เชียงใหม่ล้ำ! มุ่งเป็นศูนย์กลาง E-commerce ข้ามแดน ตอนที่ 3 เช็ค "หน้าร้าน" เชียงใหม่พร้อมไหมเป็นศูนย์กลาง CBEC?
เชียงใหม่เป็นจังหวัดศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคเหนือที่สำคัญ ตลอดหลายปีที่ผ่านมาลมหายใจของเชียงใหม่คือการท่องเที่ยว สิ่งนี้มีความเสี่ยงแฝงอยู่ ความเงียบเหงาของเชียงใหม่ในช่วงโควิด-19 เป็นสิ่งยืนยันได้ดีว่าเชียงใหม่ต้องคิดและต้องทำมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาการท่องเที่ยว และส่งเสริม New S-curve เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อผลักดันให้เชียงใหม่ก้าวต่อ โดยหนึ่งในนั้นคือ Cross Border E-commerce (CBEC) หรือการค้าออนไลน์ข่้ามพรมแดน ซึ่งอยู่ใน New S-curve หมวดอุตสาหกรรมดิจิทัล ในตอนที่ 3 นี้ เราจะไปสำรวจความพร้อมเชียงใหม่ในการก้าวเป็นศูนย์กลาง CBEC ของไทยที่ใกล้จีนมากที่สุด
เชียงใหม่ล้ำ! มุ่งเป็นศูนย์กลาง E-commerce ข้ามแดน
ตอนที่ 3 เช็ค "หน้าร้าน" เชียงใหม่พร้อมไหมเป็นศูนย์กลาง CBEC?
รวบรวมข้อมูล แปล และเรียบเรียง
โดย ธัญวรัตน์ ถาวรโชติวงศ์
คีย์เวิร์ดสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (CBEC) ให้ประสบความสำเร็จ คือ
"ซื้อซ้ำ ซื้อสะดวก ชิปปิ้งเร็ว"
และเชียงใหม่มีจุดเด่นที่สนับสนุนให้การค้าออนไลน์ในจังหวัดเดินตามคีย์เวิร์ดเหล่านี้ ได้แก่
1. การท่องเที่ยว
2. สินค้า
3. การส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลอย่างจริงจัง
และ 4. ระบบ Logistic มีการพัฒนาไม่หยุดยั้ง
การท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นคืน โดยนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าเชียงใหม่ยังมีจำนวนเป็นอันดับหนึ่ง ทำให้สินค้าไทยๆ ในเชียงใหม่ถูกมองเห็นมากขึ้น เกิดความประทับใจ และต้องการซื้อสินค้าซ้ำ
ทางด้านสินค้า สินค้าที่ชาวจีนต้องการทั้งสินค้าเกษตร และสินค้าบ้านและสวนมีผลิตในเชียงใหม่อยู่แล้ว
นอกจากนี้ ที่นี่มีการส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลอย่างจริงจังจึงมีโครงสร้างทางอินเทอร์เน็ตครอบคลุมทั้งจังหวัด และมีศูนย์ศึกษาด้านค้าออนไลน์กับจีนโดยตรง ดังนั้นการสั่งซื้อสินค้าจึงเกิดได้อย่างสะดวกสบาย
และในด้านระบบ logistic เชียงใหม่มีจุดเด่น 2 ข้อ คือ กำลังพัฒนาสู่ศูนย์การการขนส่งทางอากาศในภาคเหนือ ด้วยการพัฒนา 2 สนามบินหลัก และ ชัยภูมิของเชียงใหม่อยู่ไม่ไกลจากจีน จึงพร้อมจะส่งสินค้าทางบกผ่านด่านชายแดนที่จังหวัดเชียงราย ไปยังจีน และประเทศปลายทางอื่นๆ โดยสามารถขนส่งทางรถและราง การขนส่งสินค้าจึงสะดวกและรวดเร็ว
จากนี้เราจะไปสำรวจดูความเคลื่อนไหวล่าสุดของจุดเด่นทั้ง 4 ด้าน โดยเริ่มจาก
1. การท่องเที่ยว
ชาวต่างชาตินิยมมาเที่ยวเชียงใหม่โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน
นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่มาก นั่นแปลว่าโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะได้เห็นสินค้าของเชียงใหม่ก็มากขึ้นด้วย ถนนนิมมานเหมินท์ หรือ ที่ตลาดงานศิลปะหัตถกรรมอย่างจริงใจMarket ไม่ได้แค่เป็นจุดซื้อของฝาก เพราะในเวลานี้ influencer จีนมักมา ทำ content และบางคนที่อาจเป็นแม่ค้าออนไลน์ก็มา Live เพื่อรับ pre order สินค้าถึงหน้าร้านค้า และอาจจัดส่งผ่านระบบไปรษณีย์จากไทยด้วย ในจุดนี้ทำให้เห็นว่าสินค้าในเชียงใหม่เป็นที่สนใจต่อชาวจีน
