"กบยักษ์แห่งชิลี" ใกล้สูญพันธุ์ จากวิกฤตสภาพอากาศ
"กบยักษ์แห่งชิลี" กบที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นกบที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา อาจสูญพันธุ์ในเร็ว ๆ นี้ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในภูมิภาคตอนกลางของชิลี มีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่กำลังเผชิญภัยคุกคามจากการสูญเสียถิ่นอาศัย นั่นคือ "กบยักษ์แห่งชิลี" ซึ่งสามารถเติบโตได้ยาวถึง 30 เซนติเมตร น้ำหนักสูงสุดถึง 1 กิโลกรัม และได้รับการขนานนามว่าเป็นกบที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา นักวิจัยกำลังพยายามหาวิธีป้องกันไม่ให้สัตว์โบราณชนิดนี้ต้องสูญพันธุ์
ภาพ: "กบยักษ์แห่งชิลี"
กบสายพันธุ์นี้มีสายวิวัฒนาการที่ยาวนานกว่า 77 ล้านปี และเคยรอดพ้นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในยุคไดโนเสาร์ นักวิทยาศาสตร์นามว่า Paz Loreto Acuna ชี้ถึงความสำคัญของกบชนิดนี้ในเชิงนิเวศและเศรษฐกิจ พร้อมเรียกมันว่า "ฟอสซิลมีชีวิต" ปัจจุบัน กบชนิดนี้กระจายพันธุ์จากทางตอนเหนือในเขต Coquimbo จนถึงเกาะ Chiloé ทางตอนใต้ของชิลี
อย่างไรก็ตาม ถิ่นอาศัยของมันบางแห่งอยู่ในแม่น้ำที่ไหลผ่านพื้นที่เมืองหนาแน่น ซึ่งถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะ ส่งผลให้สภาพแวดล้อมของกบเหล่านี้ย่ำแย่ลงอย่างมาก ปัจจัยต่าง ๆ อย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกระจายตัวของถิ่นอาศัย และมลพิษ กลายเป็นภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
สัตวแพทย์ Melissa Cancino เตือนว่าหากไม่มีมาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วน กบยักษ์นี้อาจสูญพันธุ์ไปในอนาคต นักวิจัยและองค์กรสิ่งแวดล้อมจึงกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อปกป้องสัตว์ชนิดนี้ ซึ่งเป็นมรดกทางธรรมชาติที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในอดีต
ที่มา: Reuters
ข่าวแนะนำ