TNN นายกฯ สั่งเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญปัญหาปากท้องของประชาชน

TNN

เศรษฐกิจ

นายกฯ สั่งเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญปัญหาปากท้องของประชาชน

นายกฯ สั่งเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญปัญหาปากท้องของประชาชน

นายกฯ สั่งการเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือน - เรื่องหนี้บัตรเครดิต

วันนี้ (15 กรกฎาคม 2567) เวลา 13.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมหารือประเด็นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3/2567 โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 


นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และผู้แทนหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้เวลา ไม่สามารถฟื้นเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างทันที รัฐบาลมุ่งให้ความสำคัญแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้นเพื่อบรรเทาความเดือดของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะจากปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์หนี้ 3 เสาหลักของเศรษฐกิจ ดังนี้ 


1. หนี้ครัวเรือน พบว่ามีจำนวน 13.6 ล้านล้านบาท 


2. หนี้ธุรกิจ SMEs จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท 


3. หนี้รัฐบาล พบว่าสิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 มูลค่าหนี้อยู่ที่ 64.3% ของ GDP แต่ยังอยู่ในกรอบหนี้สาธารณะ โดยคาดว่าจะเริ่มคลายแรงกดดันลงในปี 2569 เพราะรายได้รัฐบาลขยายตัวมากกว่ารายจ่ายของรัฐบาล

 

สำหรับมาตรการแก้ปัญหาหนี้ที่ประชุมรับทราบมาตรการแก้ปัญหา ดังนี้ 


1) การปรับโครงสร้างหนี้ที่อยู่อาศัย เพิ่มระยะเวลาการกู้ถึงอายุ 80 ปี ข้าราชการเป็น 85 ปี คาดว่าการดำเนินมาตรการนี้ จะทำให้หนี้เสียและหนี้กำลังจะเสียทยอยลดลง โดยขอความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ในการปรับโครงสร้างหนี้ 


2) มาตรการแก้ปัญหาหนี้รถยนต์ ระยะสั้นเร่งหามาตรการช่วยคนที่ใช้รถจักรยานยนต์และรถปิคอัพทำงานหากินที่กำลังจะถูกยึดเป็นอันดับแรก เพื่อจะได้มีรถในการทำงานหากิน 


3) มาตรการแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิต ซึ่งจากข้อมูลมีบัตรเครดิตทั้งหมด 24 ล้านบัตร เป็นหนี้เสียแล้ว 1.1 ล้านบัตร และกำลังจะเสียอีก 2 แสนบัตร นายกฯ มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหารือกับธนาคารพาณิชย์เพื่อกำหนดแนวทางในการช่วยเหลือให้เกิดเป็นรูปธรรมภายใน 2 สัปดาห์ โดยให้แถลงให้ประชาชนได้รับทราบทั่วกันต่อไป 


4) มาตรการแก้ปัญหาหนี้สินรายย่อย (ธนาคารออมสิน) ให้ดำเนินการยกหนี้ลูกหนี้รายย่อย ปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ครู ลด/ตรึงดอกเบี้ยช่วยลูกหนี้ทุกราย และจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ด้อยคุณภาพ เป้าหมาย 456,000 บัญชี มูลค่า 33,900 ล้านบาท  


5) มาตรการแก้ปัญหาหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา 


6) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 (บสย.) จากมติ ครม.อนุมัติ วงเงินค้ำประกัน 50,000 ล้านบาท จะช่วย SMEs ได้สินเชื่อกว่า 77,000 ราย สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกว่า 200,000 ล้านบาท สร้างสินเชื่อในระบบกว่า 60,000 ล้านบาท และรักษาการจ้างงานไม่น้อยกว่า 550,000 ตำแหน่ง  


7) มาตรการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ดำเนินการดึงหนี้นอกระบบให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ ยึดหลักการเดียวกับ PICO Finance และออกใบอนุญาตให้เจ้าหนี้นอกระบบกลับใจ ทำ Credit Scoring ใหม่สำหรับกลุ่มคนเปราะบาง และ SMEs 


โดยนายกรัฐมนตรี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหารือกับนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยดำเนินการขับเคลื่อนแก้ปัญหาหนี้นอกระบบต่อไป พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบการเร่งรัดเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภาครัฐปีงบประมาณ 2567 และการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 

 

ภายหลังรับฟังรายงานสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจและรับทราบมาตรการแก้ปัญหา นายกฯ สั่งการต่อที่ประชุม ดังนี้ 


1. เร่งแก้ไขเรื่องหนี้บ้าน และขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมแก้ไขปัญหา 


2. เร่งแก้ไขเรื่องหนี้บัตรเครดิต และขอความร่วมมือบริษัทบัตรเครดิตเข้าร่วมแก้ไขปัญหา 


3. เร่งแก้ไขหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยให้แจ้งยืนยันผู้มีสิทธิได้รับเงินคืน และผู้ที่มีหนี้ลดลง 


4. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปพิจารณาความเดือดร้อนของเกษตรกรในด้านต่าง ๆ เพื่อนำกลับมาเสนอในครั้งต่อไป 


5. ให้เข้มงวดกวดขันเรื่องสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ 


6. เร่งรัดโครงการลงทุนที่อยู่ในกระบวนการของ BOI เพื่อให้โครงการลงทุนเกิดเป็นเม็ดเงินจริงลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว

ข่าวแนะนำ