ครบรอบ 20 ปี "คลื่นยักษ์สึนามิ" อินโดนีเซียเร่งทำระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า
"อินโดนีเซีย" เร่งจัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้าแจ้งเตือนการเกิด “คลื่นสึนามิ” ในโอกาสครบ 20 ปี สึนามิถล่มหลายประเทศในมหาสมุทรอินเดีย
อินโดนีเซียกำลังดำเนินการจัดทำ “ระบบเตือนภัยสึนามิ” ล่วงหน้านอกชายฝั่งด้วยการใช้ GPS เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล โดยสำนักงานบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (BNPB) ของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ เปิดเผยว่า ระบบไดนามิกใหม่นี้สามารถใช้งานจริงได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งการดำเนินการดังล่าว มีขึ้นเนื่องในโอกาสที่อินโดนีเซียครบรอบ 20 ปี นับตั้งแต่ประสบภัยธรรมชาติที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ คือแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 9.1 แมกนิจูดในมหาสมุทรอินเดียเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 ซึ่งทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิถล่มชายฝั่งในประเทศต่าง ๆ มากกว่า 10 ประเทศ มีผู้เสียชีวิตรวมกันมากกว่า 230,000 ราย
ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า นับตั้งแต่นั้นมา มีการปรับปรุงระบบเตือนภัยล่วงหน้า และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการบรรเทาภัยพิบัติมากขึ้น
“เตอูกู ฮิฟิด ฮูดูดิลลาห์” ซึ่งได้รับความบอบช้ำทางจิตใจจากภัยพิบัติครั้งนั้น ใช้ชีวิตในช่วงวัยผู้ใหญ่ของเขาเพื่อให้แน่ใจว่า หากเกิดภัยพิบัติขึ้นอีกครั้ง จังหวัดอาเจะห์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินโดนีเซีย บ้านเกิดของเขาจะพร้อมรับมือได้
ทั้งนี้ ฮูดูดิลลาห์ เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่สูญเสียญาติหลายคนในช่วงที่เกิดสึนามิถล่ม 26 ธันวาคม 2547 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 126,000 รายในจังหวัดอาเจะห์ เนื่องจากไม่มีเสียงเตือนภัย จึงทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงที่สุดจากจำนวนทั้งสิ้นกว่า 230,000 ราย
ปัจจุบัน ฮูดูดิลลาห์ วัย 28 ปี เป็นผู้สังเกตการณ์แผ่นดินไหวให้กับหน่วยงานธรณีฟิสิกส์ของอินโดนีเซีย และเป็นส่วนหนึ่งของทีมเฉพาะกิจที่ได้รับมอบหมายให้ปรับปรุงระบบตรวจจับแผ่นดินไหวและเตือนภัยสึนามิของจังหวัดอาเจะห์ ซึ่งรวมถึงระบบไซเรนที่ดังพอที่จะได้ยินได้ในระยะทางห่างไกลออกไป 100 กิโลเมตร
ฮูดูดิลลาห์ กล่าวที่หอเตือนภัยแห่งหนึ่งในบันดา อาเจะห์ เมืองเอกของจังหวัดอาเจะห์ ว่า “เราคิดว่าอาเจะห์จะพร้อมอพยพหากเกิดคลื่นสึนามิ” พร้อมเสริมว่า เขารู้สึกขอบคุณสำหรับความพยายามนี้ ขณะเดียวกันก็หวังว่าจะไม่มีภัยพิบัติเกิดขึ้นอีก
ระบบดังกล่าว จะส่งข้อความทางโทรศัพท์และวิทยุอย่างรวดเร็วเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงมากกว่า 5 แมกนิจูด ขณะที่เสียงไซเรนจะส่งสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดคลื่นสึนามิ
ขณะเดียวกัน ประชาชนในอาเจะห์กล่าวว่า ขณะนี้พวกเขาได้รับการฝึกอบรมเป็นประจำในการตอบสนองต่อแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ หรือคลื่นสึนามิ
อย่างไรก็ตาม ไซนุดดิน วัย 54 ปี ซึ่งใช้ชื่อเดียวเหมือนกับชาวอินโดนีเซียหลาย ๆ คน เรียกร้องให้รัฐบาลเข้มงวดมาตรการการวางผังเมืองมากขึ้น โดยเขาบอกว่า “ถนนของเราไม่กว้างพอ โดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน และจะสัญจรได้ยากหากเกิดสึนามิ”
อินโดนีเซีย ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่แผ่นดินไหวที่เรียกว่า วงแหวนแห่งไฟแปซิฟิก เป็นหนึ่งในประเทศที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติสูงที่สุดในโลก แต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์บ่อยครั้งว่า ไม่ได้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในการบรรเทาภัยพิบัติเพียงพอ
ข่าวแนะนำ