้งในรูปแบบของนักลงทุนรายย่อยไปจนถึงรูปแบบของบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้ามาพร้อมเงินลงทุนมหาศาล ยังพร้อมที่จะแข่งขันในด้านของราคาด้วยโดยรูปแบบนี้เป็นการเข้ามาลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่ซื้อขายสินค้าอุปโภคบริโภค และเข้าไปสร้างผลกระทบรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกมาตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงประเทศไทยด้วย


แต่ที่ต้องจับตามองและให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือการเข้ามาลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่อาจจะเข้ามาใน 2 รูปแบบคือ 1.ลงทุนเอง 100% โดยจดทะเบียนนิติบุคคลแล้วหาผู้ร่วมทุนไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลหรือคนทั่วไปชาวไทยแล้วจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ในสัดส่วน 51:49 ตามกฎหมายไทย แต่อำนาจในการบริหารหรือเงินลงทุนอยู่ในการตัดสินใจของคนจีน และ 2.แบบร่วมทุนโดยกลุ่มนี้อาจมีธุรกิจอื่นในไทยแล้วขยายมายังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการร่วมทุนกับคนไทยแล้วจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ตามกฎหมายประเทศไทย กลุ่มนี้มีความยืดหยุ่นในการบริหารมากกว่ากลุ่ม 1 แม้ว่าอำนาจในการบริหารจะอยู่ในกลุ่มผู้บริหารคนจีนเหมือนกัน


อย่างไรก็ตามการลงทุนในอสังหาฯของจีน อาจร่วมทุนเป็นรายโครงการแล้วจบ ไม่ต่อเนื่องเหมือนการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยกับญี่ปุ่นที่ต่อเนื่องกันหลายปีเพราะรูปแบบการบริหารแบบจีนที่ค่อนข้างรวบมาเป็นของตนเองทั้งหมด ซึ่งไม่ถูกใจผู้ประกอบการไทยที่มีตัวเลือกที่ดีกว่า  ดังนั้นการร่วมทุนระหว่างไทยและจีนจึงมักจบเพียง 1 โครงการ 

ส่วนมูลค่าลงทุนของนักลงทุนจีนในธุรกิจอสังหาฯ ของไทยคาดว่าจะมีมากถึง 1 แสนล้านบาทในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรืออาจจะมากกว่านี้เพียงแต่กลุ่มนักลงทุนจีนไม่ค่อยเปิดเผยตัวตนหรือแสดงออกชัดเจนว่าเป็น นักลงทุนหรือผู้ประกอบการจากจีน เพราะคนไทยยังคงให้น้ำหนักกับกลุ่มนักลงทุนจีนน้อยกว่าผู้ประกอบการจากประเทศอื่นๆ


นาย เค่อเจีย เตียว (ไมค์)  กรรมการผู้จัดการบริษัท ฮาร์วี่แลนด์ จำกัด  ให้ความเห็นว่านักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยมานานแล้วทั้งลงทุนพัฒนาโครงการที่จัดตั้งบริษัทร่วมกับคนไทย เช่น โครงการคอนโดมิเนียมทีซีกรีน พระราม 9 และโครงการวัน ไนน์ ไฟว์ อโศก-พระราม 9 รวมถึงการเข้ามาซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อลงทุนปล่อยเช่า ซึ่งตามกฎหมายต่างชาติสามารถซื้อคอนโดมิเนียมได้ 49% ของพื้นที่โครงการ แต่ขณะนี้ด้วยภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศไทยยังไม่ค่อยดีนักจึงอาจจะมีการชะลอซื้อหรือลงทุนไปบ้าง


ดังนั้นจะเห็นว่าแนวโน้มนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน อสังหาฯในไทย ยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หากบริษัทพัฒนาอสังหาฯของจีนให้ความสนใจเข้ามาขยายตลาดในไทยมากขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจและภาคอสังหาฯในจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว อาจทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯไทยต้องเจอศึกหนักก็เป็นได้

ข่าวแนะนำ