TNN เอกชนเชื่อมั่น 'แพทองธาร' นั่งนายกฯ หนุนเชื่อมั่น-ศก.

TNN

เศรษฐกิจ

เอกชนเชื่อมั่น 'แพทองธาร' นั่งนายกฯ หนุนเชื่อมั่น-ศก.

ภาคเอกชน ส่วนใหญ่มองว่า นายกฯ รัฐมนตรีคนใหม่ แพทองธาร ชินวัตร จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นทั้งการบริโภคและการลงทุน ตรงนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยเติบโต

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ไทยไม่ควรเกิดสุญญากาศทางการเมือง เพราะจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ การสรรหานายกรัฐมนตรี ที่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ทำเศรษฐกิจไทยเดินหน้าได้ไปต่อเนื่อง  และมีนายกฯ คนใหม่ คือ แพทองธาร ชินวัตร หลังจากนี้คาดว่ากระบวนการทางทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้นได้ภายใน 2 สัปดาห์ และคาดว่าการแบ่งสัดส่วนรัฐมนตรีก็น่าจะใกล้เคียงเดิม ส่วนแนวนโยบายต่างๆ คงจะไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงมากนัก ตรงนี้น่าจะทำให้นโยบายทางเศรษฐกิจเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจทั้งในไทยเอง และสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติ 

สำหรับสิ่งที่ภาคเอกชน หอการค้า อยากเห็นคือ การเมืองที่กลับมาเดินหน้าอย่างมีเสถียรภาพโดยเร็วที่สุด เพราะต้องยอมรับว่าปัญหาปากท้องของประชาชนในภาวะเช่นนี้เป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยจากนี้ไปสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการที่สุดคือ จัดตั้ง คณะรัฐมนตรี (ครม. ) และคัดสรรรัฐมนตรีที่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับของประชาชน รวมถึงการเร่งขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และเร่งรัดการใช้งบประมาณปี 2567 ควบคู่ไปกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย รวมถึงเดินหน้าเจรจาขยายตลาดใหม่ (FTA) เพื่อส่งเสริมการค้าและการส่งออกของไทย 

ด้านเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า การที่แพทองธาร มานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย แม้จะมีประสบการณ์น้อยกว่านายกฯ คนอื่นๆ แต่นายกฯ คนใหม่มีข้อดีที่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างเด็กวัยรุ่น กับผู้สูงอายุ ถือเป็นข้อที่ดี และมีพลังสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง คือ ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นพี่เลี้ยง โดยส.อ.ท.มองว่า นโยบายหลายเรื่องคงเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง 

ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้า รวมถึงมีความท้าทายมากมายที่เกิดขึ้นในโลก และประเทศไทยก็ยังอยู่ในช่วงที่จะต้องรีบเร่งในการที่จะสร้างความเชื่อมั่น สร้างการลงทุนใหม่ๆ เชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนั้นช่วงนี้เป็นช่วงจังหวะที่สำคัญ ที่ควรทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ เพื่อสร้างความต่อเนื่องของนโยบายต่างๆ ผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทย 

ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาที่การเมืองของไทยยังไม่ชัดเจน นักลงทุนต่างประเทศฝั่งอเมริกา ยุโรป สอบถามเรื่องการเมืองไทยเข้ามาที่ส.อ.ท.หลายราย เพราะเขารู้สึกกังวล และได้ความชัดเจน ส่วน นกลงทุนในโซนเอเชียอย่างญี่ปุ่น ที่ถือว่าเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของไทย และอยู่ในประเทศมา 40 - 50 ปี อาจไม่กังวลมาก เพราะเข้าใจบรรยากาศการเมืองไทยเป็นอย่างดี

 

ผลสำรวจล่าสุดของผู้ประกอบการส.อ.ท. พบว่า ผู้ประกอบการยังกังวลในเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองเพิ่มขึ้น 

พบว่า ร้อยละ 66.8 กังวลสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

ร้อยละ 58.7 กังวลสถานการณ์การเมืองในประเทศ 

ร้อยละ 37.9 กังวลถึงอัตราแลกเปลี่ยน

ในการสำรวจผู้ประกอบส.อ.ท.มองตรงกันว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในโครงการเงินดิจิทัล เข้ามาช่วยสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจ โดยมีข้อเสนอให้ภาครัฐกำหนดเงื่อนไขการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือสินค้า Made  in Thailand ในโครงการเงินดิจิทัล เพื่อสร้างโอกาสและทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในธุรกิจของผู้ประกอบการไทย

 

ส่วน แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ระบุว่า พร้อมสนับสนุน แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพราะเป็นการมาดำรงตำแหน่งตามระบบประชาธิปไตย เป็นรายชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่ต้น โดยแพทองธาร มีความได้เปรียบที่เป็นคนรุ่นใหม่ ทันสมัย ทำงานเร็ว ส่วนการทำงานทางการเมืองอาจไม่นาน ซึ่งก็ต้องให้กำลังใจ แต่ถ้าได้ที่ปรึกษาที่ดี คิดว่าจะสามารถบริหารราชการแผ่นดิน และสามารถรับมือกับปัญหาทางการเมืองได้ 

 

สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่สนับสนุนต่อ มีทั้งในเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ ว่าที่นายกฯ คนใหม่ดำเนินการมาตั้งแต่ต้น ซึ่งในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์จะช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีในกลุ่มต่างๆ เป็นอย่างดี รวมถึงต้องการให้สานต่อการผลักดันโครงการ  IGNITE Thailand (อิกไนต์ ไทยแลนด์)  เพื่อผลักดันให้ 8 อุตสาหกรรมก้าวสู่ศูนย์กลางของภูมิภาค ถ้าทำได้ตามแผนที่วางไว้ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว 

 

นอกจากนี้สำคัญของรัฐบาลใหม่อีกเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การสร้างความเชื่อมั่น เพราะผลสำรวจล่าสุดของ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคเอกชนลดต่ำต่อเนื่อง

“ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมในเดือนก.ค.อยู่ที่ระดับ 57.7 ถือว่าลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอยู่ในระดับต่ำสุดรอบ 11 เดือนนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2566”  ซึ่งเป็นผลจากการที่ ผู้บริโภคกลับมากังวลว่าการเมืองไทยเริ่มขาดเสถียรภาพ และกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทย ยังคงชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันเบนซิน และผู้บริโภคยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัญหาการสู้รบในตะวันออกกลางที่ยังคงยืดเยื้อบานปลาย 

ประชาชนส่วนใหญ่กังวลมากสุดในด้านค่าครองชีพสูง เศรษฐกิจชะลอตัว ภาระหนี้สูง ดอกเบี้ยทรงตัวสูง ความมั่นใจต่อรายได้และอาชีพลดลง 

ในการสำรวจประชาชนร้อยละ 35 ระบุสถานะการเงินแย่ลง  และร้อยละ 47 ระบุรายได้เพียงพอแต่ไม่มีเงินเก็บ  

ส่วนร้อยละ 26.4 ระบุว่ารายได้ไม่เพียงพอ และต้องกู้ยืม โดยร้อยละ   34 ระบุว่า มีภาระหนี้เพิ่มกว่าปีก่อน ส่วนร้อยละ 69  ระบุเศรษฐกิจแย่ลง

 

“ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคเอกชนภาวะปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 49.9 ค่าดัชนีต่ำระดับ 50 ครั้งแรก สะท้อนมุมมองภาคเอกชนต่อเศรษฐกิจที่แย่ลง” ซึ่งภาคเอกชน เสนอให้รัฐมาดูแลโดยด่วน คือ ดูแลต้นทุนราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นส่งผลต่อค่าใช้จ่ายธุรกิจ ควบคุมราคาของปัจจัยการผลิตให้อยู่ในช่วงเหมาะสม รวมถึงออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้เข้าถึงตลาดใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

นอกจากนี้ภาครัฐเร่งช่วยเหลือและออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องข้ามปี มาตรการกระตุ้นเพิ่มยอดคำสั่งซื้อสินค้าและบริการทุกธุรกิจ และรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

 

ทั้งภาคเอกชนและประชาชน หวังว่า โครงการเงินดิจิทัล เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้และมีส่วนช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยในมาส 4 ปีนี้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.5-0.7 และมีผลต่อจีดีพีทั้งปี 2567 ที่ร้อยละ 0.2-0.3 ทำให้จีดีพีทั้งปีขยายตัวร้อยละ 2.6-2.8 เพิ่มขึ้นจากที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเคยคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ  2.5

 

ข่าวแนะนำ