คลังเล็งหารือธปท. ปลดลูกหนี้ ‘กลุ่ม 21’ ทรุดจากโควิดออกจากเครดิตบูโรไวขึ้น
คลังเล็งปลดลูกหนี้ ‘กลุ่ม 21’ ได้รับผลกระทบโควิดออกจากเครดิตบูโรไวขึ้น เตรียมหารือกับธปท. เร็ว ๆ นี้
วันนี้ ( 10 มิ.ย. 67 ) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เปิดเผยถึง ปัญหาหนี้เสีย NPL และการเข้าไม่ถึงสินเชื่อ นายพิชัย กล่าวว่า ในเร็ว ๆ นี้จะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะมีมาตรการที่จะยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อ ให้กับผู้ประกอบการให้กับกลุ่ม 21 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีจำนวน 4 ล้านราย ออกจากเครดิตบูโร หรือ การติดแบล็กลิสต์ ได้ไวขึ้น
“เรื่องเครดิตบูโร เราเดินตามมาตรฐานต่างประเทศคือ 5 บวก 3 โดยตัดหนี้เสียของสถาบันการเงินจะต้องใช้เวลา 5 ปี และถูกเก็บประวัติไว้ที่เครดิตบูโรอีก 3 ปี ซึ่งการหารืออยากจะช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มรหัส 21 ก่อน เพราะวันนี้ลูกหนี้กลุ่มนี้เริ่มฟื้นแล้วแต่ยังติดเครดิตบูโร ถ้าเปลี่ยนเฉพาะกลุ่มนี้เป็นเหลือ 3 บวก 3 จะช่วยได้อีก 4 ล้านคน แต่ต้องหารือธปท.ก่อนว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง” นายพิชัย กล่าว
ส่วนในการประชุม ครม.วันพรุ่งนี้ (11 มิ.ย.) จะมีการเสนอมาตรการค้ำประกันสินเชื่อของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SME เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น
สำหรับในระยะต่อไปจะมอบหมายให้ธนาคารออมสิน ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ปล่อยให้กับสถาบันการเงินในอัตรา 0.1% เพื่อนำวงเงินดังกล่าวไปปล่อยสินเชื่อต่อสำหรับลูกค้ารายใหม่ ดอกเบี้ย 1-3 ปีแรกไม่เกิน 3.5% ซึ่งยอมรับว่า อาจจะกระทบกับกำไรของธนาคารออมสินบ้าง แต่ถือเป็นการช่วยผู้ประกอบการ ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้
สำหรับการ แก้ไขปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ โดยเฉพาะในเดือนนี้ที่มีผลผลิตออกมาจำนวนมาก โดยมาตรการระยะสั้นอยากเห็นผู้ซื้อสามารถพูดคุยกับเจ้าของโรงงานไบโอดีเซล 100 (B100) ถ้า B100 ขึ้น น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ก็จะขึ้น และถ้าควบคุมการซื้อขายปาล์มได้ ก็จะทำให้ราคาขยับขึ้นไปที่ 5 บาท/กก. ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาจากวงจรทั้งหมด โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงานไปดูราคาตลาด ก่อนดำเนินการประกาศและพูดคุยกับผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 เพื่อให้ลงตัวมากที่สุด
นอกจากนี้ นายพิชัย ยังกล่าวอีกว่า ได้มีการหารือเพิ่มทักษะแรงงานไทย ซึ่งขณะนี้มีความต้องการด้านอิเล็กทรอนิกส์ และด้านไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่นักลงทุนสนใจ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ อัพสกิลแรงงานดึงเงินลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะทำงานร่วมกับผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด ด้วยการฝึกคนรุ่นใหม่ เน้นการเรียนการสอนให้มหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะมีหลักสูตรที่ตรงมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันต้องมีที่ฝึกงานในต่างประเทศด้วย
ภาพจาก: Getty Images
ข่าวแนะนำ