ลุ้นรัฐบาลใหม่ กระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง | เศรษฐกิจ insight
เศรษฐกิจไตรมาส 2 ของไทยยังถือว่าเติบโตต่ำกว่าประเทศอื่น โดย "เวียดนาม" ครองแชมป์ประเทศที่จีดีพีไตรมาส 2 ปีนี้โตเร็วที่สุดในอาเซียน เติบโตร้อยละ 6.93
หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของของไทย โดยมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี จากนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ก็เป็นที่จับตาว่านโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเดิมจะถูกสานต่อหรือไม่ โดยเฉพาะโครงการ "แจกเงินดิจิทัล" 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย
รายการเศรษฐกิจ insight จะพาไปดูแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจากการเมืองเปลี่ยนไป ปัจจัยบวกและลบที่เกิดขึ้น ความคิดเห็นของภาคเอกชนถึงการเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัล และการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในครึ่งปีหลังจะมีอะไรบ้าง
เริ่มจากตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2567 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ครึ่งปีแรกขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.9 เท่านั้นจากปัจจัยรุมเร้าต่างๆ
โดยได้รับปัจจัยหนุน จากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ร้อยละ 4 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 0.3 การส่งออกที่ขยายตัวได้ในไตรมาสนี้ถึงร้อยละ 1.9 แม้การลงทุนรวมยังหดตัวอยู่ร้อยละ 6.2 แต่ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีกว่าในช่วงที่ผ่าน ส่วนในเรื่องของการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐนั้น ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่คาดว่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังที่จะเบิกจ่ายได้มากขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา และปีงบประมาณ 2568 จะมีการเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเวลาที่วางไว้
ดังนั้นจึงสศช. จึงคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.3-2.8 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 2.5 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ร้อยละ 2-3 นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เศรษฐกิจไตรมาส 2 ของไทยยังถือว่าเติบโตต่ำกว่าประเทศอื่น โดย "เวียดนาม" ครองแชมป์ประเทศที่จีดีพีไตรมาส 2 ปีนี้โตเร็วที่สุดในอาเซียน เติบโตร้อยละ 6.93 จากแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศ และกิจกรรมทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น อันดับ 2 คือ ฟิลิปปินส์ เติบโตร้อยละ 6.30 อันดับ 3 คือ มาเลเซีย เติบโตร้อยละ 5.90 อันดับ 4 คือ อินโดนีเซีย เติบโตอยู่ที่ร้อยละ 5.05 และอันดับ 5 สิงคโปร์ เติบโตร้อยละ 2.90
ส่วนกรณีจะมีการเดินหน้าโครงการมาตรการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อ หลังจากเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ไปถึง 30 ล้านคนหรือไม่ในรัฐบาลใหม่ของน.ส.แพทองธาร ชินวัตรนั้น สศช.มองว่า มาตรการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ต้องอยู่ที่ตัวรัฐบาลว่าจะตัดสินใจอย่างไร แต่ถ้าหากไม่มีการดำเนินงานในโครงการดังกล่าวจริง รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อย ดังนั้น เรื่องนี้จะต้องติดตามความเห็นของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีว่าจะมีความเห็นอย่างไรอีกครั้ง
ที่มา TNN
ข่าวแนะนำ