วิจารณ์ "ฟุตบอลโลก 2030" จัดขึ้น 6 ประเทศ 3 ทวีป คาดทำร้ายสิ่งแวดล้อมหนัก
นักสิ่งแวดล้อมโจมตี "ฟีฟ่า" ว่ากำลังทำร้ายสิ่งแวดล้อมอย่างมาก จากแผนการจัดฟุตบอลโลก 2030 ที่จะมีขึ้นใน 6 ประเทศ 3 ทวีป
สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตัดสินใจจัดศึกฟุตบอลโลกปี 2030 ใน 6 ประเทศ 3 ทวีป ว่าเป็นการจัดทัวร์นาเมนต์ที่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อนขึ้น
โมร็อกโก, สเปน และโปรตุเกส จะเป็นเจ้าภาพร่วมในปี 2030 ขณะที่ อุรุกวัย, อาร์เจนตินา และ ปารากวัย ต่างจะเป็นเจ้าภาพชาติละ 1 นัด ซึ่งเป็นการฉลองครบรอบ 100 ปีของฟุตบอลโลกที่จัดครั้งแรกเมื่อปี 1930 ที่อุรุกวัย
“กิยอเม กูเซ” จากศูนย์กฎหมายและเศรษฐศาสตร์การกีฬาของมหาวิทยาลัยลิโมเกส กล่าวว่า ฟีฟ่าต้องมีความรับผิดชอบในความกังวลเรื่องสภาพภูมิอากาศ เพราะเป็นฟุตบอลโลกที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางระบบนิเวศ
“เบนยา แฟคส์” เจ้าหน้าที่เอ็นจีโอ คาร์บอน มาร์เก็ต วอช ชี้ว่าผลเสียเกิดกับสภาพแวดล้อมเพราะการแข่งขันห่างกันหลายพันกิโลเมตรจะทำให้มีการเดินทางโดยเครื่องบินมากขึ้นกว่าปกติ การเผาผลาญเชื้อเพลิงจำนวนมากไม่เป็นผลดีต่อสภาพอากาศ เช่นเดียวกับ “เดวิด โกกิชวิลี” นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโลซานในสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า เป็นความคิดที่บ้ามากในแง่ของการสร้างผลกระทบที่มีต่อโลก ความต้องการใช้ทรัพยากรจะมากขึ้นและมีขยะทิ้งเสียเปล่ามากขึ้นมหาศาล
นักสิ่งแวดล้อมมีการยกตัวอย่างฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ซึ่งสร้างสนามกีฬาติดแอร์ แต่แทบไม่ได้นำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมแนะนำฟีฟ่าไม่ควรให้สิทธิกับเมืองที่ต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่เพื่อจัดฟุตบอลโลกเนื่องจากเป็นการสิ้นเปลือง หรือควรให้ตั๋วเฉพาะแฟนบอลที่เดินทางมาได้จากระยะไม่กี่ร้อยกม.และสนับสนุนการเดินทางโดยรถไฟ
ภาพ: ENVATO
ข่าวแนะนำ