TNN กทม.เตรียมใช้ 3 ยาแรงสู้ฝุ่น ห้ามรถวิ่ง-ห้ามเรียน-ห้ามทำงาน

TNN

Earth

กทม.เตรียมใช้ 3 ยาแรงสู้ฝุ่น ห้ามรถวิ่ง-ห้ามเรียน-ห้ามทำงาน

กทม.เตรียมใช้ 3 ยาแรงสู้ฝุ่น ห้ามรถวิ่ง-ห้ามเรียน-ห้ามทำงาน

กทม.เตรียมใช้ 3 ยาแรง หากค่าฝุ่นวิกฤติสีแดงตั้งแต่ 5 เขต ซึ่งก็คือห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปวิ่งเข้าพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน ประกาศปิดเรียน และให้ Work From Home

กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมใช้ยาแรง 3 ขนานเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ รถยนต์ การเผาในที่โล่ง และสภาพอากาศปิดเหมือนเป็นฝาชีครอบไม่สามารถระบายฝุ่นได้ หากสถานการณ์มาถึงจุดที่ทั้ง 3 ปัจจัยเกิดขึ้นพร้อมกันจะทำให้มีปริมาณฝุ่น PM2.5 ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จนอยู่ในขั้นวิกฤตคือ ค่าฝุ่นเป็นสีแดง 5 เขต พยากรณ์ฝุ่นล่วงหน้า 2 วันพบค่าฝุ่นเป็นสีแดงอย่างน้อย 5 เขต หรือเป็นสีส้มอย่างน้อย 15 เขต และอัตราการระบายอากาศน้อยกว่า 3,000 ตารางเมตร/วินาที


โดยยาแรงขนานแรก ห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป ยกเว้นรถที่อยู่ในบัญชีสีเขียว  ตามมาตรการ Low Emission Zone วิ่งเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในหรือวงแหวนรัชดาภิเษก ยาแรงขนานที่ 2 คือ ห้ามเรียน กทม.จะประกาศปิดโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครทั้งหมด และยาแรงที่ 3 คือ ห้ามทำงาน กทม.จะประกาศขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาคเอกชนและภาครัฐทำงานที่บ้าน (Work From Home:WFH) เพื่อลดการเดินทางและลดการปล่อย PM 2.5


ด้านนายแพทย์ สุรวัช หอมวิเศษ กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลเวชธานี ระบุถึง การดูแลสุขภาพเด็กในช่วงนี้ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงเกินเกณฑ์ติดต่อกันว่า ควรที่จะมีการจำกัดกิจกรรมกลางแจ้งต่าง ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสฝุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก และในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัวร่วม เช่น โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ควรที่จะได้รับการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ


สำหรับอาการหลัก ๆ ที่พบในช่วงค่าฝุ่น PM 2.5 สูงนั้น คืออาการทางเดินหายใจ เด็กที่มีอาการภูมิแพ้อยู่แล้วอาจจะคุมได้ค่อนข้างยาก มีอาการไอ มีน้ำมูกเยอะ รวมไปถึงอาจจะมีอาการหอบหืดกำเริบขึ้นได้ มีอาการเหนื่อยง่าย ไอช่วงกลางคืนมากกว่าปกติ ส่วนกลุ่มเด็กที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบอยู่เดิม เป็นผื่นแพ้อยู่แล้ว เมื่อสัมผัสฝุ่น อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้อาการโรคเพิ่มขึ้นมีอาการคันมีผื่นแดงตามตัว


ส่วนผลกระทบระยะยาวในกลุ่มเด็กที่สัมผัส มลพิษทางอากาศหรือฝุ่น PM 2.5 เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ปัจจุบันมีการศึกษาทางการแพทย์มากขึ้น ถึงผลกระทบจากฝุ่น พบว่า ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้มากขึ้น อย่างชัดเจน ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงคนที่ไม่เคยเป็นโรค ก็มีโอกาสเป็นโรคได้ บางรายที่มีเลือดกำเดาไหลก็มีปัจจัยเรื่องของฝุ่นไปกระตุ้นซึ่งพบในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิแพ้จมูกอยู่เดิม


อย่างไรก็ตามโรคทางเดินหายใจสามารถที่จะป้องกันได้ ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงไปสถานที่ที่มีคนหมู่มาก /หมั่นล้างทำความสะอาดมือบ่อยๆ ลดการสัมผัสเด็กที่มีอาการป่วย ที่สำคัญต้องสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิดเมื่อมีอาการป่วย หากอาการไม่ดีขึ้น มีไข้สูงมาก ไข้ไม่ลดลง กินได้น้อยมีอาการหอบเหนื่อย ตัวเขียว ชักเกร็ง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจอาการอย่างละเอียดเพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้


ภาพ: ENVATO

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง