กำลังซื้อซบ บิ๊กธุรกิจร้านอาหาร ผลประกอบการโตแผ่ว l การตลาดเงินล้าน
ผลประกอบการของธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เติบโตชะลอตัว ผลพวงทางเศรษฐกิจ และกำลังซื้อซบเซา
เริ่มที่กลุ่มธุรกิจอาหารของ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (มหาชน) กันก่อน สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 ไมเนอร์ ฟู้ด มีสาขาร้านอาหารรวมทั้งสิ้น 2,655 สาขา ในจำนวนนี้ เป็นสาขาลงทุนเองจำนวน 1,365 สาขา และสาขาแฟรนไชส์อีก 1,290 สาขา กว่าร้อยละ 76 เป็นสาขาที่อยู่ในประเทศไทย หรือมีจำนวน 2,031 สาขา และส่วนที่เหลือเป็นสาขาอยู่ในต่างประเทศ
ปัจจุบัน ไมเนอร์ฯ มีแบรนด์ร้านอาหารในเครือมากกว่า 10 แบรนด์ และแบรนด์ที่มีจำนวนสาขามากที่สุด คือ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, แดรี่ ควีน, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, สเวนเซ่นส์ และ ริเวอร์ไซต์ ตามลำดับ
ผลประกอบการไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2567 บริษัทฯ รายงานรายได้รวม ของกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร อยู่ที่ 8,102 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนงวดครึ่งปีแรก มีรายได้รวม 16,145 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 5 เช่นกัน
ส่วนอัตราการเติบโตของยอดขายต่อร้านเฉลี่ย (Same Store-Sales Growth) ในไตรมาส 2 ลดลงร้อยละ 2.8 แต่หากเป็นยอดขายรวมเฉลี่ย เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5
ซึ่ง ไมเนอร์ฯ รายงานว่า ผลการดำเนินงานในไทยและสิงคโปร์ ยังเติบโตแข็งแกร่ง แต่ที่จีน และ ออสเตรเลียหดตัวลง แม้ว่า จะมีกิจกรรมทางธุรกิจ ของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารในไทย และสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก แต่ก็สามารถบรรเทาผลประกอบการที่ลดลงในกลุ่มธุรกิจประเทศอื่น ๆ ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
ตลาดในประเทศไทย ณ ไตรมาส 2 บริษัทฯ มียอดขายรวมทุกสาขาเติบโตถึงร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ ร้านอาหารในจีน ไมเนอร์ฯ รายงานว่า มีจำนวนผู้เข้าใช้บริการที่สาขาลดลง ท่ามกลางสภาวะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อ่อนแอลง จากความท้าทายด้านเศรษฐกิจ รวมถึงมีการปิดสาขาที่ทำไรได้ไม่ถึงเกณฑ์กำหนด ส่งผลให้ยอดขายโดยรวมทุกสาขาที่จีน ลดลงไปมากถึงร้อยละ 22.8 และ ยอดขายต่อร้านเดิม ก็ลดลงไปร้อยละ 20.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
อย่างไรก็ดี ไมเนอร์ ฟู้ด ประเทศจีน พยายามพลิกสถานการณ์ ด้วยการเปิดตัวเมนูหลักเพิ่มเติมจากเมนูเดิม เช่น การนำเสนอตัวเลือกโปรตีนประเภทใหม่ที่มีความหลากหลายนอกเหนือจากปลา เพื่อดึงดูดและขยายฐานลูกค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังคงใช้กลยุทธ์เพื่อลดต้นทุนในทุกสาขา รวมถึงมีแบรนด์ใหม่อย่าง เจียง เหม่ย เซียน ซึ่งขยายสาขาเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจในรูปแบบ แฟรนไชส์
ส่วนอีกตลาดที่ไม่สดใสนัก คือที่ ออสเตรเลีย ยอดขายโดยรวมของทุกสาขา ลดลงร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และยอดขายต่อร้านเดิม ก็ลดลงไปร้อยละ 4.2 เป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอ่อนแอ และแรงกดดันจากค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางธุรกิจลดลง และมีการปิดสาขาที่มีผลการดำเนินงานต่ำเช่นกัน
ถัดมา บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) รายงานผลการดำเนินงานในกลุ่มธุรกิจอาหาร หรือ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป ซึ่งบริหารแบรนด์ร้านอาหารมากกว่า 20 แบรนด์ (รวมถึงแบรนด์ร่วมทุนด้วย)
ปัจจุบัน มีสาขารวมทั้งสิ้น 1609 สาขา แบรนด์ที่มีจำนวนสาขามากที่สุด คือ มิสเตอร์ โดนัท รองมาคือ เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์ และ อาริกาโตะ ตามลำดับ ส่วนแบรด์ร่วมทุน ปัจจุบันมี 5 แบรนด์ ได้แก่ สลัดแฟคทอรี ,บราวน์ คาเฟ่, คาเฟ่ อเมซอน-เวียดนาม, ส้ำตำนัว และ ชินคันเซ็น ซูชิ
เซ็นทรัล เรสตอรองส์ มีรายได้รวม ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ 3,393 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 5 เป็นการเติบโตมาจาก 4 แบรนด์หลัก ได้แก่ เค เอฟ ซี, มิสเตอร์ โดนัท, อานตี้ แอนส์ และ โอโตยะ
อัตราการเติบโตสาขาเดิมเฉลี่ย (Same Store-Sales Growth) รวมทั้งหมด แต่ไม่รวม คาเฟ่อเมซอน-เวียดนาม อยู่ที่ร้อยละ 2 และอัตราการเติบโตจากยอดขายรวม แต่ไม่รวม คาเฟ่อเมซอน-เวียดนาม อยู่ที่ร้อยละ 10 (ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่าเป็นการเติบโตลดลง)
นอกจากนี้ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป (ซีอาร์จี) มีการปิดสาขาของแบรนด์ อร่อยดี และ แกร๊บคิทเช่น บาย เอเวอรีฟู้ด เนื่องจากรายได้หลักของแบรนด์ดังกล่าว มาจากช่องทาง ดิลิเวอรี แต่ปัจจุบันชะลอตัวอย่างมาก
สำหรับ งวด 6 เดือนแรก มีรายได้รวม 6,537 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ ซีอาร์จี ยังได้รายงานแผนการดำเนินงานในครึ่งหลัง โดยบอกว่า ได้เตรียมแผนรับมือกับความผันผวนของราคาวัตถุดิบไว้แล้ว รวมถึงแนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราค่าแรง ก็ได้มีการเตรียมการจัดตารางการทำงานของพนักงาน ให้เป็นมาตรฐานตามยอดขาย อีกทั้ง ยังนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนการปิดสาขาที่ไม่สามารทำกำไรได้ตามเป้าหมาย เพื่อรักษาอัตราทำกำไร และจะพิจารณาเปิดสาขาใหม่ด้วยความระมัดระวัง พร้อมกับมุ่งเน้นการขยายสาขาในแบรนด์หลักที่มีอัตราการทำกำไรสูง รวมถึงการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สะท้อนกับยอดขาย หรือกลุ่มลูกค้าที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน
บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 มีสาขาร้านอาหารรวมทั้งสิ้น 331 สาขา เช่นแบรนด์ร้าน เซ็น, อากะ, ออน เดอะ เทเบิล, ตำมั่ว และ ลาวญวน เป็นต้น แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทเป็นเจ้าของเอง 184 สาขา สาขาแฟรนไชส์ในประเทศ 135 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ต่างประเทศ 12 สาขา
ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีรายได้รวม 1,018 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากธุรกิจร้านอาหารในช่องทางทานในร้าน ซึ่งมีการปรับรูปแบบธุรกิจ, พัฒนาแบรนด์ และการออกโปรโมชั่นต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่มาใช้บริการให้มากที่สุด ส่วนธุรกิจอาหารค้าปลีกเติบโตขึ้น ร้อยละ 46 ซึ่งมาจากการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตทั้งธุรกิจค้าปลีกเครื่องปรุงรสและธุรกิจค้าปลีกอาหารทะเลแช่แข็งและวัตถุดิบในการปรุงอาหาร เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ
สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2567 มีรายได้รวมของบริษัทอยู่ที่ 2,037 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8
อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของรายได้ธุรกิจร้านอาหาร ของสาขาเดิม (SSSG) หดตัว โดยไตรมาส 2 ลดลงไปถึง ร้อยละ 14.8 ส่วนครึ่งปีแรก ลดลงร้อยละ 11.4
ขณะที่ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) มีสาขาร้านอาหารและเบเกอรี รวมกว่า 463 สาขา โดย เอส แอนด์ พี เบเกอรี ชอป มีสาขามากที่สุดจำนวน 279 สาขา ส่วน เอสแอนด์พี เรสเตอรองต์ มี 123 สาขา ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีรายได้ 1,453 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.3 โดยกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร รายได้ลดลงไปร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุหลักมาจากยอดขายการซื้อกลับบ้าน และบริการจัดส่ง ลดลง ร้อยละ 3 และร้อยละ 8 ตามลำดับ
ส่วนรายได้จากการนั่งกินที่ร้านเติบโตร้อยละ 7 โดยเฉพาะร้านในโรงพยาบาลและสนามบิน และทำให้การจ่ายต่อบิลสูงขึ้น รวมถึงเมนูอาหารตามฤดูกาล คือข้าวแช่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ส่วนข้าวซอย เพิ่มขึ้น 210% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ขณะที่ อัตราการเติบโตของยอดขายต่อร้านเดิม ไตรมาส 2 ที่ผ่านมาลดลง ร้อยละ 1.7
ปิดท้ายกับ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานรายได้และกำไรไตรมาส 2 ลดลงต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากการขายและบริการ 4,107 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 401 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 12.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ ยอดขายสาขาเดิม ในช่วงไตรมาส 2 ก็ลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งบริษัทฯ แจงว่าเป็นผลมาจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนตัวลง จากค่าครองชีพและภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น
ส่วน 6 เดือนแรก มีรายได้ 8,053 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 5.5 กำไรสุทธิ 747 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมียอดขายสาขาเดิม ลดลง ร้อยละ 8.6
โดย เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป มีสาขาในพอร์ตมากกว่า 800 สาขา ส่วนสาขาที่ทำรายได้หลักยังคงเป็น ร้านสุกี้ เอ็มเค ซึ่งมีสาขามากที่สุดกว่า 450 สาขา
ทั้งนี้ เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ถูกจับตามองถึงความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มเมนูหม้อไฟที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด และมีเทรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ
อย่างไรก็ตาม คุณ ฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ เอ็มเคฯ ให้สัมภาษณ์ ก่อนหน้านี้ บอกว่า เมนู สุกี้ จะยังไม่เสื่อมความนิยม เพราะ สุกี้ ไม่ใช่เทรนด์ แต่ถือว่าเป็นอาหารจานหลักสำหรับคนไทย ที่สามารถกินได้บ่อยครั้งเหมือน ผัดกะเพรา
คุณ ฤทธิ์ บอกด้วยว่า ในฐานะเป็นผู้ประกอบการ ก็ต้องมีการปรับตัว บริษัทฯ จึงปรับเมนูเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย และตามความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ
ส่วนแผนธุรกิจ ยังตั้งเป้าขยายสาขาไปต่างประเทศ โดย แบรนด์ร้านอาหารไทยซีฟู้ด แหลมเจริญ จะเป็นหัวหอกในการบุกตลาดนอก ซึ่งปัจจุบันมีสาขาในมาเลเซียแล้ว 3 สาขา
ข่าวแนะนำ