สงครามชิปลากยาว มาเลเซียนำโด่งดึงดูดเงินลงทุน
สหรัฐฯ และจีน เป็นคู่ค้าและคู่แค้นกันมานาน ในช่วง 1-2 ปีนี้ สหรัฐฯ เน้นออกมาตรการและระเบียบทางการค้าใหม่ๆ ต่อต้านสินค้าเทคโนโลยีจากจีนโดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์หรือชิป ทำให้บริษัทผลิตชิปมองหาแหล่งลงทุนใหม่ๆ นอกเหนือจากจีน อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคน่าลงทุน แต่จะมีไทยรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ไปติดตามกัน
การที่สหรัฐฯ เน้นหนักกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์หรือ "ชิป" เพราะชิป ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ
มีข่าวออกมาว่า ในเดือนส.ค.นี้ รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมประกาศกฎใหม่ เพื่อเพิ่มอำนาจสหรัฐในการสกัดกั้นการส่งออกอุปกรณ์ผลิตชิปจากนอกประเทศสหรัฐฯ “โดยกฎใหม่นี้จะขยายขอบเขตของมาตรการห้ามบริษัทต่างชาติขายสินค้าที่ผลิตโดยเทคโนโลยีของสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้โรงงานผลิตชิปของจีนประมาณ 6 แห่งที่เป็นศูนย์กลางการผลิตชิปของจีน ไม่สามารถซื้ออุปกรณ์ผลิตชิปจากหลายประเทศหรือดินแดน เช่น อิสราเอล ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย”
นอกจากนี้ สหรัฐยังเตรียมเพิ่มบัญชีดำทางการค้ากับบริษัทจีนราว 120 แห่ง ซึ่งรวมถึงโรงงานผลิตชิปประมาณ 6 แห่ง บริษัทผู้ผลิตเครื่องมือ บริษัทซอฟต์แวร์ออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ (EDA)”
บริษัทจีนมีการเตรียมความพร้อมเพื่อไม่ให้การผลิตหยุดชะงัก “มีรายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีน เช่น หัวเว่ย (Huawei) และไป่ตู้ (Baidu) ตลอดจนสตาร์ตอัปรายอื่น ๆ เร่งซื้อชิปหน่วยความจำแบนด์วิดท์สูง (HBM) จากซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ (Samsung Electronics) ของเกาหลีใต้ มาตั้งแต่ต้นปี เพื่อรับมือหากสหรัฐ ฯ จะจำกัดการส่งออกชิปไปยังจีน”
มีการประเมินกันว่า มาตรการที่คุมเข้มส่งออกชิปไปจีนรอบใหม่ จะรวมถึงชิป HBM ด้วย โดยชิป HBM เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการพัฒนาหน่วยประมวลผลขั้นสูงอย่างหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ที่สามารถรองรับปัญญาประดิษฐ์ generative AI โดยมีผู้ผลิตขนาดใหญ่เพียง 3 รายเท่านั้นที่สามารถผลิตชิป HBM ได้แก่ เอสเค ไฮนิกซ์ และซัมซุงจากเกาหลีใต้ และไมครอน เทคโนโลยี จากสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ ไมครอน บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐ งดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ HBM ให้กับจีนไปแล้ว ส่วนเอสเคไฮนิกส์ ของเกาหลีใต้ก็มีบริษัทผลิตชิป อินวิเดียของสหรัฐเป็นลูกค้ารายใหญ่ และขายชิป HBM3E และชิป HBM ให้กับบริษัทของสหรัฐฯ ไปจนหมดถึงปีหน้าแล้ว
จึงเหลือเพียงซัมซุมที่ยังซื้อขายกับบริษัทในจีนได้ ดังนั้นจึงเกิดปรากฎการณ์สั่งซื้อซิปจำนวนมากตั้งแต่ช่วงต้นปี ส่งผลให้ยอดขายให้จีนมีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 30 ของรายได้จากชิป HBM ของซัมซุงในช่วงครึ่งแรกของปี 2567
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการที่จีนเตรียมพร้อมที่จะพัฒนาเป้าหมายด้านเทคโนโลยีท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นกับสหรัฐฯ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า ความตึงเครียดดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบต่ออุปทานชิปด้วยเช่นกัน
มีการประเมินว่าชาติในอาเซียน เป็นภูมิภาคที่น่าจะได้รับประโยชน์มาสุดจากปัญหาระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ล่าสุด “มาเลเซียได้จัดตั้งศูนย์กลางการออกแบบชิปในรัฐสลังงอร์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมชิป และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ”
มาเลเซียกำลังพยายามยกระดับขีดความสามารถในการออกแบบชิป ตั้งเป้าก้าวให้เหนือกว่าแค่การทดสอบและบรรจุชิป ซึ่งถูกมองว่าเป็นธุรกิจที่มีต่ำกว่าการพัฒนาและออกแบบชิป ซึ่งรัฐบาลมาเลเซีย ระบุว่า ต้องการเห็นศูนย์ข้อมูลในมาเลเซียใช้ชิปที่ออกแบบโดยชาวมาเลเซียมากกว่าการออกแบบที่ประเทศอื่นแล้วมาบรรจุที่มาเลเซีย
มาเลเซียมีการลงทุนชิปจากบริษัทระดับโลกหลายแห่ง โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2564 “Intel ยักษ์ใหญ่ด้านชิปของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศแผนการลงทุนกว่า 7 พันล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโรงงานบรรจุภัณฑ์และทดสอบชิปในมาเลเซีย”
เมื่อเดือนกันยายนปีที่ 2566 GlobalFoundries ของสหรัฐฯ ได้เปิดศูนย์กลางในปีนัง เพื่อสนับสนุนเครือข่ายการผลิตทั่วโลก เสริมกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่ในสหรัฐฯ ยุโรป และสิงคโปร์
ล่าสุด Infineon Technologies บริษัทใหญ่ของเยอรมนี เปิดตัวโรงงานผลิตพาวเวอร์ เซมิคอนดักเตอร์(Power Semiconductor) แบบซิลิคอนคาร์ไบด์ Silicon Carbide (SiC) ที่ใหญ่ที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก ที่เมืองกูลิม มาเลเซีย
พาวเวอร์เซมิคอนดักเตอร์ ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ระบบพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และดาต้าเซ็นเตอร์ AI และจากความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลงทุนของ Infineon ในมาเลเซีย จึงได้รับความสนใจอย่างมาก พบว่ามีการสั่งจองซื้อสินค้าล่วงหน้าแล้วบางส่วนแล้ว ซึ่งเงินที่สั่งซื้อสินค้าล่วงหน้าจะนำมาลงทุนก่อสร้างโรงงาน โดยอินฟินีออนระบุว่า จะใช้เงินเพิ่มอีก 5-6 พันล้านยูโร (ราว 2 แสนล้านบาท) สำหรับเฟสที่สองของโรงงาน ในกูลิม ซึ่งชำระเงินล่วงหน้าแล้ว 1 พันล้านยูโร (38,000 ล้านบาท) และอีกประมาณ 5 พันล้านยูโร มาจากความตกลงการออกแบบเพื่อผลิตขายปริมาณมาก (design win) ให้กับทางลูกค้า
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม ระบุว่า การลงทุน Infineon ตอกย้ำสถานะของมาเลเซียในฐานะศูนย์กลางเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกที่กำลังเติบโต โดยระบึว่า รัฐบาลมาเลเซียพยายามผลักดันการลงทุน โดยแนวทางหนึ่งคือดึงดูดชาวมาเลเซียที่มีทักษะให้กลับมาและมีส่วนร่วมในประเทศ ซึ่งจะมีการฝึกอบรมและยกระดับทักษะชาวมาเลเซีย 60,000 คนให้กลายเป็นวิศวกรชิปที่มีทักษะสูงในอีก 10 ปีข้างหน้า
