TNN เช็กลิสต์ ทักษะ-อาชีพ ที่นายจ้างต้องการ

TNN

เศรษฐกิจ

เช็กลิสต์ ทักษะ-อาชีพ ที่นายจ้างต้องการ

เช็กลิสต์ ทักษะแรงาน และอาชีพที่นายจ้างต้องการ โดยเฉพาะทักษะด้าน AI ต้องมีทักษะพิเศษด้านใด และอุตสาหกรรมใดต้องการทักษะด้าน AI มากที่สุด พร้อมเปิด 3 กลุ่มอาชีพเนื้อหอม

ทีมวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประกอบด้วย ดร.ทศพล ป้อมสุวรรณ นักวิชาการ   นายวินิทร เธียรวณิชพันธ์   นักวิจัย นางสาวฐิติรัตน์ สีหราช นักวิจัย และนายนรินทร์ ธนพิธาพร นักวิจัย ได้วิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงาน และทักษะของแรงงานที่นายจ้างต้องการ โดยใช้ Big Data จากประกาศรับสมัครงานของนายจ้าง และวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งมีความแม่นยำสูง 


โดยจากการประมวลผลข้อมูลประกาศรับสมัครงานออนไลน์จาก 23 เว็บไซต์รับสมัครงานระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน ปี 2567 (ไตรมาส 2 ปี 2567) โดยพบประกาศรับสมัครงานทั้งสิ้น 238,129 ตำแหน่งงาน


พร้อมวิเคราะห์ทักษะต่าง ๆ จากประกาศหางาน โดยอ้างอิงฐานข้อมูลทักษะจากฐานข้อมูลกลุ่มหมวดหมู่ทักษะโดย Lightcast ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำในต่างประเทศที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ตำแหน่งงานและแนวโน้มตลาดแรงงาน ซึ่งทีมวิจัยทีดีอาร์ไอพบข้อมูลว่า “ทักษะหลัก”  5  อันดับแรกที่นายจ้างต้องการมากที่สุดได้แก่  


1. สมรรถภาพทางกาย 165,371 ตำแหน่งงาน (69.4%)  เช่น การคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา ความคิดริเริ่มความเป็นผู้นำ และทักษะทางสังคม

2. ทักษะด้านธุรกิจ 100,572 ตำแหน่งงาน (42.2%) เช่น การบริหารโครงการ การจัดการธุรกิจ และการจัดการบุคลากร

3. ทักษะด้านสื่อและการสื่อสาร 88,254 ตำแหน่งงาน (37.1%) เช่น ความสามารถทางภาษา การเขียนและการแก้งานเขียน และการสื่อสาร

4. ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 77,400 ตำแหน่งงาน (32.5%) เช่น วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ภาษา Scripting และการพัฒนาซอฟต์แวร์

5. ทักษะด้านการเงิน 62,575 ตำแหน่งงาน (26.3%) เช่น บัญชีทั่วไป การบริหารงบประมาณ และการเงินทั่วไป



และเมื่อจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1) กลุ่มทักษะทั่วไป (common skill) หรือกลุ่มทักษะที่พบในทุกกลุ่มอาชีพ  กับกลุ่มทักษะเจาะจง (specialized skill) หรือกลุ่มทักษะที่พบในเฉพาะกลุ่มอาชีพ พบว่า 


10 อันดับแรกของกลุ่มทักษะทั่วไปที่นายจ้างต้องการได้แก่  1. บริการลูกค้า 41,152 ตำแหน่งงาน (17.3%)   2. ภาษาอังกฤษ 40,550 ตำแหน่งงาน (17.0%)  3. การแก้ปัญหา 37,560 ตำแหน่งงาน (15.8%) 4. การขาย 32,987 ตำแหน่งงาน (13.9%) 5. ทำงานเป็นทีม 22,177 ตำแหน่งงาน (9.3%) 


6. การจัดการเวลา 19,929 ตำแหน่งงาน (8.4%)   7. ภาวะผู้นำ 16,512 ตำแหน่งงาน (6.9%) 8. เจรจาต่อรอง 16,143 ตำแหน่งงาน (6.8%) 9. บริหารจัดการ 14,856 ตำแหน่งงาน (6.2%) 10. ควบคุมคุณภาพ 10,321 ตำแหน่งงาน (4.3%)


ขณะที่  10 อันดับแรกของกลุ่มทักษะเจาะจง ที่นายจ้างต้องการได้แก่ 


1. จัดการโครงการ 16,199 ตำแหน่งงาน (6.8%)  2. จัดการสินค้าคงคลัง 11,419 ตำแหน่งงาน (4.8%) 3. บัญชี 11,001 ตำแหน่งงาน (4.6%) 4. โซเชียลมีเดีย 6,337 ตำแหน่งงาน (2.7%) 5. จัดการเอกสาร 5,521 ตำแหน่งงาน (2.3%) 


6. จัดการความสัมพันธ์ลูกค้า 4,993 ตำแหน่งงาน (2.1%)   7. ป้อนข้อมูล 4,856 ตำแหน่งงาน (2.0%) 8. จัดการสต็อก 4,113 ตำแหน่งงาน (1.7%) 9. ห่วงโซ่อุปทาน 4,078 ตำแหน่งงาน (1.7%) 10. การเงิน 4,045 ตำแหน่งงาน (1.7%)


ส่วน 10 อันดับทักษะเจาะจงที่พบในงานด้านสนับสนุนงานออฟฟิศและงานธุรการ 30,586 ตำแหน่งงาน ได้แก่ 


1. การจัดการเอกสาร พบใน 3,421 ตำแหน่งงาน (10.6% จากการประกาศงานทั้งหมดในกลุ่มนี้) 2. การจัดการสินค้าคงคลัง พบใน 3,047 ตำแหน่งงาน (10.5%) 3. การป้อนข้อมูล พบใน 3,372  ตำแหน่งงาน (10.4%) 4. การเตรียมเอกสาร พบใน 1,181 ตำแหน่งงาน (3.6%) 5. การบัญชี พบใน 1,142 ตำแหน่งงาน (3.5%) 6. การเรียกเก็บเงิน พบใน 960  ตำแหน่งงาน (3.0%) 7. การควบคุมสต็อก พบใน 958 ตำแหน่งงาน (2.9%) 8. การจัดซื้อ พบใน 783  ตำแหน่งงาน (2.4%) 9. การขนส่งและโลจิสติกส์ พบใน 710 ตำแหน่งงาน (2.2%) 10. ห่วงโซ่อุปทาน พบใน 604 ตำแหน่งงาน (1.9%)


ทั้งนี้ ในประกาศรับสมัครงานออนไลน์ พบว่ามีประกาศรับสมัครงานวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีมากที่สุดจำนวน 109,723 ตำแหน่งงาน (46.1%) และการเปิดรับสมัครงานยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเปิดรับสมัครมากกว่า 151,000 ตำแหน่งงาน (63.7%) 


ทีดีอาร์ไอหวังว่าการวิเคราะห์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน มหาวิทยาลัย สถาบันอาชีวะศึกษา และสถาบันฝึกอบรมต่าง ๆ ที่ผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน เพื่อให้ทันต่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาวะทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี


ที่มา TDRI

ข่าวแนะนำ