เมื่อหันมาดูจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2567 นี้
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเผยข้อมูลว่า
เฉพาะในช่วงสงกรานต์ (1-21 เมษายน) มีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยถึง 395,830 คน
ขณะที่ระหว่าง 1 มกราคม – 14 เมษายน ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 10,723,953 คน โดยกลุ่มนักท่องเที่ยว จีน มีจำนวนมากที่สุด ถึง 2,031,552 คน
เมื่อเจาะจงมาที่เชียงใหม่
ในเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ มี 2567 นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในเชียงใหม่ 682,202 คน มากกว่าในปี 2566 ถึงร้อยละ 28.65 ซึ่งมีจำนวน 530,297 คน
และ เมื่อนำเทียบกับไตรมาตรแรกของปี 2562 ก่อนการระบาดของโควิด พบว่าจำนวนไม่ห่างจากกันมาก โดยไตรมาตรแรกในปีนั้น มีชาวต่างชาติมาเยือนเชียงใหม่ รวม 874,571 คน
วิสิฐเชียงใหม่ (วิสาหกิจเพื่อสังคม VisitChiangMai) เปิดเผยว่า
ในปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเชียงใหม่มากที่สุดผ่านไฟลท์บินตรง คือ ชาวจีน
โดยมีจำนวน 200,982 คน แม้ว่ายังน้อยกว่าปี 2560 ที่มีชาวจีนเข้ามาเชียงใหม่ถึง 1.42 ล้านคน
อย่างไรก็ตามในปี 2567 นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า ตลอดทั้งปี นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเที่ยวไทย 8.2 ล้านคน ดังนั้นจึงเป็นที่คาดหวังว่า เชียงใหม่จะมีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นด้วย
ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์ในการต่อยอดการขายสินค้าเชียงใหม่ผ่านทางออนไลน์ในอนาคต โดยการท่องเที่ยวจะทำให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางที่จะกระจายสินค้าที่มีศักยภาพสูง ไปสู่มือผู้บริโภคในจีนได้ง่ายขึ้นครับทั้งทางการขายหน้าร้าน และการขายออนไลน์
2. สินค้า
คุณจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่เผยว่า นักท่องเที่ยวจีน ชอบสินค้าไทยมาก อย่างในหมวดการเกษตร และอาหาร
ยาหม่อง สมุนไพร ผลไม้อบแห้ง เป็นที่นิยมที่สุดในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน
สังเกตุได้จากที่ร้าน 7-Eleven ในเชียงใหม่ สินค้าพวกยาหม่องจะหมดไว เมื่อมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาหาซื้อ
นอกจากนี้ จากงานวิจัยของ Alibaba พบว่า สินค้า Art and Craft หรือ ศิลปะ หัตถกรรม ซึ่งอยู่ในหมวดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่มีการผลิตในเชียงใหม่อยู่แล้ว ก็เป็นกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตเพราะเฟอร์นิเจอร์ และ สินค้าหมวดบ้านและสวน ชาวจีนสนใจซื้อหาผ่านการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน ใน 10 อันดับแรก สอดคล้องกับ คุณจารุวัฒน์ เตชะวุฒิ กรรมการ หอการค้าเชียงใหม่ ที่เผยว่า หัตถกรรมและสินค้าเกษตรจากเชียงใหม่เป็นที่ต้องการของชาวจีน “ถ้าสินค้าที่ส่งจากเมืองไทยไปที่โน่นก็จะเป็นสินค้าหัตถกรรมเยอะ เป็น Handy Craft เป็น Lanna Craft รวมถึงสินค้าที่ผลิตเป็นเกษตร เกษตรแปรรูปนะครับที่สามารถจะเอาไปส่งที่นั่นได้ครับ ก็มีสินค้าจากหลากหลายแนวครับ สินค้าจากลำไยก็มี ผลิตผลจากลำไย”
