TNN เครื่องใช้ไฟฟ้า “จีน-ญี่ปุ่น” ย้ายโรงงาน ดันไทยฐานผลิตโลก

TNN

เศรษฐกิจ

เครื่องใช้ไฟฟ้า “จีน-ญี่ปุ่น” ย้ายโรงงาน ดันไทยฐานผลิตโลก

ไทยถือเป็นฐานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญและมีการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าติดอันดับโลก ล่าสุดบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนและญี่ปุ่น ประกาศขยายการลงทุนมาไทยเพิ่มขึ้น ตรงนี้น่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในระยะยาว

ในช่วงนี้เราจะเห็นข่าวของบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของจีนหลายราย ประกาศลงทุนโรงงานในไทย เพื่อสร้างฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปทั่วโลก

 “ไฮเออร์” ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภครายใหญ่ของจีน ประกาศใช้งบลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท สร้างโรงงานเพิ่มอีก 1 แห่ง เพื่อผลิตเครื่องปรับอากาศ บนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

มร. โจว หยุนเจี๋ย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ กรุ๊ป ระบุว่าการเลือกไทยตั้งโรงงานเครื่องปรับอากาศแห่งแรกในอาเซียน เพราะมองเห็นศักยภาพของไทย โดยโรงงานแห่งนี้จะเป็นฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศของไฮเออร์ที่อยู่นอกประเทศจีน 

ไฮเออร์มีแผนที่ผลิตสินค้าในไทย เพื่อจะส่งออกไปยังประเทศในอาเซียน ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น

สำหรับโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศดังกล่าว มีกำลังผลิต 6 ล้านเครื่องต่อปี โดยมีก่อสร้างแบ่งเป็น 3 เฟส โดยเฟสแรกจะเปิดไลน์การผลิต 3 ล้านเครื่องในเดือนกันยายน 2568 ส่วนเฟสที่สองแล้วเสร็จในปี 2569 และเฟสสามจะเสร็จสิ้นในปี 2570 

การลงทุนในไทยครั้งนี้ถือเป็นการทุ่มเม็ดเงินครั้งใหญ่ในไทยรอบ 17 ปี นับตั้งแต่ปี 2550 ที่ไฮเออร์ได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศและเครื่องซักผ้าในไทยแห่งแรกที่ จ.ปราจีนบุรี โดยมีกำลังผลิตราว 2.7 ล้านเครื่องต่อปี

ผู้บริหารไฮเออร์ระบุว่า การเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของไฮเออร์ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมืออันดีระหว่างจีนและไทย ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้เติบโตร่อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดวิสัยทัศน์ของไฮเออร์ที่พร้อมจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมาตรฐานในระดับสากล 

ส่วน “บริษัท ทีซีแอล อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ TCL ก็มีแผนจะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยด้วยเช่นกัน” ก่อนหน้านี้TCL นำสินค้าจากจีนมาทำตลาดในไทย พบว่าได้รับการตอบรับจากคนไทยเป็นอย่างดี ซึ่งจอห์นนี่ หยี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีซีแอล อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ประกาศเป้าขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยภายใน 5 ปี โดยมีเผยมีแผนลงทุนสร้างโรงงานในไทยภายใต้งบประมาณสูงถึง 5 แสนล้านบาท เน้นการผลิตสินค้าหลากหลายชนิด เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น ทีวี เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์ พร้อมผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก 

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ TCL  ระบุมีศักยภาพมากที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยไทยมีศักยภาพด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เช่น ระบบไฟฟ้าที่เสถียร และนโยบายภาษีที่เอื้อต่อการลงทุน นอกจากนี้การที่สหรัฐอเมริกาเริ่มมีมาตรการทางการค้าที่เข้มงวดขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้าจากจีนเป็นไปได้ยากขึ้น และภูมิศาสตร์ประเทศไทยช่วยให้หลีกเลี่ยงอุปสรรคทางการค้าเหล่านี้ และสามารถขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ได้มากขึ้น 

ปัจจุบัน TCL มีแต่โรงงานประกอบชิ้นส่วนทีวีในประเทศไทยเท่านั้น ส่วนตัวแอร์นำเข้าจากประเทศจีน 100% ดังนั้นการเข้ามาลงทุนในไทยช่วยทำให้เจาะตลาดผู้บริโภคชาวไทยมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศในไทยมียอดขายภาพรวมปีละเกือบ 3 ล้านเครื่องต่อปี มีมูลค่ากว่า 28,000 ล้านบาท 

