สนค.แนะแก้ปัญหาผู้สูงวัยเพิ่มจำนวน ต่ออายุเกษียณโดยสมัครใจ
สนค.หนุนภาครัฐและเอกชนร่วมมือแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ที่ตอนนี้มีสูงถึง 13 ล้านคน หรือ ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด แนะต่ออายุเกษียณโดยสมัครใจ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า จากปัญหาสังคมผู้สูงอายุของไทย โดยมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 พบว่า จำนวนประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 13,064,929 สัดส่วนร้อยละ 20.08 ของประชากรทั้งหมดของประเทศไทย 66,052,615 คน สำหรับปัญหาของอัตราส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นอาจไม่ได้เป็นเพียงปัญหาในเชิงสัมคมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างประชากรเท่านั้น แต่ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจาก
1) ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้ประเทศไทยต้องอาศัยการนำเข้าแรงงานในภาคการผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เงินค่าจ้างในส่วนนี้ไม่ได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
2) ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและสวัสดิการของประเทศเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของผู้สูงอายุ
3) ความน่าสนใจด้านการลงทุนของประเทศลดลง เนื่องจากสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่รายได้ต่อหัวของประชากรที่ลดลง
4) การสะสมทุนในประเทศลดลง เนื่องจากผู้สูงอายุหรือแรงงานในวัยเกษียณมักมีรายได้ลดลง ภาวะการออมในประเทศที่ลดลงตามไปด้วย
ซึ่งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุเพื่อรองรับปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วน
1) ขยายเวลาเกษียณอายุโดยสมัครใจ โดยเฉพาะในหน่วยงานที่ขาดแคลนบุคลากร เพื่อให้ผู้สูงอายุมีงานทำและมีรายได้ต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่ต้องมีการให้แรงจูงใจภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้น
2) เร่งปรับเปลี่ยนมุมมองของสังคมที่มีต่อผู้สูงอายุ จาก “ภาระที่ต้องแบกรับ” ให้เป็น “สินทรัพย์มากประสบการณ์” โดยให้ความสำคัญกับประสบการณ์ในการทำงานของผู้สูงอายุ
3) บูรณาการภารกิจระหว่างหน่วยงานเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุ เพื่อสร้างระบบเพิ่มพูนทักษะในการประกอบอาชีพ หาตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ
4) นำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาช่วยในการบริหารศูนย์ธุรกิจสำหรับผู้สูงอายุ โดยให้บริการแก่ผู้สูงอายุที่ต้องการหารายได้เพิ่มเติมจากการรับจ้างทำงานประเภทต่าง ๆ
5) ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ สำหรับงานที่ไม่ต้องใช้กำลังกายมาก
6) สร้างระบบนิเวศน์การจ้างงานผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบที่มีความยั่งยืน มากกว่าการเน้นพัฒนาทักษะอย่างเดียวโดยไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน
ข่าวแนะนำ