เมื่อต้นปีนี้ มาเลเซียประกาศทุ่มเงินลงทุนอย่างน้อย 25,000 ล้านริงกิต (5,600 ล้านดอลลาร์) เพื่อสนับสนุนอุตสาหชิป และตั้งเป้าจะเพิ่มการส่งออกขึ้นเป็นเท่าตัวสู่ระดับ 1.2 ล้านล้านริงกิตภายในปี 2573 เพื่อตอกย้ำตำแหน่งผู้ส่งออกชิปรายใหญ่อันดับที่ 6 ของโลก
นอกจากมาเลเซียแล้ว หลายชาติในอาเซียนพยายาม ดึงดูดการลงทุนชิปด้วยเช่นกัน
“เวียดนาม” มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการกำกับดูแลระดับชาติเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์” โดยมีนายกรัฐมนตรีเวียดนามเป็นประธาน กรรมการมาจากกระทรวง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามมีการเติบโตที่โดดเด่น ถึงร้อยละ 7.1 ในช่วงปี 2559-2564 ซึ่งส่งผลมูลค่าตลาดสูงกว่า 18,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 คาดว่า จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 7.5 ต่อปีในช่วงปี 2565-2570 และจะมีมูลค่ามากกว่า 26,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2570
ปัจจุบันเวียดนามเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวมในอันดับที่ 9 ในทั้งสองประเภท
ข้อมูลจาก Observatory of Economic Complexity (OEC) ระบุว่า เวียดนามมีส่วนแบ่งการตลาดสูง โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 2 ของมูลค่าทั้งหมดที่ได้จากการส่งออกในภาคส่วนเหล่านี้
ปัจจุบันเวียดนามเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่อันดับ 3 ของเอเชียไปยังสหรัฐอเมริกา รองจากมาเลเซียและไต้หวัน
ภายในปี 2588 เวียดนามคาดว่าจะเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมชิประดับโลก โดยมีวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญไม่น้อยกว่า 50,000 คนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมในทุกขั้นตอน ภายในปี 2573
ส่วน “รัฐบาลสิงคโปร์” ได้ผลักดันภาคการผลิตผ่านนโยบาย Manufacturing 2030 โดยตั้งเป้าที่จะขยายมูลค่าภาคการผลิต ร้อยละ 50 ภายในปี 2573 เพื่อให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมทางธุรกิจ และแหล่งรวมบุคลากรที่มีศักยภาพ (Talent Hub) สำหรับการผลิตขั้นสูงระดับโลก ซึ่งสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมชิป เพราะอุตสาหกรรมนี้มีสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของมูลค่าเพิ่มการผลิต ดังนั้นสิงคโปร์จึงดึงดูดการลงทุนในการขยายอุตสาหกรรมแผงวงจรชิปอย่างต่อเนื่อง
เช่นเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 บริษัทสหรัฐฯ Applied Materials (AM) หนึ่งในซัพพลายเออร์เครื่องจักรที่ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลก ประกาศว่า จะเพิ่มกำลังการผลิตในสิงคโปร์ โดยมุ่งเน้นไปที่บรรจุภัณฑ์ขั้นสูงของเซมิคอนดักเตอร์เพื่อเพิ่มสมรรถนะและประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน
นอกจากนี้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์เยอรมัน Siltronic ได้เปิดโรงงานผลิตขั้นสูงแห่งที่สามในสิงคโปร์สำหรับการผลิตเวเฟอร์ซิลิคอน สำหรับใช้ในมือถือ รถอีวี และศูนย์ข้อมูล ดาต้า โดยคาดว่าโรงงานแห่งนี้จะผลิตเวเฟอร์ได้มากถึง 100,000 แผ่นต่อเดือน ภายในสิ้นปี 2567 และจะเป็นการผลิตเวเฟอร์แบบ Epitaxy เป็นครั้งแรกในสิงคโปร์ โรงงานแห่งนี้มีพนักงาน 300 คน แต่คาดว่าจะมีจำนวนถึง 600 คนภายในปี 2571
ข่าวแนะนำ