 

ส่วนตลาดส่งออก สินค้าเครื่องปรับอากาศของไทย  อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ทำให้เห็นว่า ไทยเคยมีอันดับดีที่สุดในปี 2565 คืออันดับ 2 ของโลก 

ส่วนในปี 2566 ไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและเม็กซิโก

โดยในปี 2565 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 243,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20

ในปี 2566 อยู่ที่ 223,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8 จากปีก่อน 

และในช่วง 6 เดือนแรก ปีนี้ (2567) ส่งออกถึง 132,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3 จากปีที่ผ่านมา

 

ส่วนนักลงทุนญี่ปุ่น มีการประกาศย้ายฐานเครื่องใช้ไฟฟ้ามาไทยเช่นกัน

  “โตชิบา”  เตรียมย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย ในกลุ่มเครื่องซักผ้าและตู้เย็น ซึ่งได้ย้ายกลับมาไทยแล้วประมาณร้อยละ 50 โดยได้มีการเตรียมการเรื่องนี้นานถึง 2 ปี คาดว่าปลายปี 2567 จะทยอยย้ายฐานผลิตส่วนที่เหลือมาไทยได้แล้วเสร็จ รวมไปถึงเตรียมแผนสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ในไทยเพิ่ม

อเล็กซ์ มา รองประธาน บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ระบุว่า การหันมาใช้ฐานการผลิตในไทยจะทำให้ราคาสินค้าของโตชิบาแข่งขันในตลาดได้ดีขึ้น รองรับธุรกิจของโตชิบาในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เติบโตขึ้น 

ปัจจัยหลักการย้ายฐานกลับไทยมาจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและจีน รวมไปถึงค่าขนส่งที่เพิ่มมากว่า 3 เท่า จากตอนแรกย้ายฐานผลิตไปจีน เนื่องจากข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุน แต่ขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนจึงทยอยดึงการผลิตบางส่วนกลับมา

ส่วน “บริษัท ชาร์ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด ระบุว่า ไทยเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญ ทั้งในแง่การสร้างยอดขาย และการเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของชาร์ป โดยปัจจุบันชาร์ปมีโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า 2 แห่งในไทย สำหรับการผลิตไมโครเวฟ ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อป้อนตลาดทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เพิ่งย้ายฐานผลิตจากประเทศญี่ปุ่น ในอนาคตชาร์ป เล็งลงทุนในไทยเพิ่มเติม ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะลงทุนเพิ่มในไทยอย่างไร”  

ชาร์ปมองง่า ไทยมีความได้เปรียบในเรื่องภาษี เพราะว่ามีความตกลงทางการค้ากับหลายประเทศ ถ้าเทียบกับสินค้าที่ผลิตในจีน หากส่งออกไปอเมริกา จะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าไทย 

สำหรับโรงงานในไทย ชาร์ปผลิตสินค้า เพื่อตลาดในประเทศ และส่งออกไปทั่วโลก แตกต่างจากโรงงานในบางประเทศที่ผลิตเพื่อรองรับสินค้าในประเทศเท่านั้น

 

การลงทุนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงปีนี้ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม - มิถุนายน) “มีโครงการในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขอรับการส่งเสริมลงทุนจากบีโอไอ 181 โครงการ ขยายตัวร้อยละ 72 โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 139,725 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13”  ซึ่งถือว่ามากที่สุดหากเทียบกับตัวเลขขอรับการส่งเสริมลงทุนในภาพรวม 

แต่ถ้าดูจากตัวเลขจำนวนโครงการขอรับส่งเสริมลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สูงขึ้นมาก แต่ตัวเลขเงินลงทุนลดลง แสดงให้เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นโครงการเล็กๆ ที่เงินลงทุนยังไม่มาก

 

สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่มาลงทุนในไทยมากสุดในปีนี้ คือ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electrical Appliance and Smart Electronics) ที่มี 8 
 โครงการ เงินลงทุน 38,182 ล้านบาท 

รองลงมากิจการผลิตแผงวงจรชนิดอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 12 โครงการมูลค่าเงินลงทุน 34,495 ล้านบาท และกิจการผลิต Electrooptical Device มูลค่าเงินลงทุนจำนวน 3 โครงการเงินลงทุน 13,790 ล้านบาท 

ข่าวแนะนำ