COP29 ปิดดีลช่วยโลกร้อน ชาติร่ำรวยจ่าย 3 แสนล้านดอลลาร์/ปี ชาติยากจนโวย "ยังน้อยเกินไป"
COP29 หลังจากที่ประชุมสามารถบรรลุข้กตกลงเกี่ยวกับร่างแผนการเงินที่ประเทศร่ำรวยเสนอให้เงิน 300,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ช่วยประเทศกำลังพัฒนารับผลกระทบปัญหาโลกร้อน
หลังจากผ่านการเจรจาหารือและต่อรองกันมานานหลายวัน ในที่สุด การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ คอป29 ที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ก็สามารถหาข้อสรุปลงตัวได้ในที่สุดเมื่อวานนี้ (24 พ.ย.) แม้จะต้องล่วงเลยจากกำหนดการปิดการประชุมตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมานานถึง 2 วัน
โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์ (22 พ.ย.) ร่างข้อตกลงทางการเงินประชุม COP29 ดังกล่าว ประเทศร่ำรวยได้เสนอให้เงินทุน 250,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 8.6 ล้านล้านบาท) ช่วยประเทศกำลังพัฒนารับผลกระทบปัญหาโลกร้อน แต่ประเทศกำลังพัฒนาไม่พอใจ ระบุว่า เงิน 250,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีที่ประเทศร่ำรวยเสนอมานั้น “น้อยเกินไป” ทำให้ต้องมีการเจรจาต่อรองยืดเยื้อ
ก่อนที่ทุกฝ่ายจะได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ประเทศร่ำรวยตกลงเพิ่มเงินทุนเป็น 300,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ราว 10.34 ล้านล้านบาท) ต่อปี ช่วยประเทศกำลังพัฒนารับผลกระทบปัญหาโลกร้อน ภายในปี 2035 ซึ่งจะนำมาใช้ทดแทนข้อตกลงเดิมที่ประเทศร่ำรวยจะอุดหนุนงบประมาณปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.45 ล้านล้านบาท) ให้กับประเทศยากจนแก้ไขปัญหานี้ในปี 2020 แต่ก็ดำเนินการล่าช้าไป 2 ปีกว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ก็ต้องรอถึงปี 2022 ที่ผ่านมา และข้อตกลงปัจจุบันจะหมดอายุลงไปในปีนี้
สำหรับประเทศที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็นผู้นำในด้านการให้เงินทุนสนับสนุนตามเป้าหมายดังกล่าว มี สหรัฐฯ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร นอรเวย์ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น รวมถึงยังเชิญประเทศกำลังพัฒนาเข้าร่วมให้เงินทุนตามเป้าหมายนี้โดยสมัครใจด้วย เช่น จีน บราซิล
ขณะเดียวกัน ประเทศต่างๆ ในที่ประชุมยังเห็นชอบในอีกประเด็น ในการวางกฎระเบียบโลกสำหรับการซื้อขาย “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งผู้ที่สนับสนุนในเรื่องนี้มองว่า จะช่วยสมทบงบประมาณเพิ่มให้กับกองทุนในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ ตั้งแต่การปลูกป่าทดแทนป่าเดิมที่เสื่อมสภาพ ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาดต่างๆ
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายก็ยังมองว่า ข้อตกลงสนับสนุนเงิน 300,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ช่วยประเทศกำลังพัฒนารับผลกระทบปัญหาโลกร้อนของชาติร่ำรวยนั้นน้อยเกินไป จากข้อเสนอเดิมไปตอนแรกที่ต้องการให้ชาติร่ำรวยร่วมอุดหนุนเม็ดเงิน 1,300 ล้านดอลลาร์ต่อปี (กว่า 44.2 ล้านล้านบาท) ช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อน โดยกลุ่มผู้เจรจาจากแอฟริกา บอกว่าข้อตกลงนี้มาช้าเกินไป และถือว่าน้อยเกินไป ขณะที่ตัวแทนเจรจาจากอินเดียบอกว่า เงิน 300,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีเป็นเหมือนเศษเงินที่จะใช้แก้ไขปัญหาโลกร้อน และแทบจะไม่ช่วยอะไรเลย
ด้าน “อันโตนิโอ กูแตร์เรส” เลขาธิการสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน เช่นเดียวกับ “อันนาเลนา แลมบ็อก” รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ยอมรับว่ายังมีสิ่งต้องทำอีกมากเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนให้ลุล่วงได้ ขณะที่ “เอ็ด มิลลิแบนด์” รัฐมนตรีพลังงานของอังกฤษ บอกว่าหลายอย่างอาจไม่เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายต้องการ แต่อย่างน้อย ที่ประชุมนี้ก็ยังสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ ถือเป็นความคืบหน้าที่น่าพอใจแล้ว
ข่าวแนะนำ