TNN OECD “เครื่องบ่งชี้” การพัฒนา? ฝันของไทยเข้าเป็นสมาชิก กับกรณีศึกษา “เกาหลีใต้”

TNN

เศรษฐกิจ

OECD “เครื่องบ่งชี้” การพัฒนา? ฝันของไทยเข้าเป็นสมาชิก กับกรณีศึกษา “เกาหลีใต้”

OECD “เครื่องบ่งชี้” การพัฒนา? ฝันของไทยเข้าเป็นสมาชิก กับกรณีศึกษา “เกาหลีใต้”

ประเทศไทยต้องการยื่นเข้าร่วมเป็นสมาชิก “องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development)” หรือ “โออีซีดี (OECD)”

นับเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างมาก ในการที่ประเทศไทยต้องการยื่นเข้าร่วมเป็นสมาชิก “องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development)” หรือ “โออีซีดี (OECD)” อย่างเป็นทางการ ซึ่งที่จริง ได้มีการเตรียมพร้อมมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2565 แล้ว 


แน่นอนว่า การเข้าร่วมโออีซีดีนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีมาตรฐานในการคัดกรองสมาชิกหลายต่อหลายชั้น กระนั้น คำถามที่ตามมา นั่นคือ เหตุใด ในหลาย ๆ ประเทศ จึงต้องพยายามที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกมากมายถึงเพียงนี้ 


โดยเฉพาะ ประเทศในเอเชียที่เป็น “ต้นแบบ” ให้แก่เพื่อนบ้านในการเข้าร่วมดังกล่าวนี้ นั่นคือ “เกาหลีใต้” ที่ขวนขวายอย่างหนักหน่วงในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกโออีซีดีให้จงได้ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970s-1980s จนกระทั่งประสบความสำเร็จเข้าเป็นสมาชิกในปี ค.ศ. 1996


ร่วมติดตาม “ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” ของการเข้าร่วมโออีซีดี ณ บัดนี้


🟠 องค์การสร้างสถานภาพ “การพัฒนา”


หากทำความเข้าใจอย่างง่าย โออีซีดี คือองค์การระหว่างประเทศที่เน้นหนักไปที่ “การร่วมกันสร้างเสริม” ทั้งในด้าน “เศรษฐกิจและการค้า” ให้เพิ่มศักยภาพสูงขึ้น โดยในช่วงแรกเริ่มขององค์การนี้ เป็นการรวมกลุ่มของ “ประเทศประชาธิปไตย” ที่มี “ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด” เพื่อสร้างความพยายามในการแข่งขันกับ “ประเทศคอมมิวนิสต์” ที่มี “ระบบเศรษฐกิจแบบชี้นำโดยรัฐ”


โดยโออีซีดีนั้น มีสมาชิกก่อตั้งจำนวน 20 ประเทศ ดังนี้ ออสเตรีย เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี [เยอรมนีตะวันตก] กรีซ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา และมีการเปิดรับสมาชิกอยู่เรื่อย ๆ


ซึ่งประเทศที่หมายจะเข้าร่วมนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ ซึ่งมีมาตรการโดยคร่าว ดังนี้ 


🟠 ขั้นแรกประเทศที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก ต้องมี “อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ” ที่ต่อเนื่องยาวนาน 


ขั้นต่อมา ประเทศที่ต้องการเข้าร่วมต้องชี้ให้เห็นก่อนว่า ประเทศที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกนั้น มีระบบ “ตลาดเสรี” และ “ความร่วมมือทางการค้า” ในหลากหลายความร่วมมือจริง ๆ เท่านั้นยังไม่พอ ยังจะต้อง “Maintain” สิ่งดังกล่าวให้ได้ ไม่ใช่ว่าเมื่อเข้าสู่การเป็นสมาชิกแล้ว ได้รับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หรือเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้าในภายหลัง


ระบบ “การบริหารจัดการภาษี” ก็ยิ่งต้องชี้ชัดให้ได้ว่า มี “ความโปร่งใส” มากที่สุด ตรงนี้ จะเกี่ยวข้องกับ “ระดับศักยภาพการบริหารประเทศ” ของรัฐบาล ในการจัดทำแผนงบประมาณเพื่อ “ออกนโยบาย” ให้ทรงประสิทธิภาพอีกด้วย


ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศที่จะเข้าร่วม ต้องชี้ให้เห็นถึง “การมีส่วนร่วม” ในระดับสากลโลก ที่ไม่ใช่เพียงการเข้าร่วมในการประชุมสำคัญเพียงอย่างเดียว แต่จะต้อง “ธำรงรักษาคุณค่าบางประการ” ในสากลโลกไว้ อย่างการธำรงไว้ซึ่ง “ประชาธิปไตยแบบตะวันตก” 


และที่สำคัญไปกว่านั้น เมื่อเกิดการธำรงคุณค่าบางอย่างได้ แสดงว่า “เงื่อนไขภายในประเทศ (Domestic Condition)” นั้น “สอดรับ” กับชุดคุณค่าดังกล่าว นั่นคือ การปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก ซึ่งถือเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ “บังคับ” ในการเข้าเป็นสมาชิก อย่างตรงไปตรงมา


เมื่ออธิบายเช่นนี้ อาจมีความสงสัยว่า “ตุรกี” ที่ไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตย เหตุใดจึงสามารถเข้าร่วมได้ 


คำตอบที่ง่ายที่สุด นั่นคือ ตุรกีเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้ง โดยอยู่ร่วมในฝ่ายสัมพันธมิตร และมีระบบทางเศรษฐกิจเป็นตลาดเสรี อีกทั้งผลบังคับใช้ที่กล่าวในข้างต้น เป็นการตั้งขึ้นภายหลังจากมีสมาชิกก่อตั้ง ดังนั้นจึงไม่ถือว่าตุรกีขาดสภาพการเป็นสมาชิกแต่อย่างใดขาดสภาพการเป็นสมาชิกแต่อย่างใด


เมื่อทำได้ดังนี้ คณะกรรมาธิการองค์การก็จะอนุมัติให้เกิดการเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ โดยสิ่งที่จะได้รับตามมา นั่นคือ “เอกสิทธิ์” ต่าง ๆ ของการเป็นสมาชิก 


อาทิ การได้รับความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายทุน การได้รับเงินทุนสนับสนุนจากประเทศสมาชิกในเรื่องเร่งด่วน หรือกระทั่ง การสร้างความร่วมมือในเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากเศรษฐกิจ อย่างการศึกษา การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือการบริบาล


🟠 อยากเข้าไปเพื่อการใด?


แต่ทั้งนี้ ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ เมื่อมาตรการมี “ความเข้มข้นสูง” มากมายถึงเพียงนี้ เหตุใด หลาย ๆ ประเทศจึง “ยินยอมพร้อมใจ” ที่อยากจะเข้าร่วมมากมายขนาดนี้


คำตอบ นั่นคือ โออีซีดี ไม่ได้ดำรงอยู่ในฐานะองค์การระหว่างประเทศ หากแต่ดำรงอยู่ในฐานะ “เครื่องบ่งชี้การพัฒนา” ประการหนึ่ง นั่นเพราะ การฝ่าฝันอุปสรรคที่ยากลำบากทางมาตรการ และสามารถเข้าเป็นสมาชิกได้ ย่อมเป็นการบ่งชี้ว่า ประเทศนั้น ๆ “มีศักยภาพ” มากพอที่จะไปอยู่ร่วมกับประเทศ “ระดับสูง” ได้


ดังนั้น ไม่เว้นแม้แต่ประเทศในโซนอเมริกากลาง ที่มีการพัฒนา “ระดับกลาง ๆ” อย่าง “คอสตาริกา” ก็ยังพยายามปรับแปรประเทศให้ไปกันได้กับมาตรการสุดโหดนี้ เสียจนได้เข้าเป็นสมาชิกโออีซีดี เมื่อปี ค.ศ. 2020


🟠 เกาหลีใต้กับการเข้าร่วมโออีซีดี


หนึ่งใน “ต้นแบบ” ที่สำคัญของประเทศในแถบเอเชีย ในการสร้างมาตรฐานของตน เพื่อเข้าร่วมกับโออีซีดีได้อย่างน่าทึ่ง แน่นอนว่า หนีไม่พ้น “เกาหลีใต้”


หากพิจารณาด้วยหลักของ “ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” จะพบว่า เกาหลีใต้นั้น “กังวล” กับสถานภาพด้าน “การพัฒนา” ในสากลโลกของตนเองมาโดยตลอด จากการมี “คู่แข่ง” เป็นญี่ปุ่น หรือกระทั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ “เจริญ” กว่าพวกเขาไปมากโข


พัค จ็อง ฮี สุดยอดผู้นำแห่งเกาหลีใต้ ในยุคคริสต์ทศวรรษ 1960s ได้ลั่นวาจาไว้ว่า “ความก้าวหน้าจะบรรลุผลได้ ต้องมาจากผู้ที่เชื่อมั่นว่าจะไปให้ถึง และเต็มใจที่จะทำงานหนักเพื่อนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ”


และแน่นอน สิ่งที่ท่านผู้นำต้องการ โดยระบุลงใน “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (경제사회발전 5개년계획)” นั่นคือ ประเทศเกาหลีใต้ต้อง “หลุดกับดักความยากจน” ให้ได้โดยไว และจะต้องไป “วัดรอยเท้า” กับบรรดามหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกให้จงได้


เครื่องบ่งชี้ของสิ่งที่จะไปให้ถึงดังกล่าว แน่นอนว่าเป็น “การเข้าร่วมโออีซีดี” เป็นที่ตั้ง


เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจน ย่อมเป็นไปได้โดยง่ายที่จะไปให้ถึง เกาหลีใต้กลายเป็น “เสือเอเชีย” เป็นประเทศมหาอำนาจกลาง และเข้าสู่โออีซีดีในปี ค.ศ. 1996 รวมระยะเวลาเพียง 30 กว่าปีเท่านั้น


สิ่งนี้ ผู้คนต่างกล่าวขานว่าเป็น “มหัศจรรย์แห่งแม่น้ำฮัน” เลยทีเดียว


เมื่อมาถึงตรงนี้ ต้องจับตาเป็นอย่างยิ่งว่า สำหรับประเทศไทย จะสามารถกระทำตามมาตรการที่โออีซีดีตั้งธงไว้ได้มากน้อยเพียงไร


แต่อย่างไรเสีย เพียงแค่ประเทศไทยมี “ความต้องการอย่างแรงกล้า” ในการเข้าร่วมโออีซีดี เช่นนี้ ย่อมถือว่า ต้องชื่นชมใน “วิสัยทัศน์” ประการหนึ่ง


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง


บทความ Introduction: The OECD and Policy Transfer: Comparative Case Studies

บทความ South Korea’s Economic Development, 1948–1996

https://www.oecd.org/mcm/documents/C-MIN-2017-13-EN.pdf

https://www.oecd.org/legal/OECD%20Korea%20Accession%20Agreement.pdf

https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2724764/key-steps-of-thailands-bid-to-join-oecd

https://www.matichon.co.th/foreign/indepth/news_4536174

ข่าวฮิตติดแท็ก