"ดร.สนธิ" เตือน PM2.5 สุดอันตราย สารก่อมะเร็งปะปนในอากาศ
ภัยฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 จากองค์การอนามัยโลก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งโรคปอด มะเร็ง และระบบหัวใจหลอดเลือดร้ายแรง
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับปัญหา “ฝุ่นPM2.5” ในเมือง อันตรายถึงชีวิต อากาศปิด หายใจผิด ชีวิตเปลี่ยน โดยระบุไว้ดังนี้
เมื่อผ่าฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอนออกมาจะพบสารพิษอะไรบ้าง รู้หรือไม่ว่าองค์กรอนามัยโลกหรือ WHO ได้กำหนดให้ PM2.5 เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 เมื่อปี 2556
จากการศึกษาองค์ประกอบของสารพิษที่อยู่ในฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่อยู่ริมถนน โดยใช้เครื่องมือ Dichotomous Partisol Samplers ดำเนินการโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัย Birminghamทำการศึกษาในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา จีน โดยเก็บตัวอย่างบริเวณริมถนนที่มีการจราจรติดขัดเป็นประจำพบว่า ในฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 จะประกอบด้วย สาร Sulphate, Nitrate, Chloride, Organic Carbon, Elemental Carbon, Iron and Calcium เป็นต้น โดยจะมีสารคาร์บอน , ซัลเฟต และไนเตรทรวมกันถึงร้อยละ 80
สำหรับสารคาร์บอนด์จะเป็นกลุ่มของสาร ไฮโดรคาร์บอนที่ประกอบด้วยวงเบนซีนตั้งแต่ 2 วงขึ้นไปหรือ Polycyclic Aromatic Hydrocarbons ( PAHs) เป็นสารที่สามารถทำลาย DNA ในเนื้อเยื่อปอด ทำให้เกิดเนื้องอก ซึ่งจัดเป็นสารก่อมะเร็งมีปะปนในฝุ่นขนาดเล็กจากการจราจรมากที่สุด จึงทำ ให้องค์การอนามัยโลกหรือ WHO กำหนดให้ฝุ่น PM 2.5 เป็นสารในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็งในปี 2556 คือหายใจเข้าไปมาก ๆ มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดสูง
สำหรับซัลเฟต ไนเตรท และแคลเซียม เป็นสารอนินทรีย์ที่มาจากฝุ่นดินบนนถนนส่วน เหล็กเป็นโลหะหนักที่มาจากการกัดกร่อนของเครื่องยนต์ ซึ่งทั้งหมดเป็นของแข็งที่ไม่ย่อยสลายและเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กมีความแข็ง สามารถแทงทะลุเข้าไปในถุงลมปอดได้ หากเป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กถึง 1.0 ไมครอน จะสามารถทะลุเข้าไปปะปนในเส้นเลือดและไหลไปยังส่วนต่างๆของร่างกายทั้งหัวใจ สมอง และอวัยวะอื่นๆ
และเมื่อหายใจเอาฝุ่นขนาดเล็กริมถนนเข้าไปปริมาณมากจึงมีโอกาสที่เป็นโรคมะเร็งปอด, โรคระบบทางเดินหายใจ, โรคหลอดเลือดในสมอง (Stoke), ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure), ภาวะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เป็นต้น
ประชาชนจึงต้องระวังสุขภาพเมื่อเดินหรืออยู่บนถนนที่มีการระบายอากาศไม่ดีโดยเฉพาะถนนที่มีอาคารสูงล้อมสองข้างและมีการจราจรติดขัด ถนนใต้สถานีรถไฟลอยฟ้า ถนนที่มีการก่อสร้างต่างๆ เป็นต้น ต้องพกหน้ากากกันฝุ่น Model N-95 ปิดปากและจมูกเพราะสามารถป้องกันฝุ่นขนาดเล็กได้ถึงร้อยละ 95 ขึ้นไป
ที่มา: Sonthi Kotchawat
ข่าวแนะนำ