TNN "พลุ" สวยสะกดใจ แต่ผลกระทบสะเทือนโลก

TNN

Earth

"พลุ" สวยสะกดใจ แต่ผลกระทบสะเทือนโลก

พลุ สวยสะกดใจ  แต่ผลกระทบสะเทือนโลก

"พลุ" และดอกไม้ไฟเป็นสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลองและความบันเทิงในงานเทศกาลต่าง ๆ ทั่วโลก แต่เบื้องหลังความสวยงามและความตื่นตานั้นกลับมาพร้อมกับผลกระทบที่ร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตรอบตัวเราเช่นกัน

“พลุ” ถูกใช้เพื่อสร้างความพึงพอใจให้หลาย ๆ คนได้ฉลองวันหยุดสำคัญ และปิดท้ายเทศกาลด้วยเสียงที่ดังกึกก้อง แต่ทั้งหมดนี้แลกมาด้วยต้นทุนต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่? ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นหัวข้อสำคัญระดับโลก การพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลุเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยเช่นกัน


ปัจจุบัน ทั่วโลกมีความหลงใหลและต้องการชมการพลุที่เต็มไปด้วยสีสันเพื่อความบันเทิงและการฉลองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากข้อมูลของสมาคมดอกไม้ไฟแห่งอเมริกา (American Pyrotechnics Association) ในปี 2021 การจุดพลุในสหรัฐอเมริกามีปริมาณรวมถึง 428.8 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 24.3 ล้านปอนด์ และเพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 155.8 ล้านปอนด์ โดยพลุสำหรับผู้บริโภคทั่วไปที่มีความเสี่ยงต่ำคิดเป็น 416.3 ล้านปอนด์ ในขณะที่พลุที่ใช้ในงานแสดงระดับมืออาชีพมีปริมาณ 12.5 ล้านปอนด์


รู้หรือไม่ว่า “พลุ” สร้างความสวยงามผ่านส่วนผสมของสารเคมีมากมาย เช่น ดินปืน (black powder) ซึ่งประกอบด้วยโพแทสเซียมไนเตรต (75%) ถ่าน (15%) และกำมะถัน (10%) รวมถึงแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น สตรอนเชียม (ทำให้เกิดสีแดง) โซเดียม (ทำให้เกิดสีเหลือง) และ แบเรียม (ทำให้เกิดสีเขียว)


แน่นอนว่า ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องของมลพิษทางอากาศ เมื่อพลุระเบิด สารเคมีจะถูกเผาไหม้และก่อให้เกิดสารมลพิษในอากาศ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไนโตรเจนออกไซด์ และ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ตัวอย่างเช่น ในช่วงเทศกาลดิวาลีในอินเดีย ฝุ่นละอองในอากาศเพิ่มขึ้นถึง 35 เท่า เมื่อเทียบกับวันที่ไม่มีพลุ ในกรุงเดลี ระดับ PM2.5 ในอากาศช่วงเทศกาลดิวาลีในปี 2017 อยู่ที่ 900 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ไม่เกิน 5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรต่อปี


นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสัตว์ เสียงดังและแสงวูบวาบจากพลุสร้างความหวาดกลัวให้สัตว์ ส่งผลให้พวกมันละทิ้งที่อยู่อาศัยและได้รับความเครียด ตัวอย่างเช่น ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี นกหลายร้อยตัวถูกพบเสียชีวิตบนถนนหลังการแสดงพลุในคืนส่งท้ายปีเก่า


สร้างมลพิษในดินและแหล่งน้ำ เพราะพลุทิ้งเศษซากและสารเคมี เช่น เพอร์คลอเรต (perchlorate) ซึ่งปนเปื้อนในดินและน้ำ และส่งผลกระทบต่อพืชและสัตว์น้ำ ในการศึกษาในรัฐเซาท์ดาโคตาของสหรัฐฯ พบว่าระดับเพอร์คลอเรตในดินและน้ำใกล้สถานที่จัดแสดงพลุมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


แต่เราก็ทีทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรเทาผลกระทบเหล่านี้ หลายประเทศเริ่มมองหาทางเลือก เช่น การใช้พลุไร้เสียง ซึ่งลดผลกระทบต่อสัตว์ เช่น ที่เมืองโคลเลคคิโอ ประเทศอิตาลี

การแสดงโดรน หรือ เลเซอร์โชว์ ซึ่งปลอดภัยกว่าและไม่ก่อมลพิษ เช่น ในพิธีเปิดโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว


เพราะทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบจากพลุได้ ดังนั้นในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายสำคัญ การลดการใช้พลุเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยสร้างโลกที่เขียวและยั่งยืนขึ้น


ภาพ: ENVATO

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง