TNN สศช. เตือนสัญญาณอันตราย ‘หนี้เสียบ้าน’ รายได้ปานกลางเริ่มจ่ายไม่ไหว

TNN

เศรษฐกิจ

สศช. เตือนสัญญาณอันตราย ‘หนี้เสียบ้าน’ รายได้ปานกลางเริ่มจ่ายไม่ไหว

สศช. เตือนสัญญาณอันตราย ‘หนี้เสียบ้าน’ รายได้ปานกลางเริ่มจ่ายไม่ไหว

สศช. เตือนสัญญาณอันตราย ‘หนี้เสียบ้าน’ แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กลุ่มรายได้ปานกลางถึงระดับล่างเริ่มจ่ายไม่ไหว

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ว่า ขณะนี้พบแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นกลุ่มครัวเรือนรายได้ระดับปานกลางหรือล่าง


ทั้งนี้จากข้อมูลเครดิตบูโรในไตรมาสสี่ ปี 2566 พบว่า ยอดคงค้างหนี้เสียของสินเชื่อบ้านขยายตัวเร่งขึ้นถึง 7% จากไตรมาสที่ผ่านมาที่หดตัว 1.7% หรือ คิดเป็นสัดส่วน 3.6% ต่อสินเชื่อรวม โดยเกือบ 3 ใน 4 หรือ 73.4% เป็นหนี้เสียของสินเชื่อบ้านวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 4.5% สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับวงเงินสินเชื่อบ้านในระดับอื่น 


รวมถึงหนี้สินเชื่อบ้านวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ยังมีสัดส่วนหนี้ค้างชำระ 1 – 3 เดือนต่อสินเชื่อรวม สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน โดยไตรมาสสี่ ปี 2566 มีสัดส่วนอยู่ที่ 4.4% จึงอาจต้องเฝ้าระวัง และเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสียต่อไป


นายดนุชา กล่าวกว่า เมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ยังพบว่ามีการด้อยลงต่อเนื่อง จากข้อมูลธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาสสี ปี 256 พบว่า หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีมูลค่า 1.58 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.88% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.79% ของไตรมาสที่ผ่านมา


สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจาก 3.24% เป็น 3.34% และสินเชื่อยานยนต์มีสัดส่วนหนี้ NPLs ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.10% เป็น 2.13% ในไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับสินเชื่อที่ครัวเรือนใช้เสริมสภาพคล่อง คือ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้น 


อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสินเชื่อค้างชำระระหว่าง 1 - 3 เดือน (Stage 2) จำแนกรายวัตถุประสงค์กลับพบว่า มีเพียงสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นเท่านั้นที่มีสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระระหว่าง 1 – 3 เดือนต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น


ส่วนภาพรวมหนี้สินครัวเรือนพบว่า ชะลอตัวต่อเนื่องในไตรมาสสี่ ปี 2566 และภาพรวมปี 2566 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.36 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3% ลดลงจาก 3.4% ของไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาล เพิ่มขึ้น 0.2% ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Household Debt to GDP) อยู่ที่ 91.3% เพิ่มขึ้นจาก 91% ของไตรมาสที่ผ่านมา


ภาพจาก: Getty Images 

ข่าวแนะนำ