TNN บอลยูโร 2024 : หอการค้าฯ ห่วงคนไทยอาจทุ่มพนัน 6 หมื่นล้าน สูงเป็นประวัติการณ์

TNN

เศรษฐกิจ

บอลยูโร 2024 : หอการค้าฯ ห่วงคนไทยอาจทุ่มพนัน 6 หมื่นล้าน สูงเป็นประวัติการณ์

บอลยูโร 2024 : หอการค้าฯ ห่วงคนไทยอาจทุ่มพนัน 6 หมื่นล้าน สูงเป็นประวัติการณ์

บอลยูโร 2024 : ม. หอการค้าไทยมองยอดการใช้จ่ายสะพัดทะลุ 8 หมื่นล้าน ห่วงคนไทยทุ่มเงินส่วนใหญ่ไปกับการพนัน 6 หมื่นล้าน สูงเป็นประวัติการณ์

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ บอลยูโร 2024 ที่แข่งขันกัน 1 เดือนเต็มระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน-14 กรกฎาคมนี้ ผลการสำรวจพบว่า มหกรรมบอลยูโรครั้งนี้กระตุ้นให้คนไทยใช้จ่ายมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการแข่งขันในครั้งที่ผ่านๆ มา


ถ้าไปดูในปี 2559 ฟุตบอลยูโร 2016 ตัวเลขการใช้จ่ายอยู่ที่ 76,500 ล้านบาท ติดลบร้อยละ 19 ต่อมาในปี 2563  ยูโร 2020 ตัวเลขการใช้จ่ายอยู่ที่ลดลงมาอยู่ที่ 62,400 ล้านบาทหรือลดลงร้อยละ 20 ขณะที่ช่วงฟุตบอลโลก 2022 ในปี 2565 มาเปรียบเทียบ พบว่าในปีนั้นตัวเลขการใช้จ่ายอยู่ที่ 76,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23


ล่าสุดในปีนี้  ฟุตบอลยูโร  2024 คาดว่าการใช้จ่ายอยู่ที่ 87,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับมหกรรมกีฬาฟุตบอลระดับโลกครั้งที่ผ่านมา


ถ้าไปแยก ดูรายละเอียด “พบว่าเป็นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจประมาณ 20,575  ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากฟุตบอลโลกร้อยละ 5 ถือเป็นการขยายตัวที่ดี โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภคและการจัดสังสรรค์ร้อยละ 5 หรือประมาณ 16,295 ล้านบาท ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์รับสัญญาณคาดว่าจะมีการใช้จ่าย 2,347 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2  และการใช้จ่ายอื่น ๆ 1,932 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10”


ศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุถึง การจับจ่ายในระบบเศรษฐกิจช่วงฟุตบอลยูโรกว่า 2 หมื่นล้านบาท ถือว่าดีสุดในรอบ 8 ปีผ่านมา แสดงให้เห็นว่า คนไทยเริ่มกลับมาเชียร์การแข่งขันฟุตบอลเพิ่มขึ้น เพราะตั้งแต่ปี 2557 ที่เกิดปัญหาทางการเมือง มูลค่าการใช้จ่ายในเศรษฐกิจในช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโรก็ไม่เคยสูงเกิน 20,000 ล้านบาทเลยซักครั้ง จนถึงครั้งล่าสุดที่สามารถเกินกว่า 2 หมื่นล้านบาทได้


ฟุตบอลยูโร เป็นหนึ่งในกีฬาที่ทำให้เกิด กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน เช่น การท่องเที่ยวในประเทศเจ้าภาพ การถ่ายทอดสดทำให้เม็ดเงินโฆษณาคึกคักมากขึ้น ประชาชนไปดูฟุตบอลที่ร้านอาหาร ทำให้เกิดการใช้จ่ายซื้ออาหารและเครื่องดื่ม บางคนดูที่บ้าน อาจซื้อทีวีใหม่ ซื้อเครื่องดื่ม อาหาร และขนมมาทานทำให้สินค้ากลุ่มนี้ขายดีมากขึ้น 


ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนใหญ่มองเป็นทิศทางบวกเพราะช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นในช่วงฟุตบอลยูโร กระตุ้นเยาวชนให้หันมาสนใจกีฬาฟุตบอล มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น กระตุ้นให้วงการฟุตบอลไทยมีโอกาสไปเล่นในระดับโลก และช่วยลดความเครียดจากการเรียนหรือการทำงาน


บอลยูโร 2024 : หอการค้าฯ ห่วงคนไทยอาจทุ่มพนัน 6 หมื่นล้าน สูงเป็นประวัติการณ์


ขณะที่ด้านลบอาจทำให้ค่าใช้จ่ายในช่วงฟุตบอลยูโรเพิ่มขึ้น การพูดคุยเกี่ยวกับฟุตบอลมากเกินไปในเวลาทำงาน ก่อให้เกิดหนี้เสีย อุบัติเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ


ที่น่าสนใจพบว่า “คนไทยเตรียมใช้จ่ายนอกระบบเศรษฐกิจ ด้วยการอาจนำไปเล่นพนันบอล ถึง 60,744 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17” ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าเคยมีการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2551 


พฤติกรรมการเล่นพนันฟุตบอลของคนไทย พบว่าร้อยละ 35.6 ระบุว่า เล่นพนันฟุตบอล และร้อยลบะ 43.6 ระบุว่า คนรอบข้างเล่นพนันฟุตบอลอยู่ที่ และมีคนที่ระบุว่า จะเล่นเฉลี่ยตลอดทั้งการแข่งขัน ใช้เงินประมาณ 23,574 บาทต่อคน ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายมากที่สุดประมาณ 10,000-50,000 บาทต่อคน


แม้ว่าในปีนี้คนไทยจะนิยมโอนเงิน สแกนจ่ายเงิน แต่การเล่นพนันบอลยังนิยมเล่นเป็นเงินสดถึงร้อยละ 58.5 และที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนคือ มีการพนันที่เป็นสิ่งของมากขึ้นเมื่อเทียบกับฟุตบอลยูโรในครั้งก่อน จากเดิมในครั้งก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.9  แต่ในครั้งนี้การพนันเป็นสิ่งของเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 20


แหล่งที่มาของเงินที่ใช้จ่ายพนันฟุตบอลยูโร ส่วนใหญ่มาจากรายได้หรือเงินเดือน เงินออม และบางส่วนนำมาจากเงินของผู้ปกครองที่ให้มา แสดงให้เห็นว่ายังมีเด็กและเยาวชนเล่นพนันตรงนี้  หลายคนระบุว่า จะเล่นพนันเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับฟุตบอลยูโรครั้งก่อน ร้อยละ 51 และสูงขึ้นเมื่อเทียบกับลีกต่าง ๆ ร้อยละ 46 


มีการประเมินจากฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี ว่า “ในช่วงมหกรรมฟุตบอลยูโร  เม็ดเงินจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติ ประมาณ 1.5-1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งนับว่ามีนัยที่สำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเวลาการแข่งขันที่สั้นๆ ประมาณ 1 เดือน โดยคาดว่าสินค้าที่ความต้องการสูงขึ้น เช่น อาหารและเครื่องดื่ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์กีฬา”


บล.กรุงศรี ศึกษาความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกลุ่มสินค้าดังกล่าว ในช่วงเวลาแข่งขันฟุตบอลยูโร ย้อนหลัง 3 รอบ พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นสูงสุด คือ กลุ่มสื่อสาร รองลงมาคือกลุ่มโรงแรม กลุ่มค้าปลีก และ กลุ่มอาหาร


ภาพจาก: AFP 

ข่าวแนะนำ