เปิดลิสต์ธุรกิจมาแรง "ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงอายุ” ยอดใช้จ่ายจ่อพุ่งปี 72
เปิดลิสต์ธุรกิจมาแรงรับประเทศไทย “ก้าวสู่สังคมสูงอายุ” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยมูลค่าการใช้จ่ายเพิ่มเป็น 2.2 ล้านล้าน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายของผู้สูงอายุไทยในปี 67 จะอยู่ที่ราว 1.7 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อน 3.8% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 ล้านล้านบาท ในปี 72 ที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด จากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจากราว 14 ล้านคนในปัจจุบันไปอยู่ที่ 18 ล้านคน หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.3% (CAGR)
สำหรับธุรกิจที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากการขยายตัวของสังคมสูงวัย อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้
1. ธุรกิจที่เน้นด้านสุขภาพ ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจการดูแลสุขภาพ โดยการใช้จ่ายใน 2 หมวดนี้มี สัดส่วนรวมกันกว่า 37% ของการใช้จ่ายทั้งหมดของผู้สูงอายุ ซึ่งสูงกว่าการใช้จ่ายในหมวดเดียวกันของช่วงวัยหรือ Generation อื่น ๆ ราว 3% สอดคล้องไปกับผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่าผู้สูงอายุไทยมีความสนใจซื้อสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ โดยคิดเป็นสัดส่วนราว 65% ของผู้สูงอายุที่ตอบแบบสำรวจทั้งหมด
สำหรับสินค้าและบริการที่น่าจะเป็นโอกาสในกลุ่มนี้ ได้แก่
- ศูนย์โรคเฉพาะทาง
- ยาและเวชภัณฑ์
- บริการดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home และ Care Giver)
- ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น
สินค้าและบริการดังกล่าว เป็นปัจจัยหนุนจากเทรนด์รักสุขภาพ ความเสี่ยงเจ็บป่วยต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคติดต่อไม่เรื้อรังของผู้สูงอายุ
ส่วนในหมวดอาหาร ได้แก่
- อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
- อาหารทางการแพทย์ รูปแบบของอาหารควรเคี้ยวง่าย ย่อยง่าย มีขนาดที่พอเหมาะ และมีโภชนาการครบถ้วน
2. ธุรกิจอื่น ๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุ คิดเป็นสัดส่วนราว 63% ของการใช้จ่ายทั้งหมดของผู้สูงอายุ ซึ่งการใช้จ่ายต่อครั้งจะมีมูลค่าสูง แต่มีความถี่ในการใช้จ่ายน้อยกว่า
การบริโภคสินค้าในกลุ่มแรก (อาหารและสุขภาพ) อาทิ
- ธุรกิจนวัตกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่ม Smart Home Devices เช่น ระบบสั่งการด้วยเสียง อุปกรณ์แจ้งเตือนเมื่อเกิดอุบัติเหตุในบ้าน กล้องติดตามการเคลื่อนไหว ซึ่งต้องมีฟังก์ชันการใช้ที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน มีจอแสดงผลที่ใหญ่เพื่อง่ายต่อการใช้งานของผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังรวมถึงอุปกรณ์ช่วยเหลือในชีวิตประจำวันให้แก่ผู้สูงอายุ อาทิ ไม้เท้าอัจฉริยะ เครื่องช่วยฟัง เป็นต้น
- ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง จากปัจจุบันผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านเพียงลำพังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงความนิยมเลี้ยงสัตว์ของผู้สูงอายุเพื่อช่วยในการบำบัดรักษา (Pet Healing) ส่งผลให้สินค้าและบริการที่น่าจะได้ประโยชน์ เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง อุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และบริการดูแลสัตว์เลี้ยง
- ธุรกิจที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยผลสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ในปี 66 ของ REIC พบว่ายังมีอยู่น้อย จากปัจจุบันมี 728 แห่งทั่วประเทศ รองรับผู้สูงอายุที่ได้เพียงราว 19,490 คนเท่านั้น ประกอบกับการส่งเสริมให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพเข้ามาพำนักอาศัยระยะยาวในไทย อาจหนุนให้เกิดการการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะที่การปรับปรุงที่อยู่อาศัยเดิม ก็น่าจะเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ช่วยรองรับความต้องการของผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยได้
- ธุรกิจบริการอื่น ๆ เช่น บริการทางการเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุ และ Reverse Mortgage สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการเงินไว้ใช้หลังเกษียณ แต่ไม่มีลูกหลานดูแล รวมถึงบริการ Entertainment ต่าง ๆ สำหรับผู้สูงอายุ ทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ อาทิ เกมช่วยบริหารสมอง และช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อม (Dementia) และเกมช่วยฝึกความไวของสายตา เป็นต้น
ภาพจาก: Getty Images
ข่าวแนะนำ