ถอดบทเรียนล้ำค่าในการพัฒนาสินค้าหัตถกรรมจาก “สยามศิลาดล”
เชียงใหม่เป็นเมืองอุตสาหกรรมด้านหัตถกรรมอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ประกอบการหลายรายจึงพร้อมผลิตสินค้า และบางรายมีประสบการณ์ในการส่งออก เช่น สยามศิลาดล ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ เซลามิคจากภูมิปัญญาท้องถิ่น
สยามศิลาดล ก่อตั้งใน ปี 2519 ผลิตงานอุตสาหกรรมหัตถกรรมเซลามิกในรูปแบบศิลาดล ที่นี่ผลิตและส่งออกงานหัตถอุตสาหกรรมไปยัง ญี่ปุ่น ด้วย โดยเคล็ดลับที่ทำสยามศิลาดลอยู่มาอย่างยาวนาน คือสินค้ามีเอกลักษณ์ และมีการพัฒนาสินค้าตลอดเวลา
นิตย์ วังวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามศิลาดลพอตเทอรี่ จำกัด เล่าถึงการก่อตั้งและการพัฒนาสยามศิลาดล ว่า แรกเริ่มนั้นผลิตเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารอย่างจานชามเป็นหลัก ในการผลิตจะใช้สีจากธรรมชาติและไม่ใช้สีเคมีมาจนถึงตอนนี้ ทำให้เครื่องเครือบของสยามศิลาดลมีสีธรรมชาติซึ่งเป็นสีเขียวตามเอกลักษณ์ของเครื่องเครือบศิลาดล
แต่ก้าวย่างสำคัญที่ทำให้สยามศิลาดลคงอยู่ได้นานคือการปรับตัว เพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามศิลาดลพอตเทอรี่ จำกัด เล่าว่า สยามศิลาดลพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่ให้คร่ำครึ จึงทำงานร่วมกับนักออกแบบสมัยใหม่ และรวมไปถึงสถาปนิก ทำให้การผลิตผลิตภัณฑ์จากเซลามิกของสยามศิลาดลมีมากขึ้น เช่น แผ่นเซลามิกที่ใช้ประกอบเป็นโต๊ะ โคมไฟ และฉาก ผลจากความพยายามนี้ทำให้สยามศิลาดลได้รับรางวัลจากยูเนสโก้ Unesco–Ahpada 2001 Seal of Excellence for Handicraft Products in Southeast Asia และในปี 2014 และรวมถึงรางวัล Award of Excellence For Handicrafts 2014 South East Asia Programme จาก World Craft Council อีกด้วย
สินค้าของสยามศิลาดลมีจุดเด่นสำคัญอีกข้อ นั่นคือ ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ในประเทศไทย เพื่อบ่งบอกว่าเป็นสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์ของไทย จริง มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะตามแหล่งภูมิศาสตร์
อนุสิทธิ์ มานิตยกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดต่างประเทศ บริษัท สยามศิลาดลพอตเทอรี่ จำกัด เผยว่าการขึ้นทะเบียน GI สร้างแรงจูงใจให้ชาวต่างชาติสนใจงานของสยามศิลาดล “การมีจีไอเนี่ย มันช่วยส่งเสริมให้เป็นแรงจูงใจ แล้วก็เป็นจุดที่ชาวต่างชาติหันกลับมามองเราว่า เอ๊ะ งานของเชียงใหม่ เป็นแบบนี้นะ มีคุณภาพที่ดี มีภูมิปัญญา มีงานออกแบบที่สวยงาม มีวัฒนธรรม”
นอกจากนี้ยังเผยถึงปัจจัยที่ทำให้สยามศิลาดลได้รับการขึ้นทะเบียน GI จากกระทรวงพาณิชย์ว่า เพราะสยามศิลาดลผลิตสินค้าโดยใช้ภูมิปัญญาล้านนา ผู้ผลิตและวัตถุดิบอยุ่ในพื้นที่ทั้งหมด “วัตถุดิบของเราเนี่ยเป็นวัตถุดิบที่มาจากจังหวัดเชียงใหม่ ก็คือ ดินดำ นะครับ เป็นดินดำท้องนา มาจากอำเภอแม่แตงนะครับ แล้วก็ในส่วนของน้ำเคลือบที่เป็นน้ำเคลือบ ธรรมชาติเนี่ยก็มาจากขี้เถ้าไม้นะครับ ที่เป็นขี้เถ้าไม้ลำไยนะครับ ตอนนี้เราใช้ไม้ลำไยในจังหวัดเชียงใหม่ครับ ก็มา ทำน้ำเคลือบ แล้วก็ช่างก็เป็นช่างปั้นดั้งเดิมของสันกำแพง ครอบครัวก็ยังทำงานกับเรา ลูกหลานก็ทำงานกับเรา เพราะฉะนั้นตรงนี้มันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เราได้รับจีไอ"
การเป็นสินค้า GI จะทำให้ผู้ค้าไทยมีโอกาสมากขึ้น โดยเฉพาะบน platform online ที่ชาวจีนใช้หาซื้อสินค้า เพราะช่วยขจัดความกังวลว่าเป็นสินค้าปลอมหรือไม่ โดยเรื่องสินค้าปลอมเป็น pain point ข้ออันดับต้นๆ ของชาวจีน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอธิบายถึง GI ว่า เป็นเครื่องมือช่วยเหลือผู้ประกอบการ คือ
1. ควบคุมมาตรฐานการผลิต
2. ได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐ
3. เพิ่มคุณค่าให้สินค้า โดยลูกค้าชาวยุโรป ชาวเอเชีย รวมถึงญี่ปุ่น เมื่อเห็นตราจีไอจะรู้สึกว่าไม่ได้ซื้อของที่ฉาบฉวยแต่เป็นของที่มาจากพื้นถิ่นภูมิปัญญาของบริเวณนั้นโดยแท้
สินค้าไทยมีเสน่ห์ และเชียงใหม่ก็เป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรมและสินค้าเกษตรซึ่งเป็นที่ต้องการของลูกค้าชาวจีน การพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์การใช้งานในยุคปัจจุบันและการแก้ไขปัญหาที่เป็น pain point ของลูกค้า จะกลายเป็นจุดเด่นของสินค้าเชียงใหม่ที่จะช่วยให้บุกตลาดจีนสำเร็จ
#เชียงใหม่ #Ecommerce #ค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน #CBEC #crossborderecommerce #จีน #ตลาดไนท์มาร์เก็ต #จริงใจมาร์เก็ต #นักท่องเที่ยวต่างชาติ #นักท่องเที่ยวจีน #ไลฟ์สตรีมขายของ #ศิลาดล #เซลามิก #เครื่องเครือบดินเผา #หัตถกรรม #อุตสาหกรรมหัตถกรรม #GI #สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ #สินค้าภูมิปัญญา
รวบรวมข้อมูล แปล และเรียบเรียง
โดย ธัญวรัตน์ ถาวรโชติวงศ์
-------------------------
ตอนที่ 3 นี้เราได้เห็นความพร้อมของเชียงใหม่ใน 2 ด้าน ตอนต่อไป ตอนที่ 4 เราจะไปดูความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของเชียงใหม่ และความคืบหน้าการผลักดันเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนเข้าจีน ซึ่งหอการค้าเชียงใหม่ให้เกียรติเปิดเผยให้ฟัง
--------------------------
เชียงใหม่ ,Ecommerce ,ค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน ,CBEC ,crossborderecommerce ,จีน ,ตลาดไนท์มาร์เก็ต ,จริงใจมาร์เก็ต ,นักท่องเที่ยวต่างชาติ ,นักท่องเที่ยวจีน ,ไลฟ์สตรีมขายของ ,ศิลาดล ,เซลามิก ,เครื่องเครือบดินเผา ,หัตถกรรม ,อุตสาหกรรมหัตถกรรม ,GI ,สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ,สินค้าภูมิปัญญา
--------------------------
เอื้อเฟื้อข้อมูล
หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
China Intelligence Center(CIC) 泰国商务智能中心 CAMT DIGITAL SCHOOL,CHIANG MAI UNIVERSITY (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
-------------------------
ที่มาข้อมูลทางออนไลน์
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
RCEP and Cross-border E-commerce Opportunities for ASEAN Countries
http://www.asean-cn.org/index.php?m=content=index&a=show&catid=202&id=3280
https://www.chiangraiekkachai.com/extra_info.html
https://www.globaltimes.cn/page/202309/1298353.shtml
https://eng.yidaiyilu.gov.cn/p/326889.html
-------------------------
ข่าวแนะนำ