TNN ทุเรียนไทย ปี 2567 คาดผลผลิตลดลงร้อยละ 18 มากที่สุดในรอบ 15 ปี

TNN

เศรษฐกิจ

ทุเรียนไทย ปี 2567 คาดผลผลิตลดลงร้อยละ 18 มากที่สุดในรอบ 15 ปี

ทุเรียนไทย ปี 2567 คาดผลผลิตลดลงร้อยละ 18 มากที่สุดในรอบ 15 ปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์สถานการณ์ทุเรียนไทย ปี 2567 คาดผลผลิตลดลงร้อยละ 18 มากที่สุดในรอบ 15 ปี จากปัจจัยความร้อน ภัยแล้ง และสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์สถานการณ์ทุเรียนไทย 2567 โดยทุเรียนอยู่ในช่วงเดือนเมษายน - สิงหาคม ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากราว ร้อยละ 86 ของผลผลิตทุเรียนทั้งปี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออก และภาคใต้รวมกว่า ร้อยละ 95 ของผลผลิตทุเรียนทั้งประเทศ


เริ่มจากทุเรียนในฤดูภาคตะวันออกที่จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่เมษายน ได้เผชิญความร้อนแล้งจากเอลนีโญรุนแรงในช่วงราว 4 เดือนแรกของปี ทำให้ต้นทุเรียนได้รับน้ำฝนในปริมาณที่น้อยลงกว่าปีก่อนโดยเฉพาะในเมษายน ที่น้ำฝนน้อยลงอย่างมาก ส่งผลต่อการติดดอกออกผลที่ลดลง/ผลมีน้ำหนักเบา


อย่างไรก็ดี แม้จะมีปริมาณฝนมากขึ้นตั้งแต่ พฤษภาคม ที่อาจช่วยบรรเทาความเสียหายในระยะเก็บเกี่ยวได้ แต่โดยรวมแล้วทั้งฤดูทุเรียนภาคตะวันออกปี 2567 คาดผลผลิตจะลดลง ร้อยละ 14 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือมีผลผลิตออกสู่ตลาดราว 6.5 แสนตัน


ขณะที่ทุเรียนภาคใต้ที่จะออกสู่ตลาดตามมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ก็มีแนวโน้มว่าผลผลิตจะเสียหายมากขึ้นอีกจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากต้องเผชิญปริมาณฝนที่ลดลงจากปีก่อนตลอดช่วงการเจริญเติบโตของทุเรียนตั้งแต่ระยะติดดอกออกผล และยังถูกซ้ำเติมด้วยฝนทิ้งช่วงซึ่งเป็นระยะเก็บเกี่ยวอีกด้วย ทำให้โดยรวมแล้วทั้งฤดูทุเรียนภาคใต้ปี 2567 อาจมีผลผลิตลดลงแรงถึง ร้อยละ 25 หรือมีผลผลิตออกสู่ตลาดราว 3.1 แสนตัน


ผลผลิตทุเรียนรวมในฤดูปี 2567 (2 ภาค คือ ภาคตะวันออก และภาคใต้) อาจลดลง ร้อยละ 18 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือมีผลผลิตออกสู่ตลาดรวมราว 9.6 แสนตัน นับเป็นผลผลิตทุเรียนที่ลดลงมากที่สุดในรอบ 15 ปี


ส่วนภาพรวมรายได้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในฤดูปี 2567 อาจเพิ่มขึ้นได้เพียง ร้อยละ 0.3 จากผลผลิตรวมที่ลดลง ร้อยละ 18 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ราคาเฉลี่ยปรับสูงขึ้น ร้อยละ 22 แบ่งเป็นรายได้เกษตรกรภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4 และรายได้เกษตรกรภาคใต้ลดลง ร้อยละ 8


ทั้งนี้ รายได้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนที่ยังไม่หักต้นทุนการผลิต โดยมีต้นทุนการผลิตที่สำคัญในการจัดหาน้ำช่วงเอลนีโญ เช่น ต้นทุนการซื้อน้ำมารดต้นทุเรียน เครื่องปั๊มน้ำ/เครื่องสูบน้ำ/สปริงเกลอร์ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหากนับรวมต้นทุนการผลิตด้วย ก็จะทำให้รายได้เกษตรกรสุทธิของผู้ปลูกทุเรียนเผชิญแรงกดดันมากยิ่งขึ้น